ผวาโควิดหลังเทศกาลศบค.บี้ตรวจATK

ไทยพบติดเชื้อต่ำกว่า 2  หมื่นครั้งแรก อยู่ที่ 17,775 ราย แต่ยอดดับทำสถิติใหม่อีก 128 ราย รัฐบาลผวาคลัสเตอร์สงกรานต์ วอนจับตา 7 วันหลังเทศกาล แนะทุกภาคส่วนตรวจ ATK ก่อน เลขาฯ สมช.คาดสัปดาห์นี้ ศบค.ถกใหญ่เพื่อประเมินและวางแผนสถานการณ์ระยะต่อไป

เมื่อวันที่ 17 เมษายน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 17,775 ราย ติดเชื้อในประเทศ 17,608 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 17,607 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1 ราย, มาจากเรือนจำ 85 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 82 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 24,545 ราย อยู่ระหว่างรักษา 214,554 ราย อาการหนัก 2,079 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 911 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 128 ราย เป็นชาย 72 ราย หญิง 56 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 106 ราย มีโรคเรื้อรัง 20 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 2 ราย ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,029,959 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,788,523 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 26,882 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 504,337,880 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 6,221,910 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 3,168 ราย, ชลบุรี 654 ราย, ขอนแก่น 641 ราย, สมุทรปราการ 552 ราย, นนทบุรี 538 ราย, นครศรีธรรมราช 464 ราย, บุรีรัมย์ 448 ราย, สมุทรสาคร 389 ราย, สงขลา 380 ราย และร้อยเอ็ด 371 ราย

ทั้งนี้ สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.ระบุรายละเอียดถึงผู้ติดเชื้อจำนวน 3,168 ราย ว่าเป็นผู้ป่วยอยู่ใน กทม. 2,887 ราย และป่วยอยู่ต่างจังหวัดเข้ารักษา รพ.ใน กทม. 281 ราย ซึ่ง 10 เขตติดเชื้อสูงสุด คือ ราชเทวี 281 ราย, จอมทอง 197 ราย, บางซื่อ 141 ราย, บางบอน 140 ราย, บางขุนเทียน 139 ราย, สะพานสูง 138 ราย, หนองแขม 124 ราย, บางเขน 123 ราย, บางกอกน้อย 103 ราย และหลักสี่ 98 ราย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยประชาชนทุกคน โดยวันที่ 18 เม.ย.จะเป็นวันแรกของการทำงานภายหลังวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ โดยขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งภาคเอกชน ห้างร้าน สังเกตอาการและเน้นตรวจ ATK ของพนักงาน บุคลากร ก่อนเริ่มปฏิบัติงานในสถานที่ทำงานตามมาตรการควบคุมโรค ถือเป็นการแบ่งเบาภาระและช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ด้วย

ด้าน พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ภาพรวมถือว่าได้รับความร่วมมือจากประชาชนและภาคเอกชนเป็นอย่างดี ในขณะที่ส่วนราชการต่างๆ ได้ทำหน้าที่อย่างแข็งขันตามนโยบายและข้อสั่งการต่างๆ ตามที่ พล.อ.ประยุทธได้มอบไว้ แต่นายกฯ ยังมีความห่วงใย และเน้นย้ำขอความร่วมมือประชาชน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและทุกภาคส่วน ขอให้ความสำคัญกับช่วง 7 วันหลังเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 18 ถึงวันที่ 24 เม.ย.ที่จะถึงนี้ ขอให้ทุกคนที่ได้ร่วมกิจกรรมและเดินทางในช่วงสงกรานต์ได้เฝ้าระวังสังเกตอาการตนเองและครอบครัว รักษาระยะห่าง หากไม่มั่นใจขอให้ตรวจ ATK ด้วยตนเอง หรือขอเข้ารับการตรวจ ณ จุดบริการที่ทางราชการจัดตั้งขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน หากพบว่าติดเชื้อขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกไว้ให้แล้วอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้มีการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ทั้งนี้ มาตรการที่สำคัญที่จะช่วยป้องกันได้เป็นอย่างดีคือการร่วมมือกันบริหารจัดการให้มีการทำงานที่บ้าน  หรือ Work from home ของทั้งส่วนราชการและภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดอย่างได้ผล

 “นายกฯ ยังได้สั่งการให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ สธ. คณะกรรมการโรคติดต่อทุกจังหวัดและกรุงเทพฯ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ จัดให้มีบริการการตรวจ ATK ให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็ว รวมทั้งให้กำกับการยกระดับแผนการเตรียมความพร้อมรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ระดับต่างๆ ตามที่ได้เคยสั่งการไว้แล้ว” พล.อ.สุพจน์ระบุ 

เมื่อถามถึงตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ยังไม่ลดลง พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า เรื่องนี้นายกฯ ได้ติดตามและสั่งการให้มีการเตรียมการในทุกวิถีทางมาตั้งแต่ต้น ซึ่งผู้เสียชีวิต 90% ยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยง เป็นกลุ่มผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งเรื่องนี้ได้กำชับให้ดูแลรักษาพยาบาลอย่างเต็มความสามารถเพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วยอาการหนักมาก มีการรณรงค์ให้กลุ่มเสี่ยง (กลุ่ม 608) ได้ระมัดระวังและเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคงต้องทำความเข้าใจและรณรงค์อย่างกว้างขวางต่อไป เพื่อป้องกันให้มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 น้อยที่สุด

“การดำเนินการเกี่ยวกับสถานการณ์ในระยะต่อไป คาดว่า ศบค.จะเรียกประชุมคณะกรรมการภายในสัปดาห์นี้เพื่อรับทราบและประเมินสถานการณ์ และพิจารณาแนวทางต่างๆ เพิ่มเติม นอกจากนี้จะได้มีการพิจารณาสิ่งที่ต้องเตรียมการสำหรับอนาคตที่นายกฯ ได้สั่งการไว้คือการเตรียมความพร้อมของการเปิดภาคเรียน และการปรับมาตรการการเข้า-ออกประเทศทั้งทางอากาศ ทางบก และทางน้ำ รวมทั้งมาตรการต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ ให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและรายได้ของประชาชน รวมทั้งการพิจารณาเงื่อนไขและความสอดคล้องที่จะนำไปสู่แผนการปรับโรคโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่นในระยะยาวควบคู่ไปด้วย” พล.อ.สุพจน์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง