วิชามารเริ่ม!ทำลายป้ายหาเสียง

"บิ๊กตู่" แจง ครม.ลงพื้นที่พบชาวบ้านไม่เกี่ยวหาเสียง กทม. "กกต." จัดเชิญผู้สมัคร "ผู้ว่าฯ-ส.ก." ร่วมประกาศเลือกตั้งสมานฉันท์ สุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม และสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง ไม่ทันไรหลายพรรคโวยป้ายหาเสียงถูกทำลาย "ดร.เอ้" ขอแข่งขันแบบสร้างสรรค์ "สกลธี" ก็โดนแต่บอกเล็กน้อยไม่แจ้งความ "พรรคกล้า" จี้ "กกต.-ตร." ดูแล "พปชร." วุ่น! ตั้ง "นฤมล" ปธ.ยุทธศาสตร์หาเสียง​ ส.ก.​ไม่กี่ชั่วโมง "อ.แหม่ม" ประกาศไม่รับตำแหน่ง​

เมื่อวันที่ 5 เมษายน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงข้อสั่งการและคำปรารภของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในการประชุม ครม.ว่า นายกฯ ได้รายงานถึงการลงพื้นที่คลองโอ่งอ่างซึ่งเป็นการติดตามความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน เพื่อเร่งสร้างการรับรู้การแก้ไขปัญหาการระบายน้ำสู่คลอง ซึ่งชาวบ้านและชุมชนสะท้อนมาว่า ถ้าสามารถระบายน้ำได้ดีจะช่วยลดปัญหายุงและลดขยะไขมัน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการระบายน้ำ

"นายกฯ ชื่นชมการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองสวยน้ำใสที่มีความก้าวหน้า และเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ที่สร้างเม็ดเงินการท่องเที่ยวให้ประเทศ ดังนั้นการลงพื้นที่คลองโอ่งอ่างจึงไม่ใช่การหาเสียง" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว

มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ปรารภต่อที่ประชุม ครม.ตอนหนึ่ง โดยระบุถึงการลงพื้นที่ใน กทม.ช่วงที่ผ่านมาว่า ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการหาเสียง และไม่ได้ลงพื้นที่ตรงที่มีการหาเสียง อีกทั้งการลงพื้นที่ไม่ได้มีการเตรียมการไว้ก่อน เพราะถ้าเตรียมการไว้ก่อนคนจะมาห้อมล้อมเยอะ ซึ่งการลงพื้นที่ได้คุยกับชาวบ้านให้เขาเข้าใจว่า เราอยู่ในช่วงโควิด-19 ช่วงความขัดแย้ง ชาวบ้านก็ได้ร้องเรียนปัญหาต่างๆ เรื่องไหนแก้ไขได้ก็แก้ไขไปแล้ว  

ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์​ราชการ​ฯ ​แจ้งวัฒนะ​ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ​(กกต.) ประจำกรุงเทพมหานคร จัดโครงการเลือกตั้งสมานฉันท์ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) โดยเชิญผู้สมัครมาร่วมประชุมเพื่อรับฟังและทำความเข้าใจ พร้อมชี้แจงข้อกฎหมาย ระเบียบ ข้อควรปฏิบัติต่างๆ เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง การป้องกันการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง  และร่วมประกาศเจตจำนงสุจริตในการเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครยอมรับเรื่องรู้แพ้ รู้ชนะ รู้ภัย รู้รักสามัคคี เพื่อให้การหาเสียงเป็นไปอย่างสุจริต โปร่งใส ไม่ใส่ร้ายป้ายสีกันและกัน และลดการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์  

โดยมีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.และผู้สมัคร ส.ก.สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข  6 นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 3 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4 น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 7 นายโฆสิต สุวินิจจิต ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 24 และนายวรัญชัย โชคชนะ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 22

จัดสมานฉันท์เลือกตั้ง

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวเปิดโครงการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ว่า การเลือกตั้ง ส.ก.และผู้ว่าฯ กทม.ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 พ.ค.นี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งผู้ที่จะมาบริหารและติดตามตรวจสอบการบริหาร กทม. ซึ่งเป็นมหานคร องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่จะต้องมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสมในพื้นที่ที่มีปัจจัยทางสังคมที่แตกต่างและหลากหลาย ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย ทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้ดำเนินการหรือจัดการควบคุมการเลือกตั้ง ผู้สนับสนุนการเลือกตั้ง และประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต่างมีพันธะร่วมกัน ที่จะทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย

"ถือเป็นโอกาสดีที่ผู้สมัครทุกคนจะได้แสดงความมุ่งมั่นตั้งใจ ที่จะปฏิบัติให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริต  โปร่งใส เที่ยงธรรม เต็มใจและสมัครใจในการประกาศเจตจำนงสุจริตในการเลือกตั้งร่วมกัน เพื่อสร้างความสมานฉันท์ ถือเป็นการสร้างสิ่งที่ดีงามให้สังคมและประชาชนได้รับรู้รับทราบ" นายอิทธิพรกล่าว

ประธาน กกต.กล่าวว่า กฎหมายเลือกตั้งฉบับปัจจุบันมีสถานการณ์ที่แตกต่างไปจากกฎหมายฉบับก่อนๆ ทั้งคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง วิธีการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัจจุบัน กกต.ได้จัดทำแอปพลิเคชัน Smart Vote หรือฉลาดเลือก ซึ่งมีข้อมูลที่สำคัญทั้งกฎหมายท้องถิ่น คำถาม-ตอบเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้งและพรรคการเมือง การตรวจสอบสิทธิต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง รวมทั้งช่องทางการแจ้งเบาะแสการทุจริตเลือกตั้งผ่านแอปพลิเคชันตาสับปะรด แต่เมื่อถึงเวลาที่การหาเสียงเพิ่มความเข้มข้นขึ้น  แนะนำให้โทร.สายด่วน 1444

จากนั้นนายอิทธิพรพร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงาน กกต.ร่วมเป็นสักขีพยานในการสร้างการรับรู้ของผู้สมัคร ส.ก. และผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

นายอิทธิพรให้สัมภาษณ์ว่า การที่มีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ​31 คน และผู้สมัคร ส.ก. 382 คน ถือเป็นเรื่องที่ดีที่มีผู้สนใจขันอาสาเข้ามาบริหาร กทม. ส่วนการจดจำผู้สมัครปกติจะมีการจัดทำเอกสารแจ้งเจ้าบ้านถึงผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งจะมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัครเลือกตั้ง โดยเอกสารดังกล่าวจะส่งถึงครัวเรือนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งภายใน 15 วันก่อนวันเลือกตั้ง

ถามถึงกรณีนายสราวุธ เบญจกุล ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.มีปัญหาถูกร้องเรียนวินัยและทุจริต จะมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติหรือไม่ ประธาน กกต.กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานครจะเป็นผู้พิจารณา

"ตั้งแต่มีประกาศเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จนขณะนี้ยังไม่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามา ส่วนปัญหาการติดป้ายหาเสียง ขอให้ปฏิบัติตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงเลือกตั้งอย่างเคร่งครัดด้วย" ประธาน กกต.กล่าว

โวยป้ายหาเสียงถูกทำลาย

ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวินกล่าวถึงการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ว่า หลังจากนี้ไม่ได้มีการปรับแผนหรือกลยุทธ์หาเสียง เพราะก็ทำตามธรรมชาติและเป็นตัวของตัวเอง จะให้พูดกี่ครั้งก็เหมือนกันทุกครั้ง ส่วนเรื่องป้ายหาเสียงที่อาจจะมีการกีดขวางทางเท้า ได้ให้ทีมงานเก็บออกไปหรือย้ายที่ติดตั้ง และจะปรับรูปแบบป้ายให้เล็กลงอย่างเช่นป้ายของนายชัชชาติ เพื่อให้ประชาชนไม่ได้รับความเดือดร้อน

ส่วนนายชัชชาติกล่าวว่า ยอมรับจุดแข็งของตัวเองคือเราเข้าใจปัญหา เพราะลงพื้นที่มานาน และมีทีมงานที่ครบทุกด้าน ส่วนจุดอ่อนคืออยู่ที่ชุมชน เนื่องจากเราเป็นผู้สมัครอิสระ ไม่มีฐานเสียง ชุมชนจึงเป็นจุดที่อ่อนแอ หลังจากนี้ก็จะลงพื้นที่ชุมชนให้หนักขึ้นและละเอียดขึ้น เรื่องป้ายหาเสียงก็ไม่เคยพูดว่าเป็นคนทำป้ายเล็กเป็นคนแรก  เราทำตามที่คิดว่าเหมาะสมกับการเลือกตั้งในเขตเมือง ดังนั้นขออย่านำไปเป็นประเด็นความขัดแย้ง ป้ายไม่สำคัญเท่ากับเนื้อหาหรือนโยบาย

นายสุชัชวีร์กล่าวว่า การลงพื้นที่หาเสียงมีโปรแกรมจะลงพื้นที่ 50 เขต 50 ครั้งอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเรามีความมั่นใจว่าวิสัยทัศน์ของเรา 1 ผู้ว่าฯ 50 ส.ก.นั้นชัดเจน คือต้องเปลี่ยนเมืองกรุงเทพฯ เป็นเมืองสวัสดิการที่ทันสมัยต้นแบบอาเซียน ซึ่งยิ่งเดินลงพื้นที่ยิ่งเข้าใจว่ากรุงเทพฯ เราทำได้

ถามถึงมาตรการเกี่ยวกับปัญหาการทำลายป้ายหาเสียงของตนเอง นายสุชัชวีร์กล่าวว่า ไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับผู้สมัครรายใด การเลือกตั้งก็เหมือนกับกีฬา ควรจะเป็นการแข่งขันที่สร้างสรรค์ ป้ายที่ถูกทำลายดังกล่าวตั้งอยู่ที่เขตดอนเมือง พหลโยธิน 60 กลางเมือง บริเวณป้ายรถเมล์ แต่ไม่สามารถหาตัวคนทำลายได้

สำหรับนายสกลธีกล่าวถึงการหาเสียงว่า จากนี้จะทำคอนเทนต์เพื่อลงสื่อออนไลน์และโทรทัศน์ เนื่องจากการลงพื้นที่ซึ่งมีหลายพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก และในวันนี้ก็จะได้ลงพื้นที่เพื่อเปิดตัวทีมงาน เพื่อทำงานตามนโยบายที่ได้แถลงไว้แล้ว

"ป้ายที่ถูกทำลายมีคนส่งมาให้ดูจำนวนมาก แต่ไม่ได้มีการตรวจสอบ ไม่มีการแจ้งความ เพราะเป็นเรื่องเล็กน้อย ทั้งนี้ต้องขออภัยหากป้ายหาเสียงเกะกะหรือกีดขวางการจราจร เบื้องต้นได้สั่งให้ทีมงานแก้ไขแล้ว ทั้งนี้บางคนส่งรูปมาแต่ไม่ได้ระบุสถานที่จึงทำให้แก้ไขลำบาก" นายสกลธีกล่าว

ด้าน น.ส.รสนากล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มติดป้ายหาเสียง และจะไม่ติดป้ายในพื้นที่สาธารณะ แต่จะติดป้ายในพื้นที่เอกชนที่ยินดีจะให้ตนไปติด ซึ่งจะเริ่มต้นในวันที่ 7  เม.ย. เวลา 09.00 น. ที่ถนนเจริญนคร หลังจากนั้นจะลงพื้นที่ในการกระจายแผ่นพับต่างๆ ให้ชุมชนต่อไป

น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคไทยสร้างไทย ไปร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในประเด็นนโยบายพื้นที่อาหารของเมือง ในเวทีปากท้องของคนกรุง ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยกล่าวถึงการหาเสียงเลือกตั้งว่า  พรรคไทยสร้างไทยมีนโยบายงบตรงใจ แก้ปัญหาวิธีคิดของระบบราชการ ที่จัดงบประมาณและจัดโครงการไม่ตรงความต้องการของแต่ละพื้นที่ โดยจะใช้ระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่มาบริหารจัดการ ที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการบริหารงบประมาณ

นายแสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม โฆษกพรรคกล้า กล่าวว่า หลังจากเปิดรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.ได้ไม่กี่วัน ก็เริ่มเกิดปัญหาแย่งพื้นที่ทำลายป้ายหาเสียงแล้วหลายที่ โดยเฉพาะพื้นที่เขตจตุจักร ป้ายของผู้สมัคร ส.ก.พรรคกล้า ก่อนถึงที่ทำการพรรคพบว่าป้ายที่เคยติดบนเสาไฟฟ้าหล่นลงมากองกับพื้น แล้วแทนที่ด้วยป้ายของพรรคอื่น ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใด ป้ายบริเวณถนนงามวงศ์วาน ใกล้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ​ถูกพบที่กองขยะ และอีกหลายป้ายโดนกรีด

"ขอให้ กกต.กทม. ฝ่ายปกครองและตำรวจในพื้นที่  ในฐานะที่มีหน้าที่ดูแลการเลือกตั้ง กวดขันตรวจตราป้ายหาเสียง เพื่อรักษาบรรยากาศการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมกับทุกฝ่าย" โฆษกพรรคกล้ากล่าว

พปชร.วุ่นตั้ง ปธ.หาเสียง

วันเดียวกัน มีรายงานว่า​ เมื่อเวลา​ 21.49 น.​ คืนวันที่​ 4​ เม.ย.​ นายอภิชัย​ เตชะอุบล​ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.)  พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)​ ได้ส่งคำสั่งศูนย์ฯ ว่าพรรค แต่งตั้งนางนฤมล​ ภิญโญสินวัฒน์​ เหรัญญิกพรรค​ เป็นประธานยุทธศาสตร์หาเสียงร่วมกับผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ก. ให้แก่สื่อมวลชน​ โดยเป็นคำสั่งที่ลงนามในวันที่​ 4​ เม.ย.

ต่อมาเวลา​ 00.19 น.​ เจ้าหน้าที่พรรค พปชร.​ได้ส่งคำให้สัมภาษณ์ของนางนฤมล​ ที่ปฏิเสธข่าวดังกล่าวว่า ตนไม่รับตำแหน่งใดๆ ในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ และนายอภิชัยก็ไม่เคยมาหารือเรื่องดังกล่าวกับตนเลย นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ​ รองนายกฯ ​และหัวหน้าพรรคก็ไม่ได้มีการมอบหมายใดๆ

"ตนมีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรค ต้องระมัดระวังในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ก.อย่างแน่นอน โดยตนไม่ประสงค์ที่จะรับตำแหน่งดังกล่าว หน้าที่กำหนดนโยบายหาเสียง ลงพื้นที่หาเสียง และรายงานผล เป็นหน้าที่ของนายอภิชัย ในฐานะ ผอ.ศูนย์ฯ อยู่แล้วในคำสั่งที่ลงนามโดยหัวหน้าพรรค” นางนฤมลระบุ

จากนั้นนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวถึงกรณีนายอภิชัยแต่งตั้งนางนฤมลเป็นประธานยุทธศาสตร์หาเสียงร่วมกับผู้สมัคร ส.ก. แต่นางนฤมลปฏิเสธว่า ตนไม่ทราบ ต้องถามนางนฤมล แต่โดยหลักการพรรคเราช่วยกันทำงานอยู่แล้ว ซึ่งกรรมการของเราทุกคนก็ช่วยกันหาเสียง หรือคิดนโยบายในการสนับสนุนการทำงานของ ส.ก.ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้อยู่แล้ว

"การที่เรารับผิดชอบดูแลพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นจะทำไม่ได้ แต่มันเป็นการช่วยกัน ไม่ได้เป็นปัญหาขัดแย้ง พรรค พปชร.มีบุคลากรและสมาชิกพรรคที่มีความรู้ความสามารถเยอะ เพียงแต่บทบาทอยู่ที่หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารที่จะช่วยกันขับเคลื่อนตามกฎหมายเป็นหลักการ แต่เบื้องหลังเรามีทีมงานและสมาชิกพรรคที่กระจายไปช่วยทุกพื้นที่อยู่แล้ว ยืนยันว่าไม่มีความขัดแย้ง" นายชัยวุฒิกล่าว

อย่างไรก็ดี นายอภิชัย​ชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า เมื่อวันที่  4 เม.ย. พรรคได้มีมติให้เสนอแต่งตั้งนางนฤมล​เป็นประธานยุทธศาสตร์หาเสียงร่วมกับผู้สมัคร ส.ก. จึงได้แต่งตั้งไป ต่อมาวันที่ 5 เม.ย. นางนฤมลได้แจ้งว่าไม่สะดวกที่จะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าว ตนจึงได้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “สิงห์สยามโพล” คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก. พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 72.5 เห็นว่า ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ไม่ควรสังกัดพรรคการเมือง (อิสระ) มีเพียงร้อยละ 27.5 เห็นว่าควรสังกัดพรรค ส่วนผู้สมัคร ส.ก.  ร้อยละ 63.8 ก็เห็นว่าไม่ควรสังกัดพรรคการเมือง มีเพียงร้อยละ 36.2 ที่เห็นควรสังกัดพรรคการเมือง

ถามถึงประเด็นหาเสียงที่อยากฟังส่วนใหญ่ระบุว่า  การแก้ปัญหาจราจร การเปิดกรุงเทพมหานครให้ใช้ชีวิตปกติ แก้ปัญหาน้ำท่วม เป็นต้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง