คนกทม.เกินครึ่ง ยังไม่คิดเลือกใคร

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ลุ้นกันตัวโก่ง! โพลชี้คนกรุงเกินครึ่งหรือ 55.6% ยังไม่ตัดสินใจเลือกใคร เตือนชนะในโพลเลือกตั้งจริงอาจแพ้ "ปชป." โชว์รับผิดชอบสังคม สั่งรื้อป้ายขวางทาง ปชช.ทุกแห่ง "ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม." ต่างเร่งลงพื้นที่ขอคะแนนเสียง


เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนจำนวน 1,081 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 6-8 เม.ย.ที่ผ่านมา เรื่อง "ผู้ว่าฯ ในความฝันของคน กทม." พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 82.0 ระบุเห็นด้วยว่าผู้ชนะในโพลอาจพ่ายแพ้ในวันเลือกตั้ง ในขณะที่ร้อยละ 18.0 ไม่เห็นด้วย ที่น่าสนใจคือเมื่อสอบถามผู้ว่าฯ ในความฝันของคน กทม. พบเกินครึ่งหรือร้อยละ 55.6 อยากได้ผู้ว่าฯ กทม.เป็นนักบริหารแก้ปัญหาเก่ง วัยหนุ่มมีประสบการณ์ กล้าสู้ กล้าชน รองลงมาร้อยละ 25.4 อยากได้นักบริหารสูงวัย เคยมีตำแหน่งทางการเมือง เช่น รัฐมนตรี, ร้อยละ 21.7 อยากได้นักเคลื่อนไหวทางสังคม ต่อต้านรัฐบาลคอร์รัปชัน, ร้อยละ 16.3 อยากได้อดีตมีตำแหน่งบริหาร กทม., ร้อยละ 16.3 อยากได้อดีตนักวิชาการ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย, ร้อยละ 14.9 อยากได้อดีต ส.ส. และร้อยละ 16.4 ระบุอื่นๆ


ถามถึงความฝันของคน กทม. ต่อความเป็นเมืองที่อยากได้ พบร้อยละ 52.3 ระบุเมืองแห่งความปลอดภัย, ร้อยละ 49.3 เมืองแห่งสวัสดิการ เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษา บ้านพักคนชรา, ร้อยละ 45.3 เมืองแห่งสุขภาวะและการแพทย์, ร้อยละ 42.5 เมืองแห่งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว, ร้อยละ 41.4 เมืองแห่งการศึกษานานาชาติ, ร้อยละ 35.8 เมืองแห่งการลงทุนนานาชาติ, ร้อยละ 35.6 เมืองแห่งความเท่าเทียมทางเพศ สมรสเท่าเทียม, ร้อยละ 28.5 เป็นมหานครแห่งความบันเทิง สถานบันเทิงเปิดได้ 24 ชั่วโมง และร้อยละ 13.6 เปิดบ่อนเสรีใน กทม. ตามลำดับ


ที่น่าสนใจ ผลสำรวจระบุว่า เกือบครึ่ง หรือร้อยละ 48.7 ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ในขณะที่ร้อยละ 20.3 ระบุนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รองลงมาร้อยละ 9.8 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์, ร้อยละ 7.1 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง, ร้อยละ 5.7 นายสกลธี ภัททิยกุล, ร้อยละ 2.5 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร และร้อยละ 5.9 ระบุอื่นๆ น.ส.รสนา โตสิตระกูล น.ต.ศิธา ทิวารี เป็นต้น
ผศ.ดร.นพดลกล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าความฝันของคน กทม. อยากได้ผู้ว่าฯ กทม.เป็นนักบริหาร โดดเด่นมากกว่า คุณสมบัติอื่นๆ และลักษณะเมืองกรุงเทพมหานครที่คน กทม.ต้องการเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวของประชาชน เช่น เมืองแห่งความปลอดภัย เมืองแห่งสวัสดิการ เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษา บ้านพักคนชรา เมืองแห่งสุขภาวะ และการแพทย์ เมืองแห่งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการศึกษา ในขณะที่ การลงทุนนานาชาติและอื่นๆ น่าจะเป็นเรื่องที่ออกไกลตัวของประชาชนส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ ที่สำรวจพบในครั้งนี้


ชี้คนกรุงยังไม่ตัดสินใจ


"ความตั้งใจจะเลือกของคน กทม.ต่อผู้สมัครในวันนี้ จะพบว่าเกือบครึ่งยังไม่ตัดสินใจ และส่วนใหญ่ยังเห็นว่าคนที่ชนะในผลโพลอาจจะแพ้ในวันเลือกตั้งได้ อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มคน กทม.ที่ตัดสินใจแล้ว พบว่ากลุ่มผู้สมัคร 3 คนที่มีคะแนนเกาะติดกันเป็นกลุ่ม ได้แก่ นายสุชัชวีร์, พล.ต.อ.อัศวิน และนายสกลธี ในขณะที่นายชัชชาติมีคะแนนนำโดดเด่นออกไป แต่จะพบว่าถ้ารวมคะแนนของผู้สมัคร 3 คนเหล่านั้นเข้าด้วยกัน จะมีคะแนนที่มากกว่าคะแนนของนายชัชชาติ ดังนั้นใครต้องการชนะจะต้องเสนอภาพ แสดงฝีมือนักบริหารให้คน กทม.เห็น และน่าจะได้คะแนนจากกลุ่มคนที่ยังไม่ตัดสินใจเข้ามาเพิ่มเติมได้" ผอ.ซูเปอร์โพลระบุ


ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรค ปชป. ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก. ของพรรคด้านสื่อสาร กล่าวถึงปัญหาป้ายหาเสียงของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. รวมถึง ส.ก. มีบางส่วนกีดขวางเส้นทางสัญจรว่า พรรคได้เปิดรับแจ้งข้อมูลผ่านช่องทางต่างๆ และเมื่อทางศูนย์อำนวยการเลือกตั้งฯ รับเรื่อง ก็ได้เร่งดำเนินการแก้ไขให้ในทันที ซึ่งหากใครพบป้ายหาเสียงของพรรคกีดขวางเส้นทางสัญจร สามารถแจ้งข้อมูลมาได้ทันทีผ่านช่องทางเพจ Modern BKK ที่ https://www.facebook.com/DemBangkok หรือติดต่อโดยตรงได้ที่เบอร์มือถือของผู้สมัคร ส.ก.ในแต่ละเขต เมื่อได้รับแจ้งข้อมูลแล้วจะเร่งดำเนินการให้ในทันที


"พรรคมีความตั้งใจหาเสียงและทำงานการเมืองบนความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม รวมถึงพยายามปรับรูปแบบของป้ายหาเสียงให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับพื้นที่ และหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด และพร้อมจะดำเนินการแก้ไขปรับปรุงทันทีที่ทราบข้อมูล" รอง ผอ.ศูนย์เลือกตั้งฯ พรรค ปชป.ระบุ


ขณะที่นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.พรรค ปชป. ลงพื้นที่บางรัก บริเวณชุมชนพิพัฒน์ 2 โดยนำเสนอนโยบายหากได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะดูแลคนกรุงเทพฯ ให้ครบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น 1.มิติของแสงสว่าง 2.มิติของความปลอดภัย ระบบกล้องอัจฉริยะใช้ตรวจจับความผิดปกติ ระบบ AI วัดและประมวลผลเพื่อแก้ปัญหาการจราจร 3.มิติของสิ่งแวดล้อม มีเซ็นเซอร์วัดฝุ่น PM 2.5 และสภาพมลพิษทางอากาศ รวมทั้งใช้ระบบโซลาร์เซลล์ และ 4.มิติของการให้บริการอินเทอร์เน็ต


"วันนี้เราสามารถเปลี่ยนชุมชนพิพัฒน์ 2 ให้มีแสงสว่าง เปลี่ยนชุมชนให้มีความปลอดภัยได้แล้ว ผมพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชน รับรู้ได้ถึงความสุขของเขา และมั่นใจว่าคุณภาพชีวิตของพวกเขาจะดีขึ้นอย่างแน่นอน และในอนาคตทุกชุมชนจะต้องมีลักษณะแบบนี้ เป็น Smart Community เพื่อรองรับ Smart City รวมทั้งในอนาคตกรุงเทพฯ จะต้องติดตั้งเสาไฟ 4 มิติเพิ่มมากขึ้น" นายสุชัชวีร์กล่าว


ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. กลุ่มอิสระ พร้อมด้วย น.ส.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หัวหน้าทีมนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อนชัชชาติ และนางปวีณา หงสกุล อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ขึ้นขบวนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) หาเสียงแบบรักเมือง พื้นที่เขตดอนเมือง บางเขน


นายชัชชาติกล่าวว่า ปัญหา PM 2.5 เป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้ว่าฯ กทม.ต้องดูแล เราต้องประกาศเลยว่าอากาศบริสุทธิ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน กทม.ต้องจริงจังกับการกำจัดต้นตอของฝุ่น PM 2.5 เช่น ไซต์ก่อสร้าง แพลนต์ปูน ฯลฯ ร่วมมือกับกรมขนส่งทางบกในการตรวจจับรถยนต์ หรือร่วมกับรัฐบาลสนับสนุนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า
ผู้สมัครผู้ว่าฯ เร่งลงพื้นที่


ส่วน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.อิสระ ลงพื้นที่ตลาดเช้าวัดรวกบางบำหรุ ซ.จรัญสนิทวงศ์ 57 พร้อมนายพงษ์ศกร ฟุ้งเฟื่อง ผู้สมัคร ส.ก.เขตบางพลัด รับฟังปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย


พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า ในเขตบางพลัด ช่วงที่มีการระบาดของโควิดประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ซึ่ง กทม.ได้มาทำศูนย์พักคอย ทำโรงพยาบาลสนามเพื่อดูแลผู้ติดเชื้อ จัดทีมแพทย์พยาบาลเข้าไปฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน นอกจากนี้ได้ยังได้ติดไฟฟ้าส่องสว่างตามถนน ติดกล้อง CCTV ให้กับชุมชน ปรับปรุงทางเท้าเนื่องจากในพื้นที่มีปัญหาถนนคับแคบแต่มีผู้คนสัญจรไปมาเป็นจำนวนมาก จึงมาขอคะแนนขอโอกาสขอเป็นผู้ว่าฯ อีกครั้ง


นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อิสระ ลงพื้นที่ตลาดจตุจักร มีนบุรี และตลาดมีนบุรี โดยระบุว่า ประเด็นเรื่องที่พ่อค้าแม่ค้าต้องการให้ปรับปรุงเรื่องค้าขายบนทางเท้า หาบเร่แผงลอย เพราะตอนนี้เรื่องเศรษฐกิจไม่ดี ทุกคนต้องการค้าขาย อาจจะต้องไปดูว่าเอาที่ว่างที่มีศักยภาพมาพิจารณาเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้ค้าสามารถค้าขายได้อย่างมีระเบียบและไม่กระทบส่วนอื่นๆ


"ถ้าเป็นที่สาธารณะต้องดู เพราะบางส่วนต้องสมดุลไม่ให้ลำบากต่อคนเดินเท้า การค้าขายเข้าใจได้ แต่ว่าคนที่เดินทางก็คาดหวังที่จะมาเดินไม่มีสิ่งขวางกันทางเดิน ต้องพิจารณาว่าจุดไหนที่พื้นที่ทางเท้าเหลือให้พี่น้องมาขายได้บางช่วงเวลาก็จะนำมาพิจารณาให้กับคนที่รายได้น้อยมีโอกาสใช้ทำมาหากิน" นายสกลธีกล่าว


น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคไทยสร้างไทย พร้อมนายศรัณยู คงสวัสดิ์เกียรติ ผู้สมัคร ส.ก.เขตสัมพันธวงศ์, นายพรภวิษย์ ศุภวรางกูร ผู้สมัคร ส.ก.เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และ น.ส.สุวดี พันธุ์พานิช รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตป้อมปราบฯ สัมพันธวงศ์ พระนคร พรรคไทยสร้างไทยลงพื้นที่ตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ และเดินทางไปท่าเรือภาณุรังษีและบ้านโบราณ โซเฮงไถ่


น.ต.ศิธากล่าวว่า พรรคไทยสร้างไทยต้องการสร้างแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมของ กทม.ทุก 50 เขต เพื่อสร้างพลัง Empower ให้กับคนตัวเล็ก เพื่อให้คน กทม.ทุกคนสามารถทำมาหากินได้อย่างแข็งแรงที่สุดอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับโมเดลตลาดน้อย


วันเดียวกัน แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ภาค กทม. นำโดยนายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาค กทม., นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ผู้อำนวยการเลือกตั้ง ส.ก., นายดนุพร ปุณณกันต์ เลขานุการการเลือกตั้ง ส.ก. และ น.ส.นฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ ผู้สมัคร ส.ก.เขตคลองสามวา ลงพื้นที่ตลาดน้ำบึงพระยา วัดพระยาสุเรนทร์ เขตคลองสามวา พบปะพ่อค้าแม่ค้าสอบถามสถานการณ์เศรษฐกิจ เยี่ยมสินค้าโอท็อปและของดีในชุมชน เพื่อหาหนทางในการส่งเสริมการตลาด เพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน


นายวิชาญกล่าวว่า พรรคนำเสนอ 5 นโยบายหลักคือ กองทุนพัฒนาชุมชน 200,000 บาทต่อปี, 50 เขต 50 โรงพยาบาล, 30 บาทถึงที่หมาย, 437 สถานศึกษาพัฒนาสร้างรายได้ และ 50 เขต 50 ซอฟต์เพาเวอร์ ที่มุ่งลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ กระจายความมั่งคั่งให้แก่คนกรุงเทพฯอย่างถ้วนหน้า ดังนั้นถ้า ส.ก.ของพรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้งเข้าไปเป็นจำนวนมากพอ ก็จะมีโอกาสผลักดันนโยบายให้ประสบความสำเร็จได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง