เวิลด์แบงก์หั่นจีดีพีไทย กกร.หนุนต่อคนละครึ่ง

สงครามรัสเซีย-ยูเครนพ่นพิษ! “เวิลด์แบงก์”  หั่นจีดีพีไทยปี 65 เหลือโต 2.9% จากคาดการณ์เดิม 3.9%  ชี้ราคาน้ำมันทะยานกระทบต้นทุน-การบริโภคเอกชนอ่วม  ชงปฏิรูปจัดเก็บรายได้ ชมเปาะ “คนละครึ่ง” สุดเวิร์ก กกร.หั่นจีดีพีปี 65 เหลือ 2.5% แนะยกเลิกมาตรการ Test & GO ดึงนักท่องเที่ยวเข้าไทย

เมื่อวันที่ 5 เมษายน นางเบอร์กิต ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า  เวิลด์แบงก์ได้ปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2565 ลดลงเหลือ 2.9% ถือว่าปรับลดลงค่อนข้างมากจากคาดการณ์เดิมที่ 3.9% โดยประเด็นสำคัญมาจากความเสี่ยงจากภาคต่างประเทศ โดยเฉพาะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน โดยไทยถือว่าเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง เนื่องจากมีการนำเข้าพลังงานถึง 4.5% ของจีดีพี

 “ผลกระทบดังกล่าวจะส่งผ่านมาทางด้านราคาพลังงาน ที่จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นและกระทบต่อการบริโภคเอกชนด้วย โดยราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยกดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และทำให้แนวโน้มการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ทั้งการบริโภคในประเทศ การลงทุน และการส่งออกที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง”  นางเบอร์กิตระบุ

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นนั้น มีปัจจัยบวกมาจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเวิลด์แบงก์ประเมินว่าในปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยราว 6.2 ล้านคน รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับดีขึ้นชัดเจน หนุนการบริโภคในประเทศ ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญกับไทยเริ่มอ่อนแอลง ถ้าผลกระทบรุนแรงขึ้นจะส่งผลให้ภาพของจีดีพีไทยลงไปอยู่ที่ 2.6% ซึ่งถือเป็นกรณีขั้นต่ำ

ด้านนโยบายการเงินนั้นประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงอยู่ที่ 0.5% แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มการฟื้นตัว แต่ยังเป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยยังเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกัน เช่น ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งฟื้นตัวสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังเติบโตอ่อนแอ นอกจากนี้ ในส่วนของเงินเฟ้อนั้นยังมีแรงกดดันจาก Supply Site หรือทางด้านอุปทานจากราคาพลังงาน โดยประเมินว่าราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามเพราะอาจจะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันมองว่าแรงกดดันต่อค่าจ้างแรงงานมีอยู่จำกัด

นางเบอร์กิตกล่าวด้วยว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีความเปราะบาง และยังมีความไม่เท่าเทียมกันในการฟื้นตัวของแต่ละภาคธุรกิจ  ดังนั้นมาตรการเยียวยาผลกระทบของภาครัฐยังมีความจำเป็น แต่ควรเป็นมาตรการที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น  โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเปราะบางและได้รับผลกระทบสูง และแม้ว่าภาครัฐจะยังมีพื้นที่ทางการคลังในการดำเนินนโยบายต่างๆ ได้ แต่พื้นที่แคบลง โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ราว 60% ของจีดีพี จากเพดานหนี้สาธารณะที่ 70% ของจีดีพี ดังนั้นนอกจากการดำเนินมาตรการด้านการเยียวยาแล้ว ควรจะมีการปฏิรูปด้านการจัดเก็บรายได้ในอนาคตไปพร้อมกันด้วยเพื่อความยั่งยืนทางการคลัง

 “นโยบายการคลังที่ดำเนินการอยู่เป็นนโยบายที่ตรงจุด และเหมาะสมที่จะช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก  เช่น โครงการคนละครึ่ง ถือเป็นนโยบายที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น ทำให้ภาคครัวเรือนที่มีรายได้น้อยซึ่งได้รับผลกระทบมาก มีสัดส่วนการใช้จ่ายด้านอาหารและพลังงานเกือบ 50% ของรายได้ ดังนั้น นโยบายที่ภาครัฐประกาศออกมา ถือว่าเป็นนโยบายลดภาระการใช้จ่ายได้ ส่วนมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ควรดำเนินนโยบายดังกล่าวเพิ่มเติม และถือว่ามีความจำเป็นเพราะระดับหนี้ยังสูง โดยเชื่อว่ามาตรการช่วยเหลือต่างๆ  ที่ออกมาน่าจะช่วยได้ แต่ในภาพการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนลงมาถือว่ายังต้องใช้เวลา และจะเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในประเทศระยะยาว” ผู้จัดการเวิลด์แบงก์ระบุ

วันเดียวกัน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)  เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาปรับกรอบประมาณการจีดีพีปี 2565 เป็นขยายตัว 2.5-4% จากเดิม 2.5-4.5% พร้อมกับปรับเพิ่มอัตราเงินเฟ้อเป็น  3.5-5.5% จากเดิม 2-3% ส่วนการส่งออกยังคงเป้าเดิมที่  3-5% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความเสี่ยงรอบด้าน โดยเฉพาะแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่มีแนวโน้มสูงสุดในรอบ 10 ปี     

นายสุพันธุ์กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงรอบด้าน โดยเฉพาะแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงที่สุดในรอบ 10 ปี จากการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 4.9% ซึ่งเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมากจะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อในประเทศ แต่ภาพรวมเศรษฐกิจยังคาดว่าจะเติบโตได้จากความมุ่งมั่นของทั้งภาครัฐและเอกชน ในการที่จะปรับตัวให้สามารถอยูกับโควิด-19 ได้แบบเป็นปกติมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวได้ โดยเฉพาะจากปัจจัยการส่งออก

 “กกร.แนะให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการ Test &  Go เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งจะสร้างรายได้ให้ประเทศได้ในยามที่เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอื่นๆ มีข้อจำกัด และจะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้เกิน  3% รวมถึงต่ออายุโครงการคนละครึ่งและโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่  2 และ 3 ของปี 2565” นายสุพันธุ์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง