ตู่บี้ผู้ประกอบการหั่นกำไร

"บิ๊กตู่" แจงปัญหาข้าวของแพง บอกทำดีกว่าหลายประเทศ แพลมรอบหน้าถ้ามีโอกาสคัมแบ็กจะปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ จี้ผู้ประกอบการช่วยอย่าหวังกำไรเท่าเดิม บี้การเมืองเพลาๆ ลงบ้าง "ธปท." เกาะติดค่าบาท ชี้หากยังอ่อนค่าอาจต้องแทรกแซง แต่ "ขุนคลัง"  บอกช่วยหนุนส่งออก

เมื่อวันที่ 29 เมษายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ราคาสินค้าที่ปรับตัวขึ้นหลายชนิด โดยเฉพาะไข่และบะหมี่สำเร็จรูป รัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนอย่างไร ว่า ที่ผ่านมาทุกคนทราบดีว่ารัฐบาลช่วยเหลืออะไรไปแล้วบ้าง แต่ต้องหามาตรการที่เหมาะสมในการช่วยเหลือว่าทำอย่างไรราคาต้นทุนจะไม่สูงเกินไป ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายไม่สูงขึ้นมาก แต่เข้าใจว่าปัจจุบันต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อีกทั้งมาตรการการช่วยเหลืออะไรรัฐบาลจำเป็นต้องดูงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไร ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้หยุดนิ่ง ทุกเรื่องที่มีปัญหาไม่ว่าจะเป็นด้านแรงงาน ค่าแรง ราคาพลังงานต่างๆ ก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกกระทรวงหามาตรการที่เหมาะสมก่อนที่จะเสนอมายังตนเองในฐานะนายกฯ พิจารณา 

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาได้ให้แนวทางไปแล้วว่าจะทำอย่างไรให้บรรเทาความเดือดร้อนให้ได้มากที่สุด แต่จะให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แบบเดิมคงไม่ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน หลายคนออกมาพูดผ่านสื่อว่ารัฐบาลแก้ปัญหาไม่ได้ ก็อยากให้ไปดูประเทศอื่นด้วยว่าเขาแก้ได้น้อยกว่าเรา ประเทศไทยแก้ได้มากกว่าเขา แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ตนเองก็ยังไม่พอใจ แต่ปัญหาติดอยู่ที่ว่างบประมาณเรามีอยู่อย่างจำกัดด้วย ทำอะไรต้องมีหลักการ ไม่สร้างภาระไว้ในวันข้างหน้า อย่างที่เคยบอกไว้แล้วว่าทำอย่างไรให้เราอยู่รอดไปได้ก่อน อยู่รอดและปลอดภัยจากโควิด ปลอดภัยจากการดำเนินชีวิต และนำไปสู่ความพอเพียง

 “สิ่งที่นายกฯ กำลังคิดต่อไปคือ นโยบายของรัฐบาลในวันข้างหน้าต้องเปลี่ยนแปลงอีกหลายอย่าง จากสถานการณ์ในวันนี้ถือเป็นบทเรียนได้ทราบว่าโลกเปลี่ยนไปแล้วทุกอย่าง จึงเป็นแนวทางที่รัฐบาลและตัวนายกฯต้องเตรียมการไว้ว่าจะดำเนินนโยบายของเราอย่างไรต่อไป ถ้ายังมีโอกาสได้อยู่และได้ทำ ก็เอาปัญหาทุกปัญหามาประมวล ซึ่งเป็นปัญหาของโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำ รายได้ อาชีพ วันนี้เมื่อโควิดเข้ามาทำให้แผนงานเดิมมีปัญหา จึงต้องแก้ทุกอย่าง ซึ่งการทำทุกอย่างในเวลาเดียวกัน ใช้งบประมาณสูงมาก ทั้งเรื่องสุขภาพ รายได้ และราคา” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า ผู้ประกอบการทั้งหลายต้องช่วยกันดูว่าการขึ้นราคาสินค้าบางอย่างเหมาะสมหรือไม่ แม้จะมีมาตรการของกระทรวงพาณิชย์บังคับอยู่แล้วก็ตาม อย่าลืมว่าการขึ้นราคาสินค้าต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ของเงินเฟ้อ รวมทั้งต้นทุนการผลิต ไม่ใช่ยังคงกำไรจำนวนมากเหมือนเดิม มันคงไม่ได้ วันนี้ต้องช่วยชาติและประชาชน รวมทั้งรัฐบาลบ้าง เพราะอย่าลืมว่ารายได้ของรัฐบาลก็มาจากผู้ประกอบการนักธุรกิจ หากรายได้ไม่ดี รายได้ของรัฐบาลก็ลดด้วย เพราะภาษีต้องลดลงทั้งหมด แล้วจะเอาเงินจากที่ไหน ทั้งๆ ที่เรามีการเตรียมการไว้หมดแล้ว ถ้าไม่มีเรื่องของโควิดน่าจะดีกว่านี้

 “อยากขอร้องกันว่าการเมืองก็เบาๆ ลงบ้างแล้วกันนะ ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่น ไม่เชื่อถือกัน แล้วจะแก้กันอย่างไร เพราะการแก้ปัญหาต้องแก้ด้วยวิธีการร่วมมือ ถ้าขัดแข้งกันตั้งแต่ต้นมันก็คุยกันไม่รู้เรื่อง ไปกันไม่ได้ แล้วจะไปแก้อะไรได้ ใครจะได้รับผลกระทบ รัฐบาลนั้นแน่นอนอยู่แล้ว แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือประชาชน วันข้างหน้านโยบายภาครัฐต้องปรับหลายอย่าง ซึ่งเราพยายามปรับมาหลายอย่างแล้ว แต่มันก็เดินมาได้ช้า เนื่องจากความขัดแย้งสูง การจะปรับเปลี่ยนอะไรต่างๆ ของประเทศไทยนั้นยอมรับว่ายาก ต้องทำอย่างระมัดระวัง” นายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์มีสีหน้าและน้ำเสียงคล้ายกับคนอ่อนล้าและไม่สดชื่น 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ได้สั่งให้กรมการค้าภายในไปดูลึกลงไปในรายละเอียด เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งต้องยอมรับว่าปาล์มน้ำมัน ผลปาล์มราคาสูงมาก แม้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มจะพอใจราคาผลปาล์มมาก แต่ผู้ประกอบการ และพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จและอาหารสำเร็จรูป รวมถึงนักธุรกิจมีผลกระทบมาก ดังนั้นการปรับขึ้นราคาหรือไม่ และเท่าไหร่ กรมการค้าภายในจะดูเป็นกรณีว่าสูงขึ้นมากเพียงใด ถ้าจะปรับต้องปรับแค่ไหน เท่าที่ผู้ประกอบการยังทำธุรกิจอยู่ได้ และกระทบผู้บริโภคน้อยที่สุด แต่ตอนนี้ยังไม่มีการอนุมัติให้สินค้ารายการใดปรับราคาขึ้น โดยเฉพาะ 18 รายการสำคัญยังอยู่ในช่วงที่ขอตรึงราคาสินค้าไว้

 “กระทรวงพาณิชย์จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ดูแลให้ทั้ง 3 ฝ่ายอยู่ได้ ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการและบริโภค ซึ่งรายละเอียดในแต่ละรายการสินค้าจะมีความแตกต่างกันแต่ละประเภท” นายจุรินทร์กล่าว

วันเดียวกัน นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2565 มีแนวโน้มดีขึ้นจากไตรมาส 4/2564 แม้ว่าช่วงเดือน มี.ค.การบริโภคภาคเอกชนจะแผ่วตัวลงบ้าง จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่รุนแรงขึ้น รวมทั้งแนวโน้มค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มสูง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นของราคาพลังงาน

นายสักกะภพกล่าวอีกว่า ธปท.อยู่ระหว่างการติดตามการอ่อนค่าของค่าเงินบาท ที่คาดว่าจากนี้จะมีความผันผวนรุนแรงขึ้น เพราะตั้งแต่ต้นปีเงินบาทอ่อนค่า 2.5% ถือว่ายังอยู่ในระดับกลางๆ แม้ว่าจะมีผลบวกต่อผู้ส่งออก แต่ในด้านของการนำเข้าก็กังวลจะกระทบต่อต้นทุนสูงขึ้น ส่งผลไปยังเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น และกระทบกับค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ส่งผลอะไรต่อเศรษฐกิจมาก แต่ถ้าค่าเงินบาทยังอ่อนค่าต่อเนื่อง ก็จะยิ่งเป็นแรงกดดัน ซ้ำเติมอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป

 “ธปท.อยู่ระหว่างติดตามการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท ถ้าผิดปกติไม่สอดคล้องปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจก็จะต้องเข้าไปดูแล โดยเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาจากกรณีธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีการขึ้นดอกเบี้ยแรงและเร็วกว่าที่คาด รวมทั้งความกังวลต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน ซึ่งมองไประยะข้างหน้า ค่าเงินบาทยังมีความผันผวนสูง” นายสักกะภพกล่าว และว่า อัตราเงินเฟ้อ ธปท.ก็จับตาดูอย่างใกล้ชิด เท่าที่ประมาณการไว้ช่วงไตรมาส 2-3/2565 มีโอกาสที่เงินเฟ้อทั่วไปจะมากกว่า 5% ก่อนเริ่มปรับลดลงในไตรมาส 4/2565 โดยมีสมมติฐานจากการลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล และการขึ้นราคาสินค้าประเภทต่าง 

ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวถึงกรณีที่เงินบาทอ่อนค่าลงสุดในรอบ 5 ปีว่า ประเด็นนี้ภาคส่งออกค่อนข้างพอใจ เพราะช่วยทำให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันเรื่องราคาได้เป็นอย่างดี แต่อีกส่วนก็ต้องยอมรับว่ามันจะมีผลกระทบในเรื่องการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศบ้าง อาจทำให้มาร์จิ้นในส่วนนี้ลดลง เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องไปบริหารจัดการกัน

 “บาทอ่อนค่าลงก็เป็นประโยชน์กับภาคส่งออก ทำให้ได้ส่วนต่างด้านราคาที่สูงขึ้น แต่ในอีกมุมคือการนำเข้าวัตถุดิบ โดยเฉพาะน้ำมันนั้น ก็ต้องยอมรับในเรื่องต้นทุนที่จะต้องปรับตัวสูงขึ้นบ้าง เพราะราคาในตลาดโลกมีการขยับตัวขึ้นไปมาก ที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามในการบริหารจัดการเพื่อช่วยเหลือราคาพลังงานในประเทศอยู่ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็เข้าไปช่วยอย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับว่าต้อง

ปรับไปตามกลไกของตลาด” นายอาคม กล่าว

นายอาคมกล่าวอีกว่า ในส่วนของมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาท ซึ่งจะสิ้นสุดอายุมาตรการในวันที่ 20 พ.ค.2565 นั้น อยากให้รอดูก่อนยังมีเวลาในการพิจารณาอีกมาก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง