“คลัง” ยังไม่ตัดสินใจขยายเวลามาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาท ที่จะครบกำหนดอายุมาตรการ 20 พ.ค. แจงยังมีเวลาติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ขอพิจารณาผลดี-ผลเสีย และความจำเป็นอย่างรอบคอบก่อน จับตาธุรกิจขนส่งปรับค่าบริการขึ้น 15-20% หากรัฐเลิกตรึงดีเซล 1 พ.ค.นี้
เมื่อวันพฤหัสบดี นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คลังยังบอกไม่ได้ว่าจะให้มีการขยายเวลามาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 3 บาท ซึ่งจะครบกำหนดเวลา 3 เดือน ในวันที่ 20 พ.ค.2565 ซึ่งทางกรมสรรพสามิตได้ติดตามเพื่อรายงานเรื่องนี้ว่ามีความจำเป็นต้องดำเนินการต่อหรือไม่ และจะมีผลกระทบกับฐานะการคลังของประเทศหรือไม่ อย่างไร โดยยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีทั้งผลดีและผลเสีย ดังนั้นการพิจารณาต้องดูภาพรวมทั้งหมดให้รอบคอบ
ด้านนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า เรื่องการดูแลราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหน้าที่ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมาได้ใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแลไม่ให้ราคาน้ำมันดีเซลแพงเกินลิตรละ 30 บาท แต่อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่แพงขึ้นมาก ทำให้กระทรวงพลังงาน โดยรัฐบาลขอให้กรมสรรพสามิตลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาท เป็นการชั่วคราว 3 เดือน เพื่อให้สามารถดูแลราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาทต่อไปอีกระยะหนึ่งตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งตามกฎหมายแล้วการลดภาษีน้ำมันดีเซลลิตรละ 3 บาทวันสุดท้ายคือวันที่ 20 พ.ค.2565
"การจะขยายเวลาการลดภาษีน้ำมันดีเซลลิตรละ 3 บาทออกไปอีกหรือไม่นั้น ยังมีเวลาพิจารณา และติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกอีก 1 เดือน ซึ่งหากราคาน้ำมันโลกลดลง และกระทรวงพลังงานดูแลราคาน้ำมันดีเซล ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องขยายเวลาการลดภาษีน้ำมันดีเซลออกไปอีก" นายลวรณกล่าว
นายลวรณกล่าวอีกว่า สรรพสามิตต้องประสานกับกระทรวงพลังงานถึงนโยบายการดูแลราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ ซึ่งทางกระทรวงพลังงานจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท ไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย.นี้ หลังจากนั้นในวันที่ 1 พ.ค.2565 จะปล่อยให้ราคาน้ำมันดีเซลลอยตัว โดยรัฐบาลจะช่วยชดเชยราคาน้ำมันดีเซลส่วนที่เกิน 30 บาทต่อลิตรเพียงครึ่งหนึ่ง และหลังจากนั้นในวันที่ 1 มิ.ย.2565 จะมีการปล่อยให้ราคาน้ำมันดีเซลลอยตัวเต็มรูปแบบ โดยที่รัฐบาลจะไม่มีการชดเชยราคาให้อีกต่อไป
อย่างไรก็ดี คงต้องให้ฝ่ายนโยบายพิจารณาว่ามีความจำเป็นต้องขยายเวลาการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลต่อไปหรือไม่ ซึ่งตอนนี้กรมสรรพสามิตยังยึดตามกรอบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดิมไว้ก่อน คือลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 3 บาท เป็นเวลา 3 เดือน หรือสิ้นสุดในวันที่ 20 พ.ค.2565
ขณะที่นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันที่ 1 พ.ค.นี้ ผู้ประกอบการขนส่งจะมีการปรับขึ้นค่าขนส่ง 15-20% หลังรัฐบาลยกเลิกมาตรการตรึงราคาขายปลีกดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร และจะทยอยปรับราคาน้ำมันดีเซลขึ้นแบบขั้นบันไดแทน ซึ่งราคาดีเซลที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 บาท/ลิตร จะส่งผลให้ค่าขนส่งเพิ่มขึ้น 3% และส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าของผู้ผลิตต้องปรับราคาขึ้นตามไปด้วยอย่างน้อย 20% ขณะที่จุดคุ้มทุนของค่าขนส่งราคาน้ำมันดีเซลควรอยู่ที่ 25 บาท/ลิตร
“ผู้ประกอบการขนส่งเตรียมปรับค่าขนส่งทั่วประเทศขึ้นขั้นต่ำ 15% หรืออาจมากกว่า 20% ตามกลไกตลาดเพื่อให้สะท้อนต้นทุนราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างแท้จริง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป หลังรัฐบาลยกเลิกมาตรการตรึงราคาขายปลีกดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร โดยจะทยอยปรับราคาน้ำมันดีเซลขึ้นแบบขั้นบันไดเริ่มจาก 32 บาท/ลิตร และเป็น 35 บาท/ลิตร ซึ่งคงต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่า หลังดีเซลปรับขึ้นเกิน 30 บาท/ลิตรไปแล้วผู้ประกอบการรถบรรทุกจะมีการปรับแผนอย่างไร และหากผู้ผลิตไม่ยอมรับการปรับขึ้นค่าขนส่ง ผู้ประกอบการรถบรรทุกอาจจะใช้มาตรการหยุดวิ่งรถบรรทุกบางส่วนก็เป็นได้”
นายอภิชาติกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการรถบรรทุกได้แบกภาระต้นทุนราคาน้ำมันไว้สูงมาก แต่เมื่อรัฐบาลไม่มีมาตรการอะไรออกมาช่วยเหลือเพิ่มเติม ผู้ประกอบการก็มีความจำเป็นต้องปรับราคาค่าขนส่งขึ้น เพื่อความอยู่รอด อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐบาลเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพง โดยเฉพาะการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในภาคขนส่งลงเหลือ 20 สตางค์/ลิตร เท่ากับภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่ใช้กับเครื่องบิน ให้ยกเลิกการนำไบโอดีเซลเป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซลชั่วคราว คาดว่าจะสามารถช่วยลดราคาดีเซลลงได้ถึง 1.50-2 บาท/ลิตร เนื่องจากปัจจุบันไบโอดีเซลแพงกว่าเนื้อน้ำมันดีเซลกว่าเท่าตัว รวมทั้งขอให้ยกเลิกการคำนวณค่าขนส่งน้ำมันของไทยที่เทียบกับราคาตลาดสิงคโปร์ที่รวมอยู่ในต้นทุนด้วย
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี ประเมินว่า นับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ภาคธุรกิจไทยประสบปัญหากับภาวะต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มอัตรากำไรของธุรกิจลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น 5.7% กระทบผู้ประกอบการแบกภาระสูงกว่า 4.16 แสนล้านบาท ฉุดกำไรต่อยอดขายของธุรกิจลดลง 4.5%.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นิกรหักเพื่อไทย เตือนส่อผิดกม. ให้กมธ.ตีความ
“นิกร” หักข้อเสนอ “ชูศักดิ์” เลยช่วงเวลาแปลงร่างประชามติเป็นกฎหมายการเงินแล้ว
ตั้งกก.สอบผกก.บางซื่อ ทนายปาเกียวเล็งทิ้งตั้ม
“ดีเอสไอ” เตรียมสรุปสำนวนคดี 18 บอสดิไอคอนเสนออัยการคดีพิเศษภายใน 20 ธ.ค.นี้
จ่อส่งคดีหมอบุญให้DSI
ตร.สอบปากคำอดีตภรรยา-ลูกสาว “หมอบุญ” เพิ่มเติม
‘สนธิ’ลั่นการเมืองใกล้สุกงอม!
“อุ๊งอิ๊ง” เมินปม กกต.สอบครอบงำต่อ เด็ก พท.ยันเป็นการดำเนินการตามปกติ
ทักษิณรอดคลุมปี๊บ! ส้มเหลวปักธงอุดรธานี ‘คนคอน’ตบหน้า‘ปชป.’
เลือกตั้ง อบจ. 3 จังหวัด “เพชรบุรี-อุดรธานี-นครศรีธรรมราช” ราบรื่น
‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ
“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป