ยัน‘วรวิทย์’อยู่ต่อ นั่งปธ.ศาลรธน. ไร้เหตุต้องห้าม

ศาลรัฐธรรมนูญออกเอกสารแจงคำวินิจฉัย​ คกก.สรรหามีมติเอกฉันท์ให้​ "วรวิทย์" ​ที่มีอายุ 70 ปี นั่งประธานศาล รธน.ต่อ-ไม่มีลักษณะต้องห้าม ยันยื่นตีความสถานะเพื่อมีข้อยุติในข้อกฎหมาย ป้องกันคู่ความโต้แย้ง  สะท้อนความเป็นอิสระตุลาการ

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าว กรณีสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือที่ ศร 0018.2/351 ลงวันที่ 16 มี.ค. 2565 ไปยังสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อขอความอนุเคราะห์ดำเนินการต่อประธานกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งของประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม​ ที่มีอายุ​ครบ​ 70 ปี​ เป็นผู้มีคุณสมบัติ​ต้องห้าม​ อันเป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งหรือไม่นั้น

บัดนี้ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา แจ้งคำวินิจฉัยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมายังสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแล้ว สรุปได้ว่า นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2557 จึงเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช  2550 และดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ใช้บังคับ

ต่อมาเมื่อวุฒิสภาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้สมควรดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 4 คน  ประกอบด้วย นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม, นายวิรุฬห์ แสงเทียน, นายจิรนิติ หะวานนท์ และนายนภดล เทพพิทักษ์  บุคคลทั้งสี่และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ยังดำรงตำแหน่งไม่ครบวาระ จำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายวรวิทย์ กังศศิเทียม, นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และนายปัญญา อุดชาชน ได้เลือกกันเองให้นายวรวิทย์ กังศศิเทียม เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ และได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2563

จึงถือได้ว่านายวรวิทย์ กังศศิเทียม ได้ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในมาตรา 81 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ส่วนบทบัญญัติมาตรา 208  วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติว่า "ประธานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งลาออกจากตำแหน่งให้พ้นจากตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย" นั้น เป็นบทบัญญัติที่มีความมุ่งหมายให้ตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นตำแหน่งที่ต้องได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นการเฉพาะและเพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการสลับตำแหน่งระหว่างประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดังที่ปรากฏในเอกสารบันทึกความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หน้า 358

นายวรวิทย์ กังศศิเทียม จึงยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้จนกว่าจะครบวาระตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และมาตรา  273 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ประกอบกับมาตรา 79 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561

เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ได้บัญญัติรับรองสถานะการดำรงตำแหน่งของนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ไว้อย่างชัดเจนแล้วในบทเฉพาะกาล

ดังนั้น คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า นายวรวิทย์ กังศศิเทียม มิได้เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 202 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 208 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่ประการใด

"สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ขอเรียนว่า การเสนอต่อคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งของประธานศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นการดำเนินการเพื่อให้มีข้อยุติในกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดี และผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ป้องกันปัญหาที่อาจมีคู่กรณี หรือบุคคลภายนอกโต้แย้งความสมบูรณ์ของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในภายหลังได้ รวมทั้งแสดงถึงความเป็นอิสระของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ" เอกสารสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญระบุ. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สยบศึก‘กัญชา’ถอยออกพรบ.

ยุติความขัดแย้งพรรคร่วม  “เศรษฐา” เรียก “อนุทิน-สมศักดิ์” เคลียร์ปมกัญชา ก่อนทุบโต๊ะออกเป็น พ.ร.บ.

สมยี่ห้อ‘สภาน้ำเงิน’ ‘มงคล’ปธ.‘บิ๊กเกรียง-บุญส่ง’นั่งรอง/พันธุ์ใหม่โวยไม่อิสระ

โผไม่พลิก! สว.สีน้ำเงินกวาดเก้าอี้สภาสูง "มงคล" โชว์วิสัยทัศน์ใช้ประสบการณ์-ความรู้เชื่อม สว.เป็นเนื้อเดียวกัน