30 ปีพฤษภาทมิฬ นักการเมืองรุ่นใหม่อยากให้ชำระประวัติศาสตร์ พร้อมบี้รัฐเร่งเยียวยา ไม่อยากเห็นรัฐประหารเกิดขึ้นอีก “อภิสิทธิ์” แนะปิดสวิตช์ ส.ว.เป็นก้าวแรกสานการต่อสู้พฤษภา 35
เมื่อวันอาทิตย์ ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และคณะกรรมการจัดงาน 30 ปีพฤษภาประชาธรรม จัดเวทีอภิปรายเรื่อง "นักการเมืองรุ่นใหม่ ร่วมมองบทเรียน 30 ปีพฤษภาทมิฬ 2535" โดยมี น.ส.ศิริภา อินทวิเชียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.), น.ส.ชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.), นายปกรณ์ อารีกุล ผู้แทนพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และ น.ส.ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ร่วมอภิปราย ดำเนินรายการโดยนายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป.
น.ส.ศิริภากล่าวว่า บทเรียนพฤษภา 35 คนรุ่นใหม่อาจเกิดไม่ทัน เพราะอายุเพียง 2 ขวบในช่วงนั้น แต่ก็ต้องชำระประวัติศาสตร์แก้ไขเหตุการณ์ในอดีตด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเยียวยาผู้เสียหาย ผู้เสียชีวิต หรือถูกอุ้มหายในอดีตด้วย รัฐบาลต้องเข้าไปเยียวยาและดูแลครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบให้เกิดความเป็นธรรมขึ้น โดยเฉพาะตามกฎหมายการป้องกันการซ้อมทรมานและบังคับให้สูญหายล่าสุดที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ซึ่งจะมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการบังคับให้บุคคลสูญหายที่เกิดขึ้น
“อนาคตอยากเห็นการเมืองแบบสุจริต มีความโปร่งใส และประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือมากขึ้น ไม่ใช่รัฐบาลมีอำนาจมากเกินไป แต่รับฟังเสียงข้างน้อยด้วย” น.ส.ศิริภากล่าว
น.ส.ชญาภากล่าวว่า เหตุการณ์พฤษภา 35 เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ไม่ควรทำให้เลือนหาย แต่ต้องจดจำความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างเลวร้ายในครั้งนั้น เพื่อให้อดีตเป็นบทเรียนต่อการเมืองไทยในอนาคต อยากให้สังคมเรียนรู้ความขัดแย้งเพื่อป้องกันความรุนแรงและการบาดเจ็บล้มตายอีกครั้ง จะต้องมีคนรับผิดชอบและสะสางความจริงให้ปรากฏ แต่หลายครั้งความจริงอาจปรากฏ แต่ความยุติธรรมยังไม่เกิดขึ้น โดยกองทัพต้องยุติการแทรกแซงทางการเมือง เพื่อให้รัฐบาลพลเรือนทำหน้าที่ปฏิรูปการเมืองและประชาธิปไตยให้พัฒนาขึ้น
“ขอเรียกร้องไปยังทุกพรรคการเมือง และเลือกข้างประชาชนต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบเพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก ขยายเครือข่ายร่วมมือกันทุกตำบล ทุกจังหวัดในประเทศไทย เพื่อความเข้มแข็งของประชาชน ในอนาคตดิฉันอยากเห็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ไม่อยากเห็นการรัฐประหารอีกแล้ว” น.ส.ชญาภาระบุ
น.ส.ธิดารัตน์กล่าวว่า มรดกของเหตุการณ์พฤษภา 35 คือเจตจำนงของประชาชนที่ไม่ยอมต่อการสืบทอดอำนาจของคณะทหารที่เกิดขึ้นทุกครั้งในเวลาต่อมา เราจึงเห็นการออกมาต่อต้านในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง คำว่าประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน เป็นแนวคิดสำคัญของรัฐบาลประชาธิปไตย แต่เราไม่เห็นความสอดคล้องในเรื่องนี้ของรัฐบาลในปัจจุบัน
นายปกรณ์ระบุว่า การเมืองแบบไหนที่อนุญาตให้คนถือปืนในกองทัพออกมาเข่นฆ่าสังหารประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐเข่นฆ่าประชาชนมานาน ที่ควรถูกตั้งคำถามตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภา 2535 ซึ่งเรียกว่าเป็นอาชญากรรมโดยรัฐ แต่ไม่ถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม เพราะการนิรโทษกรรมตนเองอย่างต่อเนื่อง โครงสร้างทางการเมืองแบบนี้เราไม่ต้องการ และเป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องเปลี่ยนแปลง
นายเมธาระบุว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองต้องแก้ไขด้วยการสร้างประชาธิปไตยทางการเมือง โดยเฉพาะการกระจายอำนาจและปฏิรูปกองทัพอย่างเป็นระบบ แก้ไขกฎหมายที่รวบอำนาจไว้ที่ระบบราชการรวมศูนย์และสภากลาโหม จะต้องแก้ไขใหม่ ไม่ให้อำนาจอยู่ที่ 3 เหล่าทัพเท่านั้น แต่รัฐบาลพลเรือนต้องมีอำนาจเหนือกองทัพ ในวาระ 30 ปีพฤษภา 35 จะต้องมีการชำระประวัติศาสตร์ ชดใช้ผู้เสียหาย และสร้างความจริงในปฏิบัติการทางทหารและคนหายที่ผ่านมา นอกจากนี้จะต้องมีการสร้างการเรียนรู้ทางการเมือง สร้างพิพิธภัณฑ์ทางการเมืองเพื่อการศึกษา
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ช่องยูทูบสภาที่ 3 ถึงบทเรียนเหตุการณ์ 30 ปีพฤษภา 35 ว่า การต่อสู้เดือนพฤษภาคม 2535 เป็นการต่อสู้เพื่อจะให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ วัฏจักรทางการเมืองที่สลับสับเปลี่ยน ระหว่างการยึดอำนาจกับการมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่ถ้าเราไม่เรียนรู้บทเรียนที่สำคัญเหล่านี้ แล้วจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยไม่พยายามแก้ไขจุดอ่อนที่ผ่านมา โอกาสที่จะยังอยู่ในวังวนของวงจรวัฏจักรเดิมๆ ก็ยังมี จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก และอยากจะเห็นผู้ที่สานต่อเจตนารมณ์การต่อสู้ในปี 2535 ได้ตระหนักถึงประเด็นเหล่านี้ และขับเคลื่อนเพื่อนำเราเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
“ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป เราจะทำอย่างไรไม่ให้กติกาในปัจจุบันที่ทำให้วุฒิสภามีโอกาสขัดแย้งกับเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร เพราะอาจเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง ถ้าเราปลดตรงนี้ได้ ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ประชาชนยอมรับและทุกพรรคการเมืองตกลงกัน ที่จะทำกติกาใหม่ให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อให้ประชาชนเป็นเจ้าของ แล้วเรียนรู้จากบทเรียนในอดีต ตรงนั้นน่าจะเป็นก้าวย่างที่สำคัญที่สุดต่อไป ในการสานต่อการต่อสู้ในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535” นายอภิสิทธิ์ระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"
อิ๊งค์สนอง‘พ่อแม้ว’ ลุยปราบแก๊งโกงล้างบางมาเฟีย/โต้สนธิปั่นMOU44ลงถนน
"นายกฯ อิ๊งค์" โชว์ภาพแฟ้มกองโตเต็มโต๊ะส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
เปิดศูนย์ปีใหม่ 10วันอันตราย ดื่ม-ง่วงไม่ขับ
นายกฯ เรียก ผบ.ตร.หารือ ห่วงปีใหม่ ปชช.เดินทางกลับภูมิลำเนาปลอดภัย
30บาทรักษาทุกที่เฟส4 เริ่ม1ม.ค.ลดแออัดรพ.
นายกฯ คิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ เฟส 4 ครอบคลุมทั่วไทย 1 ม.ค.68
ชงปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป มติกพช.ชะลอซื้อพลังงาน
นายกฯ มอบ "พีระพันธุ์" นั่งหัวโต๊ะถก คกก.นโยบายพลังงาน
กกต.ปลุก‘กปน.’ จับโกงเลือกอบจ. พท.ทุบพรรคส้ม
กกต.ติวเข้มวิทยากรเตรียมพร้อมเลือกตั้ง อบจ. กำชับ 3 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนปิดหีบต้องทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ