ผู้ป่วยโควิดลด พูดคนละทาง โรคประจำถิ่น

ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันลดลงเหลือ  1.6 หมื่นราย แต่เสียชีวิตพุ่ง 124 ราย ส่วน 7 วันสงกรานต์ติดเชื้อเพิ่ม 146,474 เอาไงแน่! กรมควบคุมโรค ยัน 1 ก.ค.จะเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้ตามคาดหมายเดิม แต่ "อนุทิน" ปฏิเสธไม่มีใครพูด 1 ก.ค.ให้เป็นโรคประจำถิ่น

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า  พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 16,994 ราย ติดเชื้อในประเทศ  16,896 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ  16,847 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 49 ราย  มาจากเรือนจำ 22 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ  76 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 25,910 ราย อยู่ระหว่างรักษา  205,514 ราย อาการหนัก 2,123 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 939 ราย ภาพรวมการติดเชื้อช่วง 7 วันสงกรานต์  ตั้งแต่วันที่ 11-17 เม.ย.65 รวม 146,474 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 124 ราย เป็นชาย 66 ราย หญิง 58 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 111 ราย มีโรคเรื้อรัง 12  ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 1 ราย ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,046,953 ราย  มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน  3,814,433 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563  จำนวน 27,006 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 504,751,970 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 6,223,035 ราย

 สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่  กรุงเทพฯ 2,943 ราย ชลบุรี 704 ราย นนทบุรี 599  ราย นครศรีธรรมราช 547 ราย สมุทรปราการ 522 ราย  ขอนแก่น 483 ราย บุรีรัมย์ 469 ราย ร้อยเอ็ด 455  ราย สมุทรสาคร 384 ราย นครปฐม 341 ราย

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงว่า การเข้าสู่โรคประจำถิ่นเกณฑ์สำคัญคืออัตราการครองเตียง ระบบสาธารณสุขรองรับได้อย่างไร สำหรับโอมิครอนผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรืออาการค่อนข้างน้อย ถ้าไม่มีสายพันธุ์ใหม่เข้ามา คนวัยทำงานหรือคนวัยเรียนติดเชื้ออาการไม่มาก จำนวนผู้ติดเชื้อจึงมีผลน้อยต่อการปรับเป็นโรคประจำถิ่น ถ้าเป็นไปตามการคาดการณ์ เราจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้ตามที่คาดหมายเดิม คือวันที่ 1 ก.ค.65

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมรับมือสถานการณ์โควิด-19 หลังหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ว่า ตอนนี้เน้นเรื่องเวชภัณฑ์ สถานพยาบาลให้มีความพร้อมอย่างเต็มที่ เราจะให้การดูแลผู้ป่วยที่จะเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล โดยต้องเป็นผู้ป่วยที่มีอาการและเป็นผู้ป่วย 608 และผู้สูงอายุเป็นพิเศษ สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการก็รักษาตามแบบฉบับที่ได้ดูแลกันมาโดยตลอด ทั้ง HI เข้ารับรักษาที่โรงพยาบาล หากไม่มีอาการใดก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกินยาฆ่าไวรัสโควิด-19

รมว.สาธารณสุขกล่าวว่า สำหรับมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมเสนอที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันศุกร์ที่ 22 เมษายนนี้นั้น คือต้องผ่อนคลายเพื่อให้ทุกบริบทเดินไปได้ ทั้งเศรษฐกิจ การทำมาหากิน และความสะดวกของประชาชน โดยต้องไม่กระทบต่อความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อ

เมื่อถามถึงแผนที่จะปรับให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ เมื่อดูจากตัวเลขปัจจุบันแล้วส่งผลกระทบต่อแผนดังกล่าวหรือไม่ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ตัวเลขปัจจุบันเราดูแล้วไม่มีอะไรแตกต่างกันไป ที่ผ่านมา 3-4 เดือน อัตราส่วนต่างๆ เป็นไปตามหลักสากล  และยังไม่มีใครประกาศว่าวันที่ 1 กรกฎาคมจะเป็นโรคประจำถิ่น เราวางแผนไว้ว่าทำได้เร็วก็จะทำให้เร็วตามความจำเป็น ของพวกนี้กะเกณฑ์ไม่ได้ แต่ขอไปอย่างหนึ่งว่าขอให้เรามีความพร้อมในทุกๆ ด้าน นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เมื่อมีความพร้อมก็จะประกาศให้เป็นหลัก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปชน.ขนทัพใหญ่ หาเสียงทิ้งทวน! หวังปักธง‘สีส้ม’

“ปชน.” ปูพรมโค้งสุดท้าย ขนทัพใหญ่ดาวกระจาย 6 สายทั่วพื้นที่ “ปิยบุตร” ขอโอกาสปักธงสีส้ม “พิธา” เชื่อคะแนนยังสูสี พรรคประชาชนมีโอกาสพลิกชนะ