สัญญาณดีติดเชื้อโควิดตํ่าหมื่น

ไทยสัญญาณดี! ติดเชื้อต่ำหมื่น เสียชีวิตลดลงไม่ถึงร้อย ขณะที่ "บิ๊กตู่" พอใจ ย้ำยังต้องตั้งการ์ดสูง  ด้าน "อนุทิน" การันตีเปิดประเทศฉลุย ปลื้มผ่านวิกฤตสงกรานต์ได้ด้วยดี ขีดกรอบ 3 พอ ปลดล็อกมาตรการผ่อนคลายทั้งประเทศ อธิบดีกรมการแพทย์เผย รพ.เตรียมยุบวอร์ดโควิด เล็งภายใน 2 สัปดาห์ปรับเข้าสู่การรักษาโรคตามปกติ ขณะที่ สธ.โต้ "หมอธีระ" แจงยิบปมเปิดตัวเลขดับสู่สาธารณะ

เมื่อวันจันทร์ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ  ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า  พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,331 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 9,241 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 9,228 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 13 ราย  มาจากเรือนจำ 32 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ  58 ราย

หายป่วยเพิ่มขึ้น 21,168 ราย อยู่ระหว่างรักษา  129,068 ราย อาการหนัก 1,751 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 824 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 84 ราย เป็นชาย  46 ราย หญิง 38 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 66 ราย มีโรคเรื้อรัง 11 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,271,815 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน  4,114,046 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563  จำนวน 28,701 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 513,580,931 ราย เสียชีวิตสะสม  6,261,598 ราย

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พอใจที่เริ่มจะเห็นสัญญาณที่ดีในการควบคุมการชะลอตัวการแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทย และการติดเชื้อจะเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องได้หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์จนถึงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ย้ำทุกฝ่ายรวมทั้งประชาชนต้องไม่ประมาท ตั้งการ์ดสูง ป้องกันตนเองสูงสุดอย่างเคร่งครัด  เพื่อให้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงอีกจนกว่าเราจะสามารถใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 ได้

วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าสถานการณ์โควิด-19 ภายหลังการเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า สถานการณ์ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี รับทราบจาก นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ว่าขณะนี้มีผู้ลงทะเบียน  Thailand Pass และทยอยเข้ามาในประเทศมากทีเดียว เมื่อเข้าประเทศแล้วก็สามารถเดินทางออกได้เลย ไม่มีการติดขัดใดๆ ที่สนามบิน และขอให้ผู้ที่เดินทางเข้ามา ทำการตรวจ ATK และแจ้งเข้ามาในคิวอาร์โค้ดที่มีใน  Thailand Pass ซึ่งผ่านมา 2 วันก็ยังโอเคอยู่ วันนี้จะเห็นว่ามีการพยายามควบคุมเรื่องการติดเชื้อ ซึ่งเราน่าจะผ่านวิกฤตการณ์ที่คิดว่าจะเกิดในช่วงสงกรานต์ไปได้ด้วยดี ไม่ได้มีอะไรมากขึ้นจนเราควบคุมไม่ได้

"อัตราการเสียชีวิตก็เริ่มมีแนวโน้มลดลง ดูได้จากเครื่องมือฉุกเฉินใน รพ. การใช้ช่วยเครื่องหายใจ ห้องไอซียูก็ลดลง อัตราการใช้ยาต้านไวรัสในแต่ละวันก็เริ่มลดลง ก็หวังว่าจะเป็นแนวโน้มในทางที่ดี" นายอนุทินกล่าว เมื่อถามว่า สถานการณ์โควิดที่ลดลงจะมีการประเมินสถานการณ์เพื่อผ่อนคลายในระยะต่อไปอย่างไร นายอนุทินกล่าวว่า เราต้องเตรียมทุกอย่างด้วยความพร้อม  หรือ 3 พอ คือ หมอพอ เตียงพอ และยาพอ ซึ่งวันนี้ได้พบทั้งหมอ ทั้งผู้ผลิตยาคือองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และผู้นำเข้ายาต่างๆ ยังยืนยันว่าทรัพยากรพวกนี้ยังเพียงพอ  ทั้งนี้เรายังไม่ได้ประกาศว่าวันไหน เวลาไหน ประเทศไทยจะประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น แต่เราใช้การดำเนินชีวิตให้ไปถึงจุดที่เรามั่นใจ

เมื่อซักว่า กลุ่มร้านขายแอลกอฮอล์ ผับ บาร์ คาราโอเกะ จะมีแนวโน้มผ่อนคลายให้เปิดเมื่อไร นายอนุทินกล่าวว่า ทุกอย่างจะเดินหน้าผ่อนคลายมากขึ้นเรื่อยๆ หากทุกคนให้ความร่วมมือ

ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  ยอมรับว่า ขณะนี้สถานการณ์เริ่มทรงตัว ผู้ป่วยรักษาที่บ้านมากขึ้น ทำให้หลายสถานพยาบาลทยอยยุบวอร์ดรักษาโควิด- 19 ลง และกลับมารักษาผู้ป่วยโรคอื่นและทำการรักษาผ่าตัดมากยิ่งขึ้น เช่นที่โรงพยาบาลเลิดสิน ได้รับรายงานว่าผู้ป่วยโควิดน้อยลง โรงพยาบาลสนามที่เตรียมเตียงรักษาผู้ป่วยสีเหลืองสีแดงไว้ 200 เตียง  เหลือรักษาผู้ป่วยเพียง 30-40 คน

 “คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ จะมีการปรับการรักษาเข้าสู่ระบบปกติ แต่ทั้งหมดจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ไม่มีการระบาดโควิดที่รุนแรง หรือพบเชื้อกลายพันธุ์ปะทุขึ้นมาอีก เช่นเดียวกับสถานพยาบาลอื่นคงมีการปรับลดการดูแลผู้ป่วยโควิดในโรงพยาบาลลง แต่ว่ายังมีการติดตามสถานการณ์โควิดอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตอนนี้ในบางประเทศเริ่มพบเชื้อโควิดสายพันธุ์ย่อยระบาด” นพ.สมศักดิ์ระบุ

ส่วนการเปิดภาคเรียนหลายฝ่ายกังวลจะพบเด็กติดเชื้อมากขึ้น อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า สิ่งที่จะป้องกันการติดเชื้อได้คือวัคซีน ในเด็กอายุ 5 ขวบขึ้นไปสามารถฉีดได้ ขอให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปรับวัคซีนตามนัด  เนื่องจากมีข้อมูลว่าเด็กฉีดเข็ม 2 น้อยมาก ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบเป็นกลุ่มที่น่าห่วง เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรค แม้เด็กสุขภาพดี แต่ก็มีความเสี่ยงในการติดเชื้อและอาการรุนแรงได้

อย่างไรก็ตาม จากกรณี นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กกรณีกระทรวงสาธารณสุขปรับรายงานการเสียชีวิตโควิด โดยเสนอให้มีการเผยแพร่ข้อมูลอัตราการเสียชีวิตทั้งจากโควิด และจากผู้มีโรคร่วมและติดเชื้อโควิด 

ล่าสุด นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีความจำเป็นในการรายงานข้อมูลผู้เสียชีวิตจากโควิดอย่างเดียว เนื่องจากกรณีการแยกกลุ่มเสียชีวิตจากโรคร่วมแต่ติดเชื้อโควิด และกรณีคนติดเชื้อโควิด มีปอดอักเสบและเสียชีวิต การรักษาจะแตกต่างกันพอสมควร การแบ่งแยกกลุ่มจะทำให้มีผลต่อการวางแผนการรักษาพยาบาลในอนาคตได้ ซึ่งตรงนี้จะมีผลต่อการวางแนวทางลดอัตราการเสียชีวิตทั้งสองกลุ่มได้  เช่นกลุ่มโรคร่วมเข้ามารักษาแต่ตรวจเจอโควิด มีอาการของโรคร่วมก็ดูแลแบบหนึ่ง เน้นโรคร่วมเป็นหลัก ถ้าโฟกัสรักษาอาการโควิดที่ยังไม่หนักก่อน อาจทำให้โรคร่วมหนักเร็วขึ้น

"การแยกการรายงานสองอย่างออกมาทำให้สามารถทราบข้อมูลชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยโรคร่วมที่เป็นโรคเรื้อรังได้รับการรักษาทันท่วงที หากติดโควิดและมุ่งการรักษาโควิด  ทำให้อาจพลาดโอกาสการวินิจฉัยโรคร่วมอื่นๆ และทำให้พลาดการรักษาอย่างทันท่วงทีได้ จึงต้องปรับเปลี่ยนระบบ  เนื่องจากในอนาคตโควิดจะเป็นโรคประจำถิ่น" นพ.จักรรัฐกล่าว

เมื่อถามว่า โควิดไปกระตุ้นโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรังหรือไม่ นพ.จักรรัฐกล่าวอีกว่า เรื่องนี้บอกไม่ได้ว่าใช่หรือไม่ จึงจำเป็นต้องศึกษาร่วมกันกับหลายๆ ผู้เชี่ยวชาญ  เนื่องจากไม่เคยมีการชันสูตรศพที่ตายจากโควิด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง