จยย.ครองแชมป์ เซ่น‘เมาแล้วขับ’ 3วันดับ113ชีวิต

ศปถ.แจงยอดอุบัติเหตุสงกรานต์ 3 วัน ดับแล้ว 113 ราย ดื่มแล้วขับ รวมทั้งซิ่งแหลกยังคงสูสีทำสถิติ  อธิบดี ปภ.บอกมอเตอร์ไซค์เสียชีวิตสูงสุด เหตุไม่สวมหมวกกันน็อก กรมคุมประพฤติระบุยอดเมาขับต่ำกว่าปีที่แล้ว

เมื่อวันที่ 14 เมษายน นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม  อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน  (ศปถ.) แถลงสถิติอุบัติเหตุวันที่ 3 ของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” ว่าเกิดอุบัติเหตุ  331 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 40 ราย ผู้บาดเจ็บ 323 คน โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ  30.51% ขับรถเร็วเกินกำหนด 30.21% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์  81.36% รถปิกอัป 7.10% ส่วนใหญ่เกิดบนถนนกรมทางหลวง 38.97% ถนนใน อบต./หมู่บ้าน  35.95% บริเวณจุดเกิดเหตุเป็นทางตรง 75.53%  ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา  17.01-18.00 น. คิดเป็น 10.27% ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี หรือ 22.59%  โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรีและเชียงใหม่ รวม 15 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่  สมุทรสาคร 5 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่  กาญจนบุรี 15 คน

นายบุญธรรมแถลงอีกว่า เจ้าหน้าที่ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,903 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 56,270 คน  เรียกตรวจยานพาหนะ 413,877 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 79,025 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่  22,297 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 20,771 ราย ทั้งนี้สถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 3 วัน (วันที่ 11-13  เม.ย.) เกิดอุบัติเหตุรวม 869 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 113 ราย  ผู้บาดเจ็บ 853 คน โดยสาเหตุหลักยังคงเกิดจากการขับรถเร็วและการดื่มแล้วขับ ทั้งนี้ พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด คือ ไม่สวมหมวกนิรภัย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ ขอนแก่นและนครศรีธรรมราช 33 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่  สมุทรสาคร 6 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่  นครศรีธรรมราช 36 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตรวม 27  จังหวัด

“สถิติอุบัติเหตุทางถนนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในช่วง 3  วันที่ผ่านมา พบว่ารถจักรยานยนต์เป็นประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด โดยมีสาเหตุสำคัญจากการขับรถเร็ว และไม่สวมหมวกนิรภัย ส่งผลให้มีอัตราการเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุค่อนข้างสูง ศปถ.จึงได้เน้นย้ำให้จังหวัดปรับมาตรการและวางแผนจัดตั้งจุดตรวจให้สอดคล้องสถานการณ์ โดยเฉพาะผู้ดื่มแล้วขับและขับรถเร็วในกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นพิเศษ รวมทั้งการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าประเทศไทยตอนบนอาจมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ซึ่งสภาพถนนเปียกลื่นและทัศนวิสัยในการขับขี่ไม่ดีอาจเพิ่มความเสี่ยงอุบัติเหตุ จึงขอฝากเตือนประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง และสวมใส่อุปกรณ์นิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่”

ด้านนายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ ระบุว่า สถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติวันที่ 3 ของ 7  วันอันตราย (13 เม.ย.65) มีคดีทั้งสิ้น 1,225 คดี  เป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 1,083 คดี ศาล

สั่งติด EM 7 ราย คดีขับรถประมาท 5 คดี คดีขับเสพ  137 คดี โดย จ.สุรินทร์ยังคงครองคดีเมาขับอันดับหนึ่ง  190 คดี รองลงมา กทม. 131 คดี และอุบลราชธานี  123 คดี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีในวันที่ 3 ของ 7  วันอันตรายปี 2564 พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรา  1,398 คดี และปี 2565 จำนวน 1,083 คดี ลดลง  315 คดี หรือ 22.53%

ในส่วนการติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือกำไล EM กับผู้กระทำผิดเมาแล้วขับมีตัวเลขสะสม 3  วันอยู่ที่ 9 ราย โดยมีเงื่อนไขห้ามออกจากที่พักอาศัยในช่วงเวลาตั้งแต่ 19.00-05.00 น. เป็นระยะเวลา 7  วัน ทั้งนี้ สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศเฝ้าติดตามและควบคุมดูแลผู้กระทำผิดตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านศูนย์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว พร้อมประสานเครือข่ายภาคประชาชน อาสาสมัครคุมประพฤติ เตรียมพร้อมลงพื้นที่หากมีการผิดเงื่อนไขคุมความประพฤติ

สำหรับยอดสะสม 3 วันของ 7 วันอันตราย  (11-13 เม.ย.65) 2,807 คดี จำแนกเป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 2,334 คดี คิดเป็น 83.15% คดีขับเสพ​ 455 คดี คิดเป็น 16.21% และคดีขับรถประมาท 18 คดี คิดเป็น  0.64%.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง