เคาะแผนพัฒนาฉบับ13 เร่งแก้จน6แสนครัวเรือน

ครม.ไฟเขียวแผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 ตั้งเป้าหลัก 5 ข้อ ดันรายได้ต่อหัว 3 แสนบาท ฉุดพ้นประเทศรายได้ปานกลาง "บิ๊กตู่" สั่งทุกหน่วยเร่งแก้ปัญหาความยากจน ประเดิม 6 แสนครัวเรือนตามข้อมูลกระทรวงมหาดไทยก่อน "มท.1" ไล่บี้กระทรวงเกี่ยวข้องปฏิบัติตามแผน

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 3  พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ.2566-2570 เพื่อทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเรามีการออกแบบแผนนี้มาจากฐานคิด 4 ประการ 1.เศรษฐกิจพอเพียง 2.ความสามารถในการที่จะล้มแล้วลุกให้ไว เดินไปข้างหน้าให้ได้ 3.เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ และ 4.การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว 

ส่วนเป้าหมายหลักของแผนฯ ฉบับที่ 13 มีหลัก 5 ประการ 1.การปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม 2.การพัฒนาคนสู่โลกยุคใหม่ 3.การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม 4.การเปลี่ยนผ่านการผลิตและการบริโภคไปสู่ความยั่งยืน และ 5.การเสริมสร้างความสามารถของไทยในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้โรคอุบัติใหม่

"นี่คือแนวทางในการบริหารประเทศต้องเป็นแบบนี้ เพราะทุกคนเกี่ยวพันกันไปหมด เราต้องหาปัญหาให้เจอ และหาวิธีการ วางแผนงาน การใช้จ่าย งบประมาณต่างๆ ให้พอเพียงไปด้วย เราก็ตั้งเป้าว่าจะทำยังไงจากแผนฉบับนี้ ทำให้รายได้ประชาชาติต่อหัวอยู่ที่ 3 แสนบาท ต้องพยายามอย่างยิ่งยวด แต่ขีดความสามารถของคนทั้ง 8 ด้าน อยู่ในระดับสูง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ในระดับที่สูง" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

ทั้งหมดมี 13 หมุดหมายในการพัฒนา 4 มิติ 1.การบริการโอกาสและความสามารถ 2.ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม 3.ความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 4.การผลักดันและพลิกโฉมประเทศ ตนสั่งการให้รัฐมนตรี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำหมุดหมายของแผนฉบับที่ 13 ไปพิจารณา แบ่งเป็นแผนปฏิบัติการในระดับต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ พลิกโฉมเป็นประเทศที่มีการพัฒนาสูงขึ้น ยกระดับจากประเทศรายได้ปานกลาง ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แต่ไม่ใช่เรื่องที่เราทำไม่ได้ ถ้าทุกคนร่วมมือกันโดยลดความขัดแย้งระหว่างกันให้มากที่สุด 

นายกฯ เปิดเผยด้วยว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.ยังได้มีการชี้แจงความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) ในการหาข้อมูลว่าจะมีการพุ่งเป้าไปสู่รายครัวเรือนได้อย่างไร ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มีการรวบรวมข้อมูลมาแล้ว จำนวนกว่า 6 แสนครอบครัว ที่จะต้องเข้าไปดูแลเป็นพิเศษก่อน ในเรื่องของความยากจน 5 มิติ ประกอบด้วย รายได้ ที่อยู่อาศัยการศึกษา การเข้าถึงบริการประชาชน และเรื่องของสุขภาพ ก็ต้องมาดูว่าจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตรงนี้ได้อย่างไร และมอบหมายให้แต่ละกระทรวงที่มีหน้าที่โดยตรงไปดูว่าจะปรับแก้แผนงานโครงการต่างๆ ได้หรือไม่ในการเข้าไปดูแลให้มากยิ่งขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2565 ให้ได้ตามนโยบายในการบริหารแบบพุ่งเป้าแก้ปัญหาความยากจนรายครัวเรือนตาม Agri-Map หรือ ระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกที่มีอยู่ รวมทั้งการส่งคนลงไปเดินเช็กว่าทำได้จริงหรือไม่ ยังมีการขาดแคลนตรงไหน และใครจะมีส่วนที่จะเข้าไปแก้ไข

มีรายงานข่าวในที่ประชุม ครม.​ว่า กระทรวงมหาดไทยได้รายงานเรื่องการขจัดความยากจน​ โดย พล.อ.อนุพงษ์​ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้รายงานว่า​ กระทรวงมหาดไทยได้ลงไปทำแผนความต้องการของประชาชนให้แล้ว อยากให้ทุกหน่วยงานได้ปฏิบัติตามแผน อาทิ​ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย กระทรวงสาธารณสุขที่ดูเรื่องสุขภาพ ขอให้ไปดำเนินการต่อเพื่อให้โครงการนี้เสร็จ รวดเร็ว และมีผลงานเป็นรูปธรรมออกมา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้ย้ำว่า ขอให้ทำให้ต่อเนื่อง เพราะเป็นนโยบายที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ ต้องทำให้สำเร็จ

ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13  ซึ่งจะนำมาใช้ในปี 2566-2570 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ และมอบหมายให้ สศช.นำเสนอร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ต่อรัฐสภาเพื่อทราบ ก่อนกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ  ถวายต่อไป

สำหรับร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เป็นแผนระดับที่ 2 ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการแปลงยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติและกำหนดทิศทางการพัฒนาที่ประเทศควรมุ่งเน้นในระยะ 5 ปีถัดไปคือปี 2566-2570 เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามเจตนารมณ์ของยุทธศาสตร์ชาติ

โดยมีทั้งหมด 13 หมุดหมาย จำแนกออกเป็น 4 มิติ ได้แก่ 1.มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย จำนวน 6 หมุดหมาย ได้แก่ ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง, ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน, ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก,ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง, ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค และไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน

2.มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม มี 3 หมุดหมาย ได้แก่ ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูงและสามารถแข่งขันได้, ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน และไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม 3.มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มี 2 หมุดหมาย ได้แก่ ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ และไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 4.มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ มี 2 หมุดหมาย ได้แก่ ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง  มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง