ข่าวดี!ขึ้นค่าแรงแต่ไม่ใช่492

"บิ๊กตู่" รับ 8 ข้อเสนอวันแรงงาน อ้อนขอกำลังใจ ยันรัฐบาลไม่ทอดทิ้งพร้อมยกระดับคุณภาพชีวิต แจงขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำกำลังพิจารณา ชี้ต้องดูเงินเฟ้อด้วย  วอนคุยกันแบบสันติวิธี “สุชาติ” ลั่นปรับแน่แต่ไม่ใช่ 492  บาท ข้อเรียกร้องต้องสมดุลทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

ที่ห้องประชุมจอมพล ป. พิบูลสงคราม กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม เวลา 11.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม  เป็นประธานเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2565  โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมงาน และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ 

นายสุชาติกล่าวรายงานว่า นับตั้งแต่ปี 2562 มี 17 ข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงาน เราได้ทำไปแล้ว 10 ข้อ เหลืออีก  7 ข้อเรียกร้องที่จะดำเนินการต่อไป โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่ม และพร้อมรับข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหา โดยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลได้เยียวยาผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบรวม 20 ล้านคน และครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่นายกฯ มารับข้อเสนอจากผู้ใช้แรงงานด้วยตนเอง

ต่อมานายสุชาติ ไทยล้วน ประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2565 ได้ยื่นข้อเรียกร้องวันแรงงาน 8 ข้อให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกอบด้วย 1.ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ 2.เร่งดำเนินการนำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แรงงานสัมพันธ์  พ.ศ. ...เข้ากระบวนการพิจารณาในสภา 3.ขยายวงเงินเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ที่ลูกจ้างได้รับก้อนสุดท้ายตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 4.ปรับปรุง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 5.ปฏิรูปแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม 6.เร่งรัฐออกกฎหมายคุ้มครองส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ 7.จัดระบบกองทุนสวัสดิการเลี้ยงชีพลูกจ้างภาครัฐ วิสาหกิจ และ 8.ตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องทั้งหมด 

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ว่า เป็นโอกาสที่เราได้พบกันอีกครั้งนับจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งวันแรงงานเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะแสดงความขอบคุณและตระหนักถึงบทบาทของผู้ใช้แรงงานทุกคน ตนไม่เคยทอดทิ้งและเอาใจใส่ผู้ใช้แรงงานอยู่เสมอ ในฐานะที่เป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  และจะกระตุ้นเตือนให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงสิทธิความเสมอภาค สวัสดิการและความปลอดภัยในอาชีพ และได้รับความต้องการที่แท้จริงนำไปพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีความสุขมั่นคง

ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นห่วงและกังวลคือ ชีวิตความเป็นอยู่และรายได้ของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีสถานการณ์โควิด-19 เราพยายามเดินหน้าสิ่งต่างๆ มาโดยตลอด ทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงานและการดูแลต่างๆ แต่พอมีโควิด-19 เข้ามาก็มีปัญหา แต่มีการดูแลเยียวยาทั้งกลุ่มแรงงานและเจ้าของสถานประกอบการ และขณะนี้เกิดสถานการณ์ใหม่ความขัดแย้งในโลกของเรา จึงเกิดผลกระทบในห่วงโซ่การผลิต ซึ่งต้องเตรียมมาตรการอื่นไว้รองรับด้วย รัฐบาลไม่เคยทิ้งพวกเรา โดยเฉพาะตน มีการหารือกันเสมอว่าเราจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร ทำอย่างไรประเทศไทยจะมีรายได้ดีที่สุดในอนาคต จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่มากขึ้น เราจึงเร่งพัฒนาฝีมือแรงงาน การเพิ่มศักยภาพของพวกเรา เพราะวันหน้าโลกอาจจะเปลี่ยนไปในเรื่องของการใช้เครื่องจักรเครื่องมือ เป็นใช้หุ่นยนต์มากขึ้น นอกจากนี้ในกรณีที่มีการตั้งโรงงานในประเทศไทย มีกติกาว่าเขาจะต้องจ้างแรงงานไทยในจำนวนพอสมควร  วันนี้มีการลงทุนผ่านบีโอไอและอีอีซีจำนวนมาก

 “ผมรับข้อเสนอทั้ง 8 ข้อ เพื่อนำไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรม และยืนยันว่ารัฐบาลมุ่งยกระดับป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เพื่อปลดล็อกสถานการณ์การค้ามนุษย์ระดับเทียร์ 2 ที่ถูกจับตามอง ขณะที่แรงงานต่างด้าวต้องดูแลให้เป็นระบบ ที่ผ่านมารัฐบาลแก้ปัญหาขาดแรงงานและเร่งคุ้มครองสวัสดิการแรงงาน เช่น ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคมให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน หลายอย่างอยู่ในการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อเสนอสภาออกเป็นกฎหมายต่อไป ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ทอดทิ้งและไม่เคยคิดอย่างนั้น การเป็นนายกรัฐมนตรีเข้ามาทำงานแก้ปัญหา อะไรทำได้จะทำเต็มที่” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

ภายหลังเปิดงาน นายกฯ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการของกลุ่มผู้ใช้แรงงานและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน  พร้อมกับให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาที่ผ่านมาไม่ได้เกิดจากในประเทศเอง แต่มาจากปัจจัยภายนอกที่เราต้องแก้ไปทีละขั้นตอน ถ้าแก้อันหนึ่งผิดจะพังไปทุกๆ อย่าง ตนทราบความต้องการของผู้ใช้แรงงาน แต่ต้องมาหารือร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้มีรายได้เข้าประเทศ สิ่งไหนทำได้รัฐบาลจะทำให้ แต่ต้องเป็นไปตามขั้นตอน ในช่วง 2 ปีที่มีโควิด-19  รัฐบาลใช้งบประมาณดูแลเรื่องนี้ไปถึง 1 ล้านล้านบาท ทั้งการฟื้นฟูและเยียวยา วันนี้ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อหารายได้มาทดแทนเงินก้อนใหญ่ที่ใช้ไป ขอย้ำว่าเราต้องพูดคุยและอยู่กันอย่างสันติวิธี ถ้าเรื่องไหนง่าย มีงบ และไม่กระทบกับเรื่องอื่น นายกฯ ไม่เคยปฏิเสธ เราจะไม่สร้างความเสียหายให้ใคร รวมถึงรัฐบาลหน้าก็ไม่อยากเอาปัญหาไปให้เขา วันนี้จะทำให้เต็มที่ จะได้แค่ไหนอยู่ที่การร่วมมือกัน ตนต้องการแค่กำลังใจเท่านั้นเพื่อสู้กับปัญหาต่างๆ

เมื่อถามถึงข้อเสนอเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า กำลังหารือกันอยู่ว่าถ้าจะขึ้นจะได้เท่าไหร่ ต้องดูเรื่องอัตราเงินเฟ้อด้วย และถ้าจะไม่ขึ้นเป็นเพราะอะไร สิ่งสำคัญวันนี้คือการย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น  เพราะนักลงทุนจะดูว่าจะไปประเทศไหน และอาจจะมองว่าที่อื่นลงทุนได้ง่ายกว่า สะดวกกว่าหรือไม่ ถูกกว่าหรือไม่  เขาก็ไปหมด ข้อเสนอเรื่องนี้เป็นของคนที่เดินอยู่ข้างนอก  แต่เราต้องเอามาดู มีอะไรก็มาคุย 

ขณะที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน แถลงถึงข้อเรียกร้องในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศในอัตรา  492 บาทว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ซึ่งให้มีการพิจารณาประกอบการทั้งภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และอัตราค่าแรงในปัจจุบันแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน มาตรฐานทั่วโลกใช้สูตรนี้หมด ส่วนกรณีที่เสนอให้ปรับ 492 บาทเท่ากันทั้งประเทศนั้น เป็นการคิดแบบตรรกะที่ตนไม่เข้าใจ เพราะจะต้องเอาค่าครองชีพของแต่ละพื้นที่มาคำนวณด้วย ข้อเรียกร้องจะต้องสร้างสมดุลทั้งสองฝ่าย การระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถามว่านายจ้างบาดเจ็บเท่าไหร่ ถ้าจะขึ้นเงินเดือนจริงๆ 48  เปอร์เซ็นต์ ไหวหรือไม่ ปรับเท่าไหร่ให้นายจ้างอยู่ได้ ลูกจ้างพอไปได้ เขากลัวว่าการปรับฐานค่าจ้างแล้วจะกระทบไปหมดเป็นลูกโซ่

"วันนี้แรงงานไทยมีทักษะฝีมือ ไม่มีใครไปทำงานกรรมกรก่อสร้างค่าแรงขั้นต่ำ ต้องยอมรับว่าพี่น้องเราทำงานในออฟฟิศ อย่างไรก็ตามเราไม่ได้นิ่งนอนใจในการปรับตามข้อเสนอของหลายๆ ท่าน เพราะมองว่าค่าครองชีพและภาวะเงินเฟ้อเพิ่มเข้ามาจากกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครนด้วย เราไม่ได้นิ่งนอนใจ ต้องให้ความเป็นธรรมหลายคน กลัวว่าเราจะเข้าข้างนายจ้าง ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะถ้านายจ้างอยู่ไม่ได้ปิดกิจการไป จะเอาเงินจากตรงไหนไปจ่าย เงินกองทุนว่างงานของประกันสังคมเพียงพอหรือไม่   เพราะฉะนั้นวันนี้ต้องไปให้ได้ถ้าทุกคนอยู่ได้ ขออย่าใช้อารมณ์ ให้ใช้หลักการความเป็นจริง" รมว.แรงงานระบุ 

วันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กว่า ขอยกย่องหัวใจผู้ใช้แรงงานทุกคน เพราะรู้ว่าจะต้องตรากตรำทำงานหนักเพียงไรเพื่อให้มีรายได้มาเลี้ยงครอบครัว และกลับบ้านต้องมาดูแลครอบครัว

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และอดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม.รังสิต ได้แสดงความเห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานและกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนการปรับขึ้นเท่าไหร่นั้นต้องดูความสามารถในการจ่ายของนายจ้างและภาวะเศรษฐกิจด้วย อย่างไรก็ตามควรต้องปรับค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อยสูงกว่าเงินเฟ้อ ซึ่งเงินเฟ้อปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 4-5%   ฉะนั้นควรมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 380-400 บาท.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟ้องต้นตอหมอคางดำ

สภาทนายความฯ เตรียมฟ้องแพ่งบิ๊กเอกชน-หน่วยงานรัฐ ต้นตอ "เอเลี่ยนสปีชีส์"

‘เนวิน’รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดมิวสิคัลเทิดพระเกียรติ

“เนวิน” รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา แสดง แสง สี เสียง มิวสิคัล “ลมหายใจของแผ่นดิน” โดยบุรีรัมย์ออร์เคสตรา แสดงความจงรักภักดี 28-30 ก.ค.2567 สนามช้างอารีนา บุรีรัมย์