WHOชูไทยต้นแบบสู้โควิด เร่งนำร่องสู่โรคประจำถิ่น

สังเวยโควิดรายวันพุ่ง 124 ราย อาการหนักหวิดแตะ 2 พัน กรุงเทพฯ ติดเชื้อนำหน้าไม่มีลด "บิ๊กตู่" บอกถ้าติดอย่ามาโทษลุง โอดตรวจจนทะลุโพรงจมูกหมดแล้ว "WHO" ยกไทยขึ้นแท่นต้นแบบประเทศโลกที่ 3 นำร่องรับมือระบาดใหญ่โควิด พร้อมเผยแพร่ประสบการณ์งานใหญ่สมัชชาอนามัยโลก "อนุทิน" ปลื้มไทยอันดับ 1 เอเชียมีความพร้อมมากที่สุด เร่งเครื่อง  15 จว.สนใจทำแซนด์บ็อกซ์นำร่องโรคประจำถิ่น

เมื่อวันจันทร์ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,994 ราย ติดเชื้อในประเทศ 14,932 ราย  มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 14,904 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 28 ราย มาจากเรือนจำ  19 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 43 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 23,524 ราย อยู่ระหว่างรักษา 174,500 ราย อาการหนัก 1,876 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 903 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 124 ราย เป็นชาย 68 ราย หญิง 56 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 94 ราย  มีโรคเรื้อรัง 25 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 5 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน  4,180,868 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี  2563 จำนวน 3,978,469 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 27,899 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 509,542,737 ราย  ผู้เสียชีวิตสะสม 6,243,199 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่  กรุงเทพฯ 2,967 ราย ชลบุรี 644 ราย ขอนแก่น  598 ราย สมุทรปราการ 561 ราย นนทบุรี 424 ราย  ศรีสะเกษ 407 ราย นครศรีธรรมราช 371 ราย  ร้อยเอ็ด 360 ราย นครศรีธรรมราช 348 ราย และ  บุรีรัมย์ 339 ราย

ที่ จ.สงขลา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางถึงท่าอากาศยานกองบิน 56 จังหวัดสงขลา และเดินทางต่อไปยังตลาดกิมหยงเพื่อพบปะพ่อค้าแม่ค้าและประชาชน  ซึ่งได้กล่าวกับประชาชนตอนหนึ่งว่า “ส่วนเรื่องโควิด ถ้าติดโควิดขึ้นมาอย่าโทษลุงอีกนะ เพราะลุงก็เต็มที่แล้วเหมือนกัน ลุงตรวจทุกวัน วันละ 2 ที ทะลุโพรงจมูกหมดแล้ว นายกฯ ยังไม่ติดโควิดแต่ประมาทไม่ได้ ทุกคนมีโอกาสทั้งนั้น เราใกล้กันบางทีทำงานกับคนหมู่มาก คนอื่นเอามาจากไหนก็ไม่รู้ ทำงานด้วยกัน มันติดได้หมด แต่วันนี้สิ่งสำคัญเรารักษาได้ เว้นผู้ที่มีโรคประจำตัวที่อันตราย เพราะเขาฉีดวัคซีนไม่ได้ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุด้วย"

ที่โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โฮเต็ล แอนด์ ทาวเวอร์ส กรุงเทพมหานคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกิจกรรมการทบทวนการเตรียมความพร้อม กรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า (นำร่อง) หรือ  Universal Health and Preparedness  Review (UHPR) Pilot โดยมี Dr.Samira  Asma ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก Dr.Jos Vandelaer ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค คณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข บุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ  ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวม 200 คน ร่วมงาน

นายอนุทินกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีการบริหารจัดการและรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านสุขภาพเป็นอันดับที่ 5 จากทั้งหมด 195 ประเทศ เป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศเดียวที่อยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก และเป็นอันดับที่ 1  ของเอเชีย ที่มีความพร้อมในการรับมือการระบาดของโรคมากที่สุด เป็นผลจากการบูรณาการทำงานร่วมกัน มีการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขที่เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของภาครัฐ และทุกภาคส่วนของสังคม (Whole-government and whole society  response) ได้แก่ เครือข่ายภาคประชาชน อสม.ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ หน่วยงานด้านสาธารณสุข ภาคเอกชน และภาคธุรกิจอื่นๆ ผ่าน ศบค. ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของระบบป้องกันควบคุมโรคในประเทศไทย ในการขับเคลื่อนกฎหมายการดำเนินงานตอบโต้ภาวะฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้ประเทศไทยก้าวผ่านช่วงวิกฤตมาได้

 “ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr.Tedros Adhanom  Ghebreyesus) จึงเชิญให้ประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบประเทศที่ 3 นำร่องจัดกิจกรรมการทบทวนการเตรียมความพร้อม กรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า ในการรับมือการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ข้อเสนอแนะระหว่างประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลก และไทยเป็นประเทศนำร่องที่จะได้เผยแพร่ประสบการณ์สู่สาธารณะในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก 2565 เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประเทศสมาชิก และเกิดการพัฒนาเครื่องมือและกลไกใหม่ รองรับวิกฤตด้านสาธารณสุขสำหรับใช้งานทั่วโลกในอนาคต”  นายอนุทินระบุ

ด้าน นพ.จอสกล่าวว่า องค์การอนามัยโลกรู้สึกซาบซึ้งอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยแสดงความเป็นผู้นำ โดยการนำร่องการทบทวนการเตรียมความพร้อมเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือแบบใหม่เพื่อทำให้ประชาชนทั่วโลกปลอดภัยจากวิกฤตสาธารณสุข

 “ผมเชื่อว่าประสบการณ์ที่เข้มข้นของประเทศไทยในการพัฒนาระบบสาธารณสุข และการรับมือกับโรคโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นบทเรียนอันล้ำค่าสำหรับประเทศอื่นๆ อย่างแน่นอน” นพ.จอสระบุ

ทั้งนี้ นายอนุทินยังระบุถึงกรณี 15 จังหวัดที่มีความพร้อมดำเนินการแซนด์บ็อกซ์นำร่องทำโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นว่า เป็นไปตามนโยบายที่ตั้งเป้าไว้ แต่จะเกิดเมื่อไร วันไหน ไม่สำคัญเท่ากับการบริหารสถานการณ์ให้ดีที่สุด ซึ่งทุกวันนี้เราก็เหมือนเดินเข้าสู่โรคประจำถิ่นอยู่แล้ว  จากการที่เรามียา สถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์พร้อม ซึ่งไทยโชคดีกว่าประเทศอื่นที่มี อสม.กว่าล้านคนเข้ามาช่วย ตรงนี้ก็เหมือนเดินเข้าสู่โรคประจำถิ่นทุกวัน เพียงแต่เราต้องขยายขอบข่าย ซึ่งวันที่ 1 พ.ค.นี้ก็ยกเลิก Test&Go ขอให้ตรวจเพียง ATK 1 ครั้ง

 “หากสถานการณ์ดีขึ้นเราก็ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ  อย่างไรก็ตามข้อมูลผู้ป่วยหนักของไทยก็ลดลง จำนวนเตียงยังมีมากพอสมควร แต่ก็ไม่ได้อยากใช้ ขณะเดียวกันผู้เสียชีวิตคาดว่ามีแนวโน้มลดลงด้วย ซึ่งจะมีแยกข้อมูลการเสียชีวิตจากโควิด” นายอนุทินระบุ

เมื่อถามถึงการจัดซื้อวัคซีนโปรตีนซับยูนิตเพื่อใช้เป็นเข็มกระตุ้น นายอนุทินกล่าวว่า ต้องทำให้เกิดความสมดุลในเวชภัณฑ์ทุกอย่าง อย่างการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์กว่าร้อยล้านเม็ด รักษาผู้ติดเชื้อหายเป็น 2-3 ล้านราย แต่เราก็ยังจำเป็นต้องมียาเรมเดซิเวียร์, ยาโมลนูพิราเวียร์, ยาแพกซ์โลวิดในมือ โดยมีการกำหนดการใช้ในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้วัคซีนโควิดเราก็ต้องสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในทุกแพลตฟอร์ม เราไม่ได้อยู่เฉยแม้แต่วินาทีเดียว ทำให้เราเห็นผลว่าวัคซีนช่วยลดการเสียชีวิตได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟ้องต้นตอหมอคางดำ

สภาทนายความฯ เตรียมฟ้องแพ่งบิ๊กเอกชน-หน่วยงานรัฐ ต้นตอ "เอเลี่ยนสปีชีส์"

‘เนวิน’รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดมิวสิคัลเทิดพระเกียรติ

“เนวิน” รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา แสดง แสง สี เสียง มิวสิคัล “ลมหายใจของแผ่นดิน” โดยบุรีรัมย์ออร์เคสตรา แสดงความจงรักภักดี 28-30 ก.ค.2567 สนามช้างอารีนา บุรีรัมย์