99%อยากเปลี่ยนแปลง ตจว.หวังเลือก‘พ่อเมือง’

โพลเผยคนกรุงยี้ผู้ว่าฯ  กทม. “ไม่มีสัจจะ” มากที่สุด ขณะที่ 98% อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ขณะที่กลุ่มอาชีพ ขรก.-รัฐวิสาหกิจ-เอกชน ยังให้ “ชัชชาติ” นำ ส่วนกลุ่มนักศึกษา “วิโรจน์” เบียดแซง ด้านคนต่างจังหวัด 66% อยากเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของตัวเอง เพราะแต่งตั้งจากส่วนกลางมีผลต่อการพัฒนา

  วันที่ 24 เมษายน ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจเรื่อง คุณธรรม จริยธรรม ของผู้ว่าฯ กทม. และของผู้สมัคร และความเจ็บปวด (Pain Points) ของคน กทม. กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,320 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20- 23 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา

เมื่อถามถึงปัญหาคุณธรรม จริยธรรม  ของผู้ว่าฯ กทม. และของผู้สมัครที่ไม่พึงประสงค์ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.8 ระบุการไม่มีสัจจะ รับปากแล้วไม่ทำตามสัญญากับประชาชน รองลงมาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.8 ระบุผลประโยชน์ทับซ้อน เกี่ยวโยงเครือญาติ และพวกพ้อง, ร้อยละ 80.7 ระบุเชื่อมโยง ธุรกิจการเมืองของกลุ่มคนหนีคดี ทุจริต คอร์รัปชัน, ร้อยละ 80.0 ระบุไม่ซื่อตรง หมกเม็ด ปิดบังประชาชน, ร้อยละ 79.6 ระบุสมยอม ผลประโยชน์ พรรคพวก กลุ่มผู้มีอิทธิพล, ร้อยละ 79.6 ระบุเคยมีประวัติด่างพร้อย หนีการตรวจสอบ และร้อยละ 79.3 ระบุเรียกรับผลประโยชน์ ตามลำดับ

ที่น่าเป็นห่วงคือ จุดแห่งความเจ็บปวดของประชาชนคน กทม. พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.4 ระบุปล่อยให้มีการเรียกรับผลประโยชน์จากการควบคุมอาคาร ผังเมือง ประชาชนเดือดร้อน, ร้อยละ 79.9 ระบุเวลามีปัญหาประชาชนเดือดร้อน ปัดความรับผิดชอบ อ้างสารพัด ปัญหาซ้ำซากยังอยู่เหมือนเดิม แก้ตัวไปเรื่อย ไม่เห็นแก้ไขอะไร, ร้อยละ 79.0 ระบุ กล้องวงจรปิด CCTV เสียดูไม่ได้เมื่อต้องใช้ในคดี, ร้อยละ 78.5 ระบุฝนตก น้ำท่วมอุโมงค์ อ้างไฟฟ้าขัดข้อง, ร้อยละ 78.4 ระบุระบบการศึกษาของเด็ก กทม.ไม่มีคุณภาพมากพอ, ร้อยละ 78.1 ระบุ ประชาชนต้องการความสะดวก ปลอดภัยทางถนน ปลอดภัยในชุมชน แต่ใช้งบประมาณไม่ตรงความต้องการ และร้อยละ 77.5 ระบุโจรเข้าหมู่บ้าน ไม่ช่วยแก้ไข บอกว่าเป็นหน้าที่ของหมู่บ้านดูแลกันเอง

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามความต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า ในความตั้งใจจะเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.6 ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า ตั้งใจจะเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ในขณะที่ร้อยละ 1.4 ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร

ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นคน กทม.ยี้ผู้ว่าฯ ผู้สมัครผลประโยชน์ทับซ้อน โยงเครือญาติและพวกพ้อง เพราะความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาคุณธรรม จริยธรรม ของผู้ว่าฯ กทม. และผู้สมัครรับเลือกตั้งทำให้ประชาชนเดือดร้อนทุกข์ยากและเจ็บปวดกับพฤติกรรมที่ขัดหลักคุณธรรม จริยธรรมหลายประการ เช่น ผลประโยชน์ทับซ้อนเชื่อมโยงกับ เครือญาติและพวกพ้อง ความเชื่อมโยงกับธุรกิจการเมืองของกลุ่มคนที่หนีคดี ทุจริตคอร์รัปชัน ความไม่ซื่อตรง หมกเม็ด ปิดบังประชาชน การสมยอมผลประโยชน์กับกลุ่มผู้มีอิทธิพลต่างๆ และประวัติด่างพร้อย หนีการตรวจสอบ

ที่ทำให้ประชาชนคน กทม.เจ็บปวด เพราะคนกรุงเทพมหานครเห็นว่าไม่เห็นจะทำอะไรได้จริง ไม่มีผลงานที่โดนใจ ความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนยังคงมีเหมือนเดิม เช่น ความไม่สะดวกในการเดินทาง ความไม่ปลอดภัยทางถนน ความไม่ปลอดภัยในชุมชน ปัญหาปากท้อง และการศึกษาไม่มีคุณภาพ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพลยังเสนอผลสำรวจเรื่อง อาชีพไหนใครเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 21-24 เมษายน พ.ศ.2565

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อจำแนกออกตาม กลุ่มอาชีพ พบว่ากลุ่มอาชีพข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานเอกชน และค้าขายอิสระ เลือกนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อันดับที่หนึ่งคือ ร้อยละ 17.0, ร้อยละ 22.7 และร้อยละ 17.6 ในขณะที่กลุ่มนิสิตนักศึกษาตั้งใจจะเลือกนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร มาเป็นอันดับที่หนึ่ง ได้ร้อยละ 20.5 แซงหน้านายชัชชาติที่ได้ร้อยละ 12.7 และในกลุ่มอาชีพรับจ้างทั่วไป พบอันดับแรกได้แก่ นายสกลธี ภัททิยกุล มาเป็นอันดับที่หนึ่ง ได้ร้อยละ 16.7, อันดับที่สอง นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ร้อยละ 14.2 และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นอันดับสาม ได้ร้อยละ 13.1

ที่น่าสังเกตคือ อันดับที่สองในกลุ่มอาชีพข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และนายสกลธี ภัททิยกุล ได้ร้อยละ 11.4 เท่ากัน อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนยังไม่ตัดสินใจ (พลังเงียบ) คือตัวแปรสำคัญว่าจะเทคะแนนเสียงไปให้ใครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนต่อไป

ขณะที่ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “คนต่างจังหวัด อยากเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของตนเองหรือไม่” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 18-20 เมษายน 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ ยกเว้นกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,320 หน่วยตัวอย่าง

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความต้องการของประชาชนในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 66.14 ระบุว่าอยากได้มาก รองลงมา ร้อยละ 18.64 ระบุว่าค่อนข้างอยากได้, ร้อยละ 10.07 ระบุว่าไม่อยากได้เลย, ร้อยละ 3.79 ระบุว่าไม่ค่อยอยากได้ และร้อยละ 1.36 ระบุว่าเฉยๆ อย่างไรก็ได้ 

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในจังหวัด กับการมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งจากส่วนกลาง จะทำให้ผลของการพัฒนาจังหวัดมีความแตกต่างกัน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 57.80 ระบุว่า มีความแตกต่างอย่างมากในผลของการพัฒนาจังหวัด รองลงมา ร้อยละ 27.05 ระบุว่าค่อนข้างมีความแตกต่างในผลของการพัฒนาจังหวัด, ร้อยละ 8.71 ระบุว่า ไม่มีความแตกต่างเลยในผลของการพัฒนาจังหวัด, ร้อยละ 5.91 ระบุว่าไม่ค่อยมีความแตกต่างในผลของการพัฒนาจังหวัด และร้อยละ 0.53 ระบุว่าไม่แน่ใจ

กลุ่มองค์กรประชาชน 60 องค์กร อาทิ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย, เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง, สถาบันนโยบายศึกษา, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.), ขบวนประชาชน 5 ภาค ร่วมกันออกแถลงการณ์ สนับสนุนการเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และการกระจายอำนาจตามแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง

โดยระบุว่า การรณรงค์เรียกร้องสิทธิที่จะได้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ของพี่น้องชาวจังหวัดเชียงใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างแข็งขันและกว้างขวางในขณะนี้ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและคุณูปการอย่างสูงต่อการจัดการประเทศไทยในอนาคตเกินกว่าที่จะปล่อยวางให้เป็นภาระโดยลำพังของพี่น้องชาวจังหวัดเชียงใหม่ได้ แต่ควรได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาชนที่สนับสนุนให้เกิดการกระจายอำนาจที่ชอบด้วยหลักการและมีคุณภาพ

ในโอกาสนี้ เราจึงขอแสดงการสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อเสียงเรียกร้องของพี่น้องประชาชนชาวเชียงใหม่ ที่ขอมีสิทธิเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เองเช่นเดียวกับที่ชาวกรุงเทพมหานครมีสิทธิเลือกผู้ว่าฯ ของตนเอง และขอสนับสนุนเช่นเดียวกันนี้หากจะมีประชาชนชาวจังหวัดอื่นๆ ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิเดียวกันนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง