ศบค.ถกรับมือสงกรานต์ สธ.ศึกษาฉีดวัคซีนเข็ม5

"บิ๊กตู่" นัดถก ศบค.ชุดใหญ่  8 เม.ย. ประเมินสถานการณ์รับมือช่วงเทศกาล คลอดมาตรการจัดกิจกรรมสงกรานต์ ปรับลดนำเข้าแรงงานต่างด้าว  สธ.ชง ศบค.ยกเลิกตรวจ RT-PCR ผู้เดินทางจากต่างประเทศ เหลือแค่ ATK แจงวัคซีนเข็ม 5 ยังอยู่ระหว่างศึกษา คาดฉีดห่างจากเข็ม 4 นานพอควร “อนุทิน” สั่ง รพ.ทุกแห่งจัดวอล์กอินฉีดวัคซีน ขอลูกหลานกลับบ้านพาผู้สูงอายุมาฉีด

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 เมษายน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 26,081 ราย ติดเชื้อในประเทศ 25,921 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 25,675 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 246 ราย, มาจากเรือนจำ 79 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 81 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 26,011 ราย อยู่ระหว่างรักษา 248,057 ราย อาการหนัก 1,846 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 774 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 91 ราย เป็นชาย 56 ราย หญิง 35 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 73 ราย มีโรคเรื้อรัง 17 ราย ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,807,908 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,534,063 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 25,788 ราย ส่วนยอดฉีดวัคซีนวันที่ 6 เม.ย. 291,056 โดส ยอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 130,638,890 โดส 

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 2,926 ราย, ชลบุรี 1,542 ราย, นครศรีธรรมราช 1,059 ราย,  ขอนแก่น 936 ราย, สมุทรปราการ 879 ราย, สมุทรสาคร 753 ราย, ราชบุรี 650 ราย, นนทบุรี 611 ราย, ร้อยเอ็ด 599 ราย และสงขลา 582 ราย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จะมีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ในวันที่ 8 เมษายน โดยคาดว่าจะมีวาระสำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับและสนับสนุนการเดินทางของพี่น้องประชาชนทั้งไป-กลับภูมิลำเนา รายละเอียดการจัดกิจกรรมสงกรานต์ในแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งการหารือเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในทุกด้าน ตามมาตรการกลางที่ศบค.กำหนด ซึ่งเชื่อมั่นว่าหากประชาชนให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตนตามมาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัด จะสามารถรับมือได้ แม้จะมีการคาดการณ์ช่วงหลังสงกรานต์อาจเพิ่มสูงขึ้น

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ วันที่ 8 เม.ย.นี้ มีวาระที่หน่วยงานเกี่ยวข้องจะรายงานให้ที่ประชุมรับทราบ อาทิ การรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 รวมถึงแนวโน้มการระบาดและจำนวนผู้ติดเชื้อ, รายงานการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK ค่าบริการที่เหมาะสม ตลอดจนการเข้าถึงของประชาชน,  รายงานผลการดำเนินการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าราชอาณาจักรทางบก ทางน้ำและทางอากาศ และแผนการปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักรในระยะต่อไป

ส่วนวาระที่คาดว่าจะนำเข้าพิจารณา อาทิ มาตรการควบคุมโรคแบบบูรณาการ สำหรับการจัดกิจกรรมช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข (ศปก.สธ.) ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้จะพิจารณาแผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ขณะที่กระทรวงแรงงาน เตรียมเสนอแนวทางการปรับลดมาตรการการนำเข้าแรงงานต่างด้าว เข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจ และการนำแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาและเมียนมา เข้ามาทำงานตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่จังหวัดที่ดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นให้แก่ผู้สูงอายุได้ตามเป้าหมายมากกว่า 70% ได้แก่ น่าน นนทบุรี สมุทรปราการ ภูเก็ต มหาสารคาม และลำพูน ในกิจกรรมสงกรานต์สุขใจ ปลอดภัยทั่วไทย สูงวัยได้รับวัคซีนว่า ก่อนเดินทางกลับบ้านช่วงสงกรานต์ ขอให้ประชาชน Self Clean Up ตัวเอง 1 สัปดาห์ งดการรวมกลุ่ม ไม่ไปสถานที่เสี่ยง ฉีดวัคซีนให้ครบ และตรวจ ATK ก่อนเดินทางเพื่อลดความเสี่ยงในการเอาเชื้อไปแพร่ให้คนในครอบครัว หากตรวจพบติดเชื้อ งดการเดินทางไปก่อน แยกตัวและรักษา

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือผู้ที่เดินทางกลับบ้านช่วงสงกรานต์ มีเวลาอยู่บ้าน 4-5 วัน น่าจะมีช่วงเวลาที่เหมาะสมพาบุพการี ผู้สูงอายุในบ้าน หรือผู้ยังไม่ยอมรับวัคซีน ขอให้ช่วยกันโน้มน้าวและพามาฉีดวัคซีน นอกจากนี้เราไม่ได้รอให้มาฉีดอย่างเดียว ยังมีหน่วยเชิงรุกออกไปฉีดพื้นที่ต่างๆ และขอร้องให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเร่งทำการรณรงค์อธิบายสร้างความเข้าใจแก่ผู้สูงอายุให้ยอมฉีดวัคซีนด้วย

"ไทยฉีดวัคซีนมากกว่า 130 ล้านโดส วัคซีนทำงาน ทำหน้าที่ตรงความคาดหวัง แต่มีจุดเดียวที่ไม่ตรงความคาดหวัง คือ ผู้สูงอายุมี 2 ล้านคนยังไม่ได้รับวัคซีน การเร่งฉีดผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มทำได้ยากกว่าการรณรงค์ทั่วไป ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือ ทั้งนี้ ขอให้ลูกหลานที่กลับบ้านพาผู้สูงอายุมารับการฉีดวัคซีน โดยจะมีข้อสั่งการถึงสถานพยาบาลในสังกัด สธ.ทั่วประเทศ ให้เตรียมพร้อมบริการวอล์กอินผู้มาฉีดวัคซีนอย่างเต็มที่ และให้นายแพทย์สาธารณสุขทุกจังหวัด ผอ.รพ.ทุกแห่ง และกรมควบคุมโรคจัดเตรียมวัคซีนให้พร้อม ย้ำว่าช่วงสงกรานต์ไม่ต้องฉีดน้ำ  มาฉีดวัคซีนแทน” นายอนุทินระบุ

เมื่อถามถึงกรณีไปเที่ยวต่างจังหวัดแล้วติดเชื้อโควิดจะรับการรักษาอย่างไร  นายอนุทินกล่าวว่า ส่วนใหญ่กว่าจะติดเชื้อน่าจะกลับมาแล้ว แต่ถ้าติดเชื้อต่างจังหวัด หากไม่มีอาการ ให้แยกตัวเองทันที แจ้งยังหน่วยพยาบาลที่ใกล้สุด จะมีข้อสั่งการ รพ.ทุกแห่งในประเทศเตรียมความพร้อมสูงสุดไว้

ด้าน นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูง สธ. ว่า ในที่ประชุม นายอนุทินมีข้อสั่งการสำคัญในช่วงสงกรานต์ 2 เรื่องที่ต้องทำร่วมกันคือ อุบัติเหตุและโควิด-19 ซึ่งจะมีคนเดินทาง จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ จึงมอบให้หน่วยบริการเตรียมรองรับ 7 วันอันตราย ทั้งการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ โดยจะส่งวัคซีนให้ถึงยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) พร้อมให้เตรียมกำลังคน ยา เตียง ทั้งโควิดและอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ รวมถึงให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผอ.รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป ประจำพื้นที่จัดบริการ จัดกำลังคนทำงานรองรับการเจ็บป่วย โดยเฉพาะโควิดที่จะมีการตรวจพบมากขึ้น

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นเป็นเข็มที่ 5 ว่า ข้อมูลที่กรมควบคุมโรครวบรวมและนำเสนอต่อที่ประชุมผู้บริหาร สธ. พบว่าการฉีดวัคซีนโควิดกระตุ้นเข็มที่ 3 มีประโยชน์อย่างแน่นอน การฉีดวัคซีน 2 เข็มช่วยลดอัตราเสียชีวิต 5-6 เท่า การฉีดเข็ม 3 ลดได้ 30-40 เท่า ที่ผ่านมาข้อมูลยืนยันว่าผู้ที่รับวัคซีน 4 เข็มยังไม่มีรายใดที่ติดเชื้อโควิดแล้วเสียชีวิต สำหรับเข็ม 5 เรากำลังรวบรวมข้อมูล โดยการเจาะเลือดตรวจภูมิคุ้มกันในกลุ่มผู้รับวัคซีนเข็ม 3 และ 4 เพื่อดูว่าภูมิคุ้มกันลดลงระดับใด แต่ขณะนี้ข้อมูลยังไม่มากพอที่จะระบุว่าจะฉีดเข็ม 5 เมื่อไร แต่ขอให้ทุกท่านมารับเข็ม 4 ก่อน ซึ่งเข้าใจว่าเข็ม 5 น่าจะห่างจากเข็ม 4 เป็นเวลาพอสมควร

เมื่อถามถึงกรณีเสนอยกเลิกตรวจ RT-PCR เหลือ ATK ต่อ ศบค. นพ.โอภาส กล่าวว่า เป็นข้อเสนอให้ยกเลิกในส่วนของผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย จากเดิมยกเลิกการตรวจก่อนเข้าประเทศ 72 ชั่วโมง เหลือเพียงการตรวจ RT-PCR เมื่อเดินทางมาถึงไทยวันแรกก็จะพิจารณาให้ยกเลิกเช่นกัน โดยจะเสนอ ศบค.วันที่ 8 เม.ย. แต่จะมีผลหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศที่จะเหลือแค่ตรวจ ATK อย่างเดียว ส่วนหลักเกณฑ์การตรวจ RT-PCR ในประชาชนทั่วไปยังเหมือนเดิม คือตรวจเมื่อมีอาการและรักษาตัวใน รพ.เท่านั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง