บัตรเลือกตั้งใช้คนละสี

เคาะบัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก.สีต่างกัน เวทีเสวนานโยบายผู้ว่าฯ กทม.ด้านสังคมหนุนกระจายงบฯกลางผู้ว่าฯ กว่า 1.4 ล้านให้เขต ลงพัฒนาชุมชน ​ขณะที่ "วิโรจน์” ชูเมืองหลวงรัฐสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุ “เอ้” งัดนโยบายอินเทอร์เน็ตฟรี ชูญี่ปุ่นโมเดล​ พร้อมเปิดป้ายหาเสียง 3 มิติ

เมื่อวันที่ 6 เม.ย.65 นายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) กล่าวถึงข้อซักถามของผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เกี่ยวกับสีของบัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก. ว่า ยืนยันว่าสีของบัตรเลือกตั้งทั้งสองแบบจะแตกต่างกันแน่นอน โดยเบื้องต้นถ้าผู้สมัครเขตเลือกตั้งใดมีผู้สมัครไม่ถึง 10 หมายเลข ขนาดของบัตรเลือกตั้งจะเท่ากับกระดาษขนาด A5 ถ้ามากกว่านี้จะเป็นกระดาษขนาด A4 ทั้งนี้ จากการตรวจสอบจำนวนผู้สมัคร ส.ก.ในแต่ละเขตเข้าใจว่าจะใช้บัตรเลือกตั้งเป็นกระดาษขนาด A5  ส่วนผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งมีจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ มากถึง 31 หมายเลข ดังนั้นบัตรเลือกตั้งจะเป็นกระดาษขนาด A4

นายสำราญกล่าวว่า ส่วนสีของบัตรเลือกตั้ง เมื่อทาง กกต.กลางประกาศกำหนดแล้ว สามารถเผยแพร่ให้ผู้สมัครรับทราบได้ แต่รายละเอียดของบัตรจะไม่สามารถเผยแพร่หรือเปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อความสุจริตและเที่ยงธรรม ขณะเดียวกันทาง กกต.กทม.จะต้องกำหนดตราหรือเครื่องหมายเพื่อประทับลงในบัตรเลือกตั้ง ซึ่งจะกำหนดขึ้นมาเป็นรูปแบบพิเศษเพื่อป้องกันการนำบัตรชนิดอื่นมาใช้แทน อย่างไรก็ตาม คาดว่าในเร็วๆ นี้ ทาง กกต.จะนำเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาประกาศสีของบัตรเลือกตั้ง รูปแบบลักษณะ ขนาด และจำนวนบัตรเลือกตั้งที่จะต้องดำเนินการจัดพิมพ์ และขอย้ำว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่าห้ามบุคคลที่เป็นข้าราชการการเมือง ส.ส. ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มาช่วยผู้สมัครหาเสียง ดังนั้น อยากให้บุคคลเหล่านี้ระมัดระวังเพื่อป้องกันการทำผิดกฎหมาย

ที่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์​ จัดเวทีสาธารณะ​ "เสนอไป​ เสนอมา...นโยบายสังคม​ ของผู้ว่าฯ กทม.​ เสียงผู้หญิง​ 2.3 ล้าน​ ชี้ขาด... ใครคือ​ผู้ว่าฯ กทม." โดยนายสกลธี​ ภัททิยกุล​ ผู้สมัครผู้ว่า​ราช​การกรุงเทพ​มหานคร​ หมายเลข​ 3 กล่าวตอนหนึ่งว่า​ อุปสรรคสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคม คือการจัดสรรงบประมาณ​ ย้อนหลังกลับไปช่วง​ 5-10 ปีที่ผ่านมาสำนักงานพัฒนาสังคมของ กทม.เป็นผู้ดูแลเรื่องสังคม​ ได้งบประมาณ​ 200 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น​ ซึ่งไม่ถึงครึ่งเปอร์เซ็นต์​จากงบประมาณ​ทั้งหมดที่ กทม.ได้รับ​ ซึ่งการที่เราดูแลเรื่องสังคมอาจจะไม่ได้เห็นภาพ​เหมือนเราสร้างตึกสร้างถนน​ แต่มีผลที่สามารถแปลงเป็นมูลค่าเงินได้​ ถ้าตนได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม.​ งบประมาณส่วนนี้จะต้องปรับปรุง อีกทั้ง​บางกิจกรรมสามารถให้ภาคเอกชนทำแทนได้ ​แต่ติดขัดกฎหมาย​ งบประมาณ​ 8 หมื่นล้านบาทดูมากก็จริง​ แต่ส่วนใหญ่เป็นงบจ้างงาน​ และไม่สามารถจะเพิ่มค่าจ้างได้

นายสกลธีกล่าวอีกว่า​ หลายนโยบายของตนจะเอื้อไปทางผู้สูงอายุ​เป็นหลัก​ เช่น​ ศูนย์สาธารณสุข​ของ กทม.​ ควรจะปรับให้เป็นสมาร์ท​คลินิก​ โดยใช้ระบบ​Telemedicine เพื่อทำให้การเดินทางของผู้สูงอายุสะดวกมากยิ่งขึ้น​ รวมถึงระบบที่จะคอยดูแลผู้สูงอายุติดเตียงที่บ้าน​ เช่นนาฬิกาที่ติดกับผู้สูงอายุที่จะคอยแจ้งได้ว่าชีพจรปกติตก​ หรือมีอาการหรือไม่​ โดยเจ้าหน้าที่ของ กทม.จะสามารถเข้าหาได้เลย​ เป็นการช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ต้องมีคนมาคอยดูแลเสียเวลาทั้งวัน​ ส่วนการจ้างงานผู้สูงอายุ​ กทม.สามารถทำเป็นโครงการต่างๆ เพื่อจะเอื้อผู้สูงอายุที่กำลัง​ สามารถที่จะทำกิจกรรมง่ายๆ ในชุมชน

นายสกลธี​กล่าวอีกว่า​ ส่วนคนพิการตนได้ดำเนินการหลายอย่าง​เต็มที่​ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองคนพิการ​ หน่วยงานรัฐหรือเอกชน​ ถ้าไม่อยากส่งเงินเข้ากองทุนต้องจ้างงานคนพิการ​ 1% ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานใดที่จ้างเงินถึง​ 1% สมัยตนเป็นรองผู้ว่าฯ พยายามผลักดันตรงนี้แล้วประสบความสำเร็จ​ โดยได้ของบจ้างงานคนพิการไปกว่า 300 ตำแหน่ง​ นอกจากนี้โรงเรียนฝึกอาชีพคนพิการซึ่งเราก็ทำสำเร็จก่อนที่จะลาออกเช่นกัน​ และสิ่งสำคัญคือเราได้ทำเว็บ​ไซต์​หางานให้คนพิการได้สำเร็จเพื่อให้บริษัทต่างๆ รับไว้เข้าทำงาน​

ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน​ ขวัญเมือง​ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข​ 6 กล่าวว่า​ เรื่องผู้สูงอายุเราให้ความสำคัญ​ ได้ริเริ่มให้มีรถตู้รับ-ส่งผู้สูงอายุ 30 คัน​ 3 จุด​ ที่รามคำแหง​ หนองแขม​ และพระราม​ 3 ซึ่งอนาคตจะปรับเป็นรถพลังงานสะอาด​ส่วนสวัสดิการผู้สูงอายุ​ นอกจากนี้ มีการส่งยาถึงบ้าน มีระบบพบแพทย์ภายใน​ 60 นาที​ ซึ่งทำระบบนี้มาตั้งแต่​ 2 ปีที่แล้ว​ นอกจากนี้เราเพิ่มสวัสดิการการซ่อมแซมบ้านให้กับผู้ที่ประสบภัยต่างๆ ในชุมชน​ ​เป็น​ 3 หมื่นบาท​ จาก ​2 หมื่นบาทต่อหลังคาเรือน ส่วนเรื่องการศึกษาของเด็กที่ผ่านมา ​กทม.​ได้รับเงินวันละ​ 20 บาทต่อหัว​ สำหรับค่าอาหารเด็กอนุบาล​และเด็กประถม​ เมื่อตนได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จึงได้เสนอต่อสภา กทม. ขอเพิ่มเป็น​ 40 บาท​ ซึ่งจะเป็นแบบนี้ตลอดไป​ รวมถึงเพิ่มการเรียนหลักสูตร​ 2 ภาษาให้ทั้งอังกฤษและจีน​ ทำไปแล้ว​ 155 แห่ง​

ด้านนายวิโรจน์​ ลักขณา​อดิศร​ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.​ หมายเลข​ 1 พรรคก้าวไกลกล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของ กทม.​คือเราตกอยู่ภายใต้มายาคติบางอย่างที่ไม่เป็นธรรม​ เช่น ถ้าอยากรวยต้องขยัน​ แต่ข้อเท็จจริงคือเราเจอคนที่ขยันจนไม่มีเวลาพักผ่อน​ ขยันยังไงก็ยากจน​ คนสู้แล้วตายสู้แล้วจนมีเยอะแยะ​ การปล่อยให้คนจนเมืองต้องดิ้นรนอยู่ภาวะระบบนิเวศ​ที่ไม่เป็นธรรม​ โอกาสจะงอกเงยมันยากมาก​ แล้วเมืองนี้ก็หากินกับคนที่สู้แล้วรวย​หนึ่งในล้านเอามาโฆษณา​เพื่อหลอกให้คนกระโดดลงไปในแม่น้ำ​ ซึ่งมีคนล้มตายกันหมด​ ดังนั้นทำไมนโยบายของเราเมืองที่คนเท่ากัน​จึงเป็นการเพิ่มสวัสดิการ​ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการผู้สูงอายุ​ เราจะเพิ่มจาก​ 600 เป็น 1,000 บาท หรือเด็กแรกเกิดถึง​ 6 ปี ​เราให้เพิ่มเติมจาก​ 600 เป็น​ 1,200 บาท​

"ถ้าเมืองเมืองนี้ดูแลพ่อแม่เราได้ดีกว่านี้​ ผมสามารถวิ่งตามความฝันได้​ ผมสามารถทำงานได้ ​คนที่ทำงานสักวันก็ต้องแก่​ ถ้าเรารู้ว่าเมืองเมืองนี้จะดูแลเราในยามแก่ได้ดี​ ผมวิ่งตามความฝันได้เต็มที่​ ซึ่งเป็นจุดเบื้องต้นที่สุดที่จะสร้างเมืองสวัสดิการ​ ไม่ใช่การสงเคราะห์​ และถ้าเราทำได้​ มันจะไม่มีผู้ว่าฯ หน้าไหนไปลดสวัสดิการตรงนี้ได้อีก​ และกดดันให้รัฐบาลทำรัฐสวัสดิการ​ 3,000 บาทให้กับทุกคน​ ทุกจังหวัด​ ถ้าไม่เริ่มที่ กทม.มันไปต่อที่อื่นไม่ได้" นาย​วิโรจน์กล่าว และว่า​ เราต้องกระจายงบประมาณ​รวมศูนย์ และงบกลางผู้ว่าฯ​ 1.4 หมื่นล้าน​ เพราะไปที่สำนักงาน​เขต​ ถ้ากระจายงบประมาณอย่างถูกต้องเราจะทำโปรเจ็กต์อะไรก็สามารถทำได้ เพราะงบประมาณถูกกระจายลงไปในชุมชนหมดแล้ว​ ไม่ต้องร้องขอ​ ถือเป็นกระดุมเม็ดแรกที่เปลี่ยนแปลงสังคม การแก้ไขปัญหาหาบเร่แผงลอย​อยู่บนพื้นฐานความไม่ไว้วางใจประชาชน​ ซึ่งตนไม่ได้หมายความว่าจะขายได้เสรีทั้งหมด​ แต่ต้องให้ประชาชนคุยกันว่าจะวางกติกากันอย่างไร​

ด้านนายสุชัชวีร์​ สุวรรณสวัสดิ์​ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ​หมายเลข​ 4 พรรคประชาธิปัตย์​ กล่าวว่า​ ตนต้องการเปลี่ยน กทม.ให้เป็นเมืองสวัสดิการที่ทันสมัยต้นแบบของอาเซียน​ นโยบายของตนคือคน กทม.ต้องใช้อินเทอร์​เน็ต​ฟรี​ เพราะเป็นรากฐานสำคัญของความเท่าเทียม​ และเป็นจุดเชื่อมโยงของทุกๆ อย่าง​ วันนี้เด็กเรียนออนไลน์​ หรือทำงานที่บ้านเราก็ต้องจ่ายเงิน​ ที่น่าเห็นใจผู้สูงอายุที่ต้องอยู่ตามลำพัง​ สิ่งที่กลัวคือเรื่องเหตุฉุกเฉิน​ เพราะฉะนั้นอินเทอร์​เน็ต​ฟรีทำให้สามารถรายงานเหตุ​ฉุกเฉินได้ทัน ตนอยากให้ กทม.เป็นประหนึ่งโตเกียว ที่เราอยากจะไปเที่ยวกัน ​ ทุกคน ไปโรงพยาบาล​ของรัฐใกล้บ้านได้​ นโยบายของตนชัดเจนว่าต้องการเปลี่ยนชีวิตคน​ หยุดปัญหาซ้ำซาก

นายสุชัชวีร์กล่าวอีกว่า​ นโยบายเงินเต็มบ้านงานเต็มเมือง​ กองทุนการสร้างงาน​ 2 พันชุมชน ปีละ​ 6 แสนบาทต่อชุมชน สามารถจ้างงานได้ถึง​ 5 หมื่นอัตรา​แล้วงาน ซึ่งผู้สูงอายุในชุมชนได้โอกาสเป็นอันดับแรก​ในการเข้ามาช่วยดูแลเด็กเล็ก​ ดูแลผู้สูงอายุด้วยกัน​​ เพราะฉะนั้นกทม.ไม่เฉา​ ชีวิตเปลี่ยนทำงานแลกได้เงิน​ ส่วนเรื่องเด็กเล็กขอประกาศนโยบายว่า​ตั้งใจจะเป็นผู้ว่าฯ ที่อุดหนุน​ 0-6 ปี​ อย่างเสมอภาค​ และถ้วนหน้า​ นอกจากนี้เรื่องสตรี​ต้องปลูกฝังตั้งแต่ในโรงเรียนว่าการล่วงละเมิดทางเพศ​เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้​  นอกจากนี้ต้องการตั้งสภาผู้สูงอายุให้ผู้สูงอายุได้มาร่วมบริหารจัดงบประมาณด้วยตัวเองได้ถูกจุด​ ไม่ลงไปที่เขต​ เพราะนโยบายที่เขตออกไม่สามารถแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุในแต่ละเขตได้ตรงจุด​

ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เปิดตัวป้ายหาเสียงแบบใหม่ โดยกล่าวว่า ช่วงหลังจากนี้ตั้งใจจะระดมติดป้ายแบบใหม่นี้ โดยกำชับไม่ให้ขวางทางเดินประชาชน ซึ่งหลายคนก็คงจะเคยเห็นป้ายหลายๆ แบบออกมาแล้ว ย้ำว่าหลักการไม่ให้ขวางทางเดินเท้าและขวางการจราจร ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ก็ทำป้ายหลายขนาด ซึ่งป้ายเวอร์ชัน 3 ด้านแนวใหม่นี้ถือเป็นครั้งแรก และเก็บไว้จะมาเปิดตัววันเกิดพรรคในวันเดียวกันนี้ อย่างไรก็ตาม ตนได้ให้ติดป้ายจำนวนจำกัด เพราะไม่อยากให้รกเกินไปจนกีดขวางทางเดิน พร้อมย้ำว่าการทำป้ายขนาดดังกล่าวไม่ได้ลอกเลียนใคร เพราะพรรคประชาธิปัตย์เคยทำมาตั้งแต่ปี 2562 สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรอเปิดตัววันเกิดพรรค 6 เม.ย.

เมื่อถามถึงกรณีที่ป้ายหาเสียงที่โดนกรีดก่อนหน้านี้ กังวลว่าป้ายใหม่นี้จะถูกกรีดอีกหรือไม่ นายสุชัชวีร์กล่าวว่า ก็กังวลเหมือนกัน เพราะเราทำป้ายแล้วก็ไม่อยากให้รื้อทำใหม่ ขนาดนี่เป็นป้ายไม่รู้ใครทำ แล้วถ้าเกิดกับคน แสดงว่ากรุงเทพฯ ปล่อยไว้ไม่ได้ กรุงเทพฯ ต้องเปลี่ยน เพราะกรุงเทพฯ ไม่ปลอดภัย กล้องกว่า 6 หมื่นตัวเป็นตาฟาง ต้องปรับปรุงเพื่อดูแลประชาชน และไม่ใช่แค่ตน  แต่ไม่อยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับใครก็ตาม  อยากวิงวอนเพราะการเลือกตั้ง เหมือนแข่งขันกีฬา ต้องเป็นไปตามกฎกติกามารยาท ส่วนจะดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายหรือไม่นั้น ก็อยากทำเหมือนกัน แต่จับมือใครดมไม่ได้ ซึ่งต้องปรึกษาทีมกฎหมายของพรรค.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!

"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย

‘จ่าเอ็ม’ ผวาขออารักขา

กัมพูชาส่งตัว "จ่าเอ็ม" ให้ไทยแล้ว นำตัวเข้ากรุงสอบเครียดที่ สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เจ้าตัวร้องขอเจ้าหน้าที่คุ้มครองเป็นพิเศษ

เป็นแม่ที่ดีหรือยัง! ‘อิ๊งค์’ เปิดอกวันเด็กสมัยก่อนไม่มีไอแพดโวยถูกบูลลี่

"นายกฯ อิ๊งค์" เปิดงานวันเด็กคึกคัก! เด็กขอถ่ายรูปแน่น พี่อิ๊งค์ล้อมวงเปิดอกตอบคำถามเด็กๆ มีพ่อเป็นต้นแบบ เผยวัยเด็กไม่มีไอแพด โทรศัพท์ ไลน์ พี่มีลูกสองคน

‘บิ๊กอ้วน’ เอาใจทอ. เคาะซื้อ ‘กริพเพน’

ปิดจ๊อบภายในปีนี้! "บิ๊กอ้วน" ไฟเขียว ทอ.เลือก "กริพเพน" มั่นใจคนใช้เป็นคนเลือก รออนุมัติแบบหลังทีมเจรจาออฟเซตกับสวีเดนจบ แจงทูตสหรัฐแล้ว ไทยยันไม่มีนโยบายกู้เงินซื้ออาวุธตามข้อเสนอขายเอฟ