แจงเก็บภาษี‘คนละครึ่ง’ รายได้ถึงเกณฑ์ตามกม.

“คลัง” แจงละเอียดยิบหลังดรามาปะทุ "ร้านค้าคนละครึ่ง" ถูกเก็บภาษีย้อนหลัง ยันผู้ประกอบการทั้งที่เข้าและไม่เข้าร่วมโครงการรัฐ หากมีเงินได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด 1.8 ล้านบาทต้องยื่นเสียภาษี ด้าน  “สรรพากร” ระบุ ไม่ได้มุ่งเน้นจัดเก็บภาษีจากพ่อค้าแม่ค้า

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงประเด็นข้อวิจารณ์ร้านค้าโครงการคนละครึ่งถูกเก็บภาษีย้อนหลังว่า รัฐบาลดำเนินโครงการคนละครึ่งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน และส่งผ่านกำลังซื้อไปสู่ผู้ประกอบการให้มีรายได้เพิ่ม เมื่อผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้วและอยู่ในเกณฑ์เสียภาษีตามกฎหมายก็สามารถไปชำระภาษีได้ โดยฐานข้อมูลโครงการคนละครึ่งไม่ได้มีการเชื่อมต่อระบบกับกรมสรรพากรเพื่อตรวจสอบรายได้แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา ไม่ว่าจะประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการของรัฐหรือไม่ หากผู้ประกอบการมีเงินได้พึงประเมินถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ก็มีหน้าที่ต้องนำเงินได้พึงประเมินมายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นการประเมินตนเองของผู้ประกอบการ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำเอกสารหลักฐานต้นทุนในการประกอบกิจการมาหักค่าใช้จ่ายจากยอดขายเพื่อคำนวณภาษีเงินได้ที่จะต้องชำระ หรือหากไม่มีการเก็บเอกสารหลักฐานต้นทุนก็สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาตามที่กฎหมายกำหนดได้ ซึ่งภาระภาษีของผู้ประกอบการขึ้นอยู่กับรายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายตามจริง หรือในอัตราเหมาตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งค่าลดหย่อนต่างๆ

โดยหากรายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนดังกล่าวไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด  ผู้ประกอบการจะไม่มีภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จะต้องชำระแต่อย่างใด และสำหรับผู้ประกอบการที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร และเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ รวมทั้งนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากรตามที่กฎหมายกำหนดไว้อีกประการหนึ่งด้วย

 “กรมสรรพากรได้พัฒนากระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการจดทะเบียน ยื่นแบบภาษี ชำระภาษี และคืนภาษี ทุกขั้นตอนผ่านระบบ Tax from Home ซึ่งเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ ผ่านทางเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th” นายพรชัยกล่าว

ด้านนางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรไม่ได้มุ่งเน้นจัดเก็บภาษีพ่อค้าแม่ค้าที่เข้าร่วมโครงการรัฐโครงการใดโครงการหนึ่งแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี พ่อค้าแม่ค้าที่เป็นบุคคลธรรมดาเมื่อมีเงินได้จากการค้าขาย ซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่ได้รับการยกเว้น หากมีเงินได้ถึงเกณฑ์การยื่นแบบแสดงรายการตามกฎหมายกำหนด ก็มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ

 “ผู้ที่มีเงินได้ถึงเกณฑ์ต้องยื่นแบบแสดงรายการ จึงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ ส่วนจะมีภาษีที่ต้องชำระหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับรายได้ ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน สำหรับการหักค่าใช้จ่าย กฎหมายให้สิทธิ์ในการเลือกว่าจะขอหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาจ่ายในอัตรา 60% หรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริงก็ได้ โดยหลักสำคัญของการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น หากบุคคลธรรมดามีเงินได้จากการค้าขายถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 มีหน้าที่ต้องนำรายได้ที่ได้รับในปีภาษีมายื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นปกติอยู่แล้ว” นางสมหมายกล่าว

อย่างไรก็ดี โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ได้สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 30 เม.ย.65 โดยมีผู้ใช้สิทธิ์ 26.27 ล้านราย และยอดการใช้จ่ายรวม 61,835.1 ล้านบาท และมีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4  จำนวน 1.36 ล้านราย โดยเป็นผู้ประกอบการรายใหม่  2.98 หมื่นราย แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของประชาชนและผู้ประกอบการที่มีส่วนช่วยส่งเสริมการบริโภคในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การผลิต และการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน และส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 และ 2 ให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง