เคาะลดกักตัวเสี่ยงสูงเหลือ5+5วัน

ไทยติดเชื้อเพิ่ม 2.2 หมื่นราย ดับยัง​พุ่งเกินร้อย นายกฯ สั่งดูแลกลุ่ม 608 ใกล้ชิด ศบค.แจงยังไม่อนุมัติจัดหายาแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาวกลุ่มภูมิต่ำ คกก.โรคติดต่อเคาะลดวันกักตัวเสี่ยงสูงเหลือ 5 วัน สังเกตอาการอีก 5 วัน เริ่มใช้หลังสงกรานต์ วัคซีนสู้สายพันธุ์  BA.2 ดีกว่า BA.1 แต่ต้องบูสต์เข็ม 3

เมื่อวันที่ 11 เมษายน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)  รายงานสถานการณ์โควิด-19  ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 25,139 ราย ติดเชื้อในประเทศ  22,282 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ  21,977 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 305  ราย มาจากเรือนจำ 18 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 87 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 27,680 ราย อยู่ระหว่างรักษา 245,575 ราย อาการหนัก 2,065  ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 856 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น  105 ราย เป็นชาย 57 ราย หญิง 48 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 85 ราย มีโรคเรื้อรัง 17 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,905,872  ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน  3,634,109 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี  2563 จำนวน 26,188 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่  กทม. 3,174 ราย ชลบุรี 1,036 ราย นครศรีธรรมราช 831 ราย นนทบุรี 784 ราย สมุทรปราการ  766 ราย ขอนแก่น 650 ราย นครปฐม 602 ราย  สมุทรสาคร 571 ราย ร้อยเอ็ด 553 ราย และบุรีรัมย์  498 ราย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการประชุมของศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ว่า ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงผลการประชุม ศบค.เมื่อวันที่  8 เม.ย. ที่ปรากฏความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเรื่องแผนการจัดหา Long-acting antibody (LAAB)  ใน 2 ประเด็น โดยชี้แจงว่า 1.LAAB ไม่ได้ใช้ทดแทนวัคซีน แต่จะใช้เสริมให้กลุ่มที่ภูมิต่ำ หรือภูมิไม่ขึ้นหลังฉีดวัคซีน โดยวัคซีนยังคงเป็นตัวหลักในการควบคุมโรคในปัจจุบัน 2.การจัดหา LAAB ยังต้องรอผลการศึกษาความคุ้มค่าและผลที่จะเกิดขึ้นตามมาจากกระทรวงสาธารณสุขก่อน จึงจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

 “ยืนยันว่าที่ประชุม ศบค.ยังไม่มีการอนุมัติหรือเห็นชอบการจัดหายาแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว หรือ LAAB  สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งนายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.ขอให้กระทรวงสาธารณสุขกลับไปศึกษาและจัดทำรายละเอียดให้รอบด้าน ก่อนนำกลับมาเสนอที่ประชุม ศบค.อีกครั้ง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยเรื่องการเสียชีวิตในกลุ่ม 608 โดยได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลกลุ่ม 608 อย่างใกล้ชิด พร้อมกับขอให้กระทรวงมหาดไทยติดตามและดูแลการปฏิบัติตามหนังสือสั่งการของปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้โรงพยาบาลพิจารณาปรับแนวทางการดูแลกลุ่ม 608" นายธนกรระบุ 

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2565 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ลดวันกักตัวในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 5+5 คือกักตัว 5 วัน และสังเกตอาการอีก 5 วัน จากเดิมให้กักตัว 7 วัน และสังเกตอาการ 3 วัน สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ต้องแจ้งให้ที่ประชุม ศปก.ศบค.รับทราบเพื่อดำเนินการต่อไป คาดเริ่มใช้มาตรการลดวันกักตัวหลังสงกรานต์นี้

 โดยขณะนี้พบผู้ติดเชื้อในทุกจังหวัด แต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการมากในกลุ่มสีเหลืองและสีแดงต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล อัตราครองเตียงประมาณ 30% ซึ่ง สธ.ได้เตรียมพร้อมยาต้านไวรัสที่จะใช้รักษาผู้ป่วยโควิด ทั้งยาฟาวิพิราเวียร์, ยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิด รวมถึงจัดหาเวชภัณฑ์ซึ่งเป็นสารภูมิคุ้มกันชนิดออกฤทธิ์ยาว สำหรับฉีดในผู้ที่มีความเสี่ยงและมีภูมิคุ้มกันต่ำเพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อจนมีอาการหนัก ส่วนการฉีดวัคซีนโควิดภาพรวมไปแล้วกว่า  130 ล้านโดส ครอบคลุมเข็มแรกกว่า 80% เข็มที่สอง  73% และเข็มที่สาม 35% แต่ยังมีผู้สูงอายุอายุ 60  ปีขึ้นไป และผู้ป่วยติดเตียงจำนวนหนึ่งที่เดินทางไม่สะดวก ทำให้ยังไม่ได้รับวัคซีน ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาจึงมีการรณรงค์ Save 608 by booster dose เร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวเรื่องภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ย่อย BA.2

โดย นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ขณะนี้การระบาดในประเทศไทยเป็นโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 ถึง 95.9%  คาดว่าอีก 1-2 สัปดาห์จะมาแทนที่การระบาดของสายพันธุ์ BA.1 เป็น 100% ขณะนี้ฉีดเข็มกระตุ้นไปแล้ว  35-36% ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้ศึกษาผลของภูมิคุ้มกันที่มีต่อไวรัสด้วยวิธี Plaque Reduction  Neutralization Test (PRNT) ทั้งกรณีได้รับวัคซีน 2 เข็ม และ 3 เข็ม พบว่าวัคซีนทุกสูตรให้ระดับภูมิคุ้มกันที่ต่อสู้กับไวรัสโอมิครอน BA.2 ได้มากกว่า  BA.1 ดังนั้น ข้อกังวลว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 จะหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้มากกว่าจึงไม่น่าเป็นจริง อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีน 2 เข็ม แม้จะเป็นช่วง 2 สัปดาห์หลังฉีด พบว่าภูมิคุ้มกันต่อ BA.2 ไม่ได้สูงมากนัก ดังนั้น ถ้าฉีด 2 เข็มมาแล้วหลายเดือน ภูมิคุ้มกันจะยิ่งน้อยลง แต่เมื่อฉีดกระตุ้นเข็ม 3 พบว่าภูมิคุ้มกันขึ้นในระดับสูงมากต่อไวรัสโอมิครอน BA.2 จึงขอแนะนำให้ฉีดเข็มกระตุ้นโดยเร็ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟ้องต้นตอหมอคางดำ

สภาทนายความฯ เตรียมฟ้องแพ่งบิ๊กเอกชน-หน่วยงานรัฐ ต้นตอ "เอเลี่ยนสปีชีส์"

‘เนวิน’รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดมิวสิคัลเทิดพระเกียรติ

“เนวิน” รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา แสดง แสง สี เสียง มิวสิคัล “ลมหายใจของแผ่นดิน” โดยบุรีรัมย์ออร์เคสตรา แสดงความจงรักภักดี 28-30 ก.ค.2567 สนามช้างอารีนา บุรีรัมย์