ผู้ติดเชื้อโควิดรายวันยังทรงตัวที่ 2 หมื่นราย เสียชีวิต 129 คน นายกฯ ห่วงกลุ่มไรเดอร์เสี่ยงสูง แนะให้เฝ้าระวังตนเองสูงสุด ให้ผู้ปกครองดูแลเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบอย่างเข้มงวด เพราะยังไม่มีวัคซีนฉีด "อนุทิน" เผยเหลือคนไทยอีก 10 ล้านคนยังไม่ได้ฉีดวัคซีน
เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 20,052 ราย ติดเชื้อในประเทศ 19,972 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 19,878 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 94 ราย, มาจากเรือนจำ 32 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 48 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 22,361 ราย อยู่ระหว่างรักษา 188,342 ราย อาการหนัก 1,962 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 921 ราย
เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 129 ราย เป็นชาย 70 ราย หญิง 59 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 111 ราย มีโรคเรื้อรัง 16 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 2 ราย ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,148,090 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,932,099 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 27,649 ราย
ส่วนยอดฉีดวัคซีนวันที่ 22 เม.ย. 181,185 โดส ยอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 132,279,710 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 508,573,314 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 6,240,391 ราย
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 3,355 ราย, ขอนแก่น 1,015 ราย, สมุทรปราการ 717 ราย, ชลบุรี 699 ราย, นนทบุรี 689 ราย, ศรีสะเกษ 510 ราย, บุรีรัมย์ 476 ราย, นครราชสีมา 443 ราย, ร้อยเอ็ด 442 ราย และนครราชสีมา 435 ราย
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยกลุ่มผู้ขนส่งอาหาร (Rider) ผู้ส่งพัสดุและวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งในช่วงสถานการณ์การโควิด-19 ทำให้ธุรกิจการสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มแบบเดลิเวอรี (Food Delivery) และการสั่งซื้อของทางออนไลน์มีมากขึ้น ทำให้กลุ่มไรเดอร์ วินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งทำหน้าที่ในฐานะคนกลางสำหรับการส่งต่ออาหารและพัสดุ จากร้านค้าไปยังผู้บริโภค อาจเป็นอีกกลุ่มที่เสี่ยงต่อการรับหรือแพร่เชื้อโควิด-19 ได้
จึงฝากเน้นย้ำให้เฝ้าระวังตนเองสูงสุด ปฏิบัติตนมาตรการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้องตลอดเวลา รอรับอาหารในจุดที่ร้านกำหนด ทำความสะอาดมือและถุงมือก่อนและหลังการรับ-ส่งอาหาร ฆ่าเชื้อกล่องบรรจุท้ายยานพาหนะทุกครั้งก่อนปฏิบัติงาน งดรวมกลุ่มพูดคุย สูบบุหรี่ และเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร ณ จุดพักคอย หากสงสัยว่ามีอาการ ก็ให้ตรวจสอบตนเองด้วย ATK พร้อมฝากถึงผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร ตลาด ขอให้ช่วยจัดพื้นที่เฝ้ารับสินค้าที่เหมาะสม ลดความแออัด เพิ่มความปลอดภัยสำหรับกลุ่มผู้ขนส่งอาหาร (Rider) และวินมอเตอร์ไซค์ ระวังรอรับสินค้าและอาหารด้วย
ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่เป็นเด็กเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก และในระลอกเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของเด็กที่เสียชีวิตจากโควิด-19 เป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งกลุ่มนี้ยังไม่มีวัคซีนฉีด จึงขอให้ผู้ปกครองฉีดวัคซีนเพื่อลดการนำเชื้อสู่ลูกหลาน ขณะที่ รัฐบาลได้จัดระบบดูแลผู้ป่วยเด็กเล็กไว้พร้อมแล้ว รวมถึงเตรียมการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับเด็กระดับมัธยม ช่วงอายุ 12-17 ปี ผ่านระบบสถานศึกษาเริ่มพฤษภาคม และสถานพยาบาลเริ่มได้ทันที
รองโฆษกรัฐบาลกล่าวต่อถึงการป้องกันดูแลกลุ่มเด็ก ดังนี้ 1.เด็กเล็ก 0-5 ปีที่ติดเชื้อและมีโรคอื่นร่วม กระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบพร้อมให้การรักษาที่โรงพยาบาล ทุกเขตสุขภาพเตรียมความพร้อมเรื่องเตียง บุคลากร และระบบส่งตัวเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยเด็กที่มีอาการรุนแรง 2.เร่งรัดการฉีดวัคซีนในกลุ่มอายุ 5-11 ปี ผ่านระบบสถานศึกษา 3.ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่ม 12-17 ปี ซึ่งคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค แนะนำให้เด็กกลุ่มนี้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม เข้ารับวัคซีน Pfizer เข็มกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 ขนาดโดสปกติหรือครึ่งโดส มีระยะห่างจากเข็มที่ 2 เป็นระยะเวลาตั้งแต่ 4-6 เดือนขึ้นไป โดยให้เป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครองและเด็ก
น.ส.รัชดากล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดการให้บริการคือ 1.การฉีดผ่านสถานศึกษา จะฉีดให้ในปริมาณครึ่งโดส เริ่มดำเนินการวันที่ 9 พ.ค.เป็นต้นไป และหากมีความประสงค์ต้องการฉีดเพิ่มอีกครึ่งโดส สามารถรับการฉีดได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน 2.การฉีดผ่านสถานพยาบาล เด็กที่ประสงค์ฉีด เมื่อครบกำหนดรับเข็มกระตุ้น สามารถติดต่อขอรับบริการที่สถานพยาบาลใกล้บ้านได้ทันที จะเป็นวัคซีนไฟเซอร์ปริมาณครึ่งโดสหรือเต็มโดสก็ได้
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก สามารถฉีดได้ประมาณ 56 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 85% เหลือผู้ที่ยังไม่มารับการฉีดวัคซีน 9-10 ล้านคน ต้องเร่งรณรงค์ให้มารับวัคซีนเพิ่มขึ้น ส่วนการฉีดเข็มกระตุ้นในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 39.7% ซึ่งไม่ถือว่าน้อย เพราะส่วนหนึ่งยังไม่ถึงกำหนดเข้ารับเข็มกระตุ้น โดยคนที่ถึงกำหนดฉีดเข็มกระตุ้นและได้รับการฉีดแล้วอยู่ที่ประมาณ 70%.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คู่มือฉบับเร่งด่วนที่เจ้าของควรรู้ 'ไข้หวัดนก' ในแมว-สุนัข
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "31 รัฐในสหรัฐ เผชิญไข้หวัดนกในแมวและสุนัข
เปิดผลสอบ 'ฝีดาษลิง' ธรรมชาติรังสรรค์ หรือมนุษย์ประดิษฐ์!
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "การสอบสวนฝีดาษลิงธรรมชาติสร้างสรรค์หรือมนุษย์ประดิษฐ์"
จับตา! 'ไข้หวัดนก' ระบาดใหม่ 2 ราย ในกัมพูชา พบเด็กอุ้มซากไก่
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า กัมพูชาพบผู้ป่วยไข้หวัดนก H5N1 รายใหม่ 2 ราย ในจังหวัดตาแก้ว
ถอดบทเรียนการแพร่ระบาด 'โควิด' จากตลาดนัดกลางคืน
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ถอดบทเรียนการแพร่ระบาดโควิด-19 จากตลาดนัดกลางคืน (outdoor night market) ซึ่งไม่มีแสงแดด
'ดร.อนันต์' เตือนสติไวรัสยังเป็นสิ่งน่ากังวล
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)
‘หมอมนูญ’ เผยผลติดตามสถานการณ์ 5 โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
ข้อมูลของโรงพยาบาลวิชัยยุทธที่ติดตามโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไรโนไวรัส (Rhinovirus) อาร์เอสวี (RSV) และ ฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส Human metapneumovirus (hMPV)