เลื่อนงานบอลประเพณี จุฬาฯยังเชิญ‘พระเกี้ยว’

"จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์" เห็นพ้องเลื่อนงานบอลประเพณีเหตุโควิด-19 ระบาด ยันจัดงานครั้งต่อไปให้คงอัญเชิญ "พระเกี้ยว" สืบสานประเพณีอันดีงาม "ชัยวุฒิ" โวย อบจ.ไม่มีอำนาจตัดสินแทนคนอื่น "หมอวรงค์" ห่วงเด็กตกเป็นเครื่องมือพวกหวังด้อยค่าสถาบัน

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ออกประกาศเรื่อง แนวทางการจัดงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ม.ธรรมศาสตร์ โดยระบุว่า "จากที่ได้จัดงานประเพณีฟุตบอลจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ สืบเนื่องเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2477 เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ และหลอมรวมความสมัครสมานสามัคคีระหว่างนิสิตเก่า ศิษย์เก่า และนิสิต นักศึกษา ทั้งสองสถาบัน และร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้กับสังคมไทย ในการจัดงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 75 นี้ สมาคมธรรมศาสตร์ในฐานะเจ้าภาพได้มีหนังสือแจ้งลงวันที่ 30 ก.ย.64 แจ้งขอเลื่อนกำหนดการแข่งขันฟุตบอลฯ ออกไปก่อน เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังต้องเฝ้าระวังอยู่ ซึ่งสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ก็เห็นพ้องด้วยเพื่อร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม

การจัดงานฟุตบอลประเพณีฯ ในครั้งต่อๆ ไป สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ยังคงสืบสานให้มีการอัญเชิญพระเกี้ยว อันเป็นสัญลักษณ์ที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระปิยมหาราช และสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า เพื่อเป็นขวัญ กำลังใจ และความภาคภูมิใจในจุฬาฯ ของเหล่านิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบันทั้งมวล" แถลงการณ์ระบุ

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นนิสิตเก่า องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) เป็นเพียงผู้ประสานงาน ไม่มีอำนาจตัดสินใจอะไรแทนคนทั้งมหาวิทยาลัย กิจกรรมทั้งหมดเป็นเรื่องของนิสิตและศิษย์เก่าที่มาช่วยกัน อย่าไปมองว่าเป็นเรื่องของคณะกรรมการ อบจ.ที่มีอยู่ประมาณ 20 คน มาเป็นคนตัดสินให้ใครทำนั่นทำนี่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีวัฒนธรรม มีศักดิ์ศรี​ ความภาคภูมิใจ และมีศิษย์เก่ามากมาย ดังนั้น​การจะทำอะไรก็ขอให้คิดถึงเรื่องในอดีตและคิดถึงคนอื่นเขาด้วย

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อเรื่อง "ความเท่าเทียมไม่มีจริง" ว่า "กิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว สนับสนุนและสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม รวมถึงค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน ข้อความดังกล่าวของแถลงการณ์ที่นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ เผยแพร่ออกมา ไม่ใช่สะเทือนความรู้สึกของชาวจุฬาฯ เท่านั้น แต่สะเทือนความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศด้วย เพราะจุฬาฯ เป็นของประชาชน ไม่ใช่ของเขา ไม่เพียงแต่เขากำลังทำลายรากทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน ที่คนไทยร่วมภูมิใจกับชาวจุฬาฯ แต่ลึกๆ แล้ว เขาต้องการด้อยค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยอ้างคำที่สวยหรูคือความเท่าเทียม

อยากจะบอกน้องๆ กลุ่มนี้ว่า ความเท่าเทียมไม่มีจริง ไม่ว่าประเทศไหนในโลก เป็นเพียงวาทกรรมไว้ปลุกระดม หลอกคนที่ไม่มีวุฒิภาวะ ไม่มีประสบการณ์ชีวิต เป็นเหยื่อให้เขาหลอกใช้ เพื่อให้เขาได้อำนาจ ไม่เชื่อไปดูที่บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ก็ได้ว่า คนที่นั่นเท่าเทียมกันไหม ในฐานะที่ผมก็เคยเป็นนายกสโมสรนักศึกษาเคยถูกปั่นมาแล้ว ขอแนะนำน้องๆ ว่า ถ้าคิดว่าคิดผิด ควรที่จะปรับปรุงตนเอง ตั้งใจเรียนให้จบ หางานทำ เพื่อสร้างชีวิตที่ดี เมื่อเหมาะสมให้มาเป็นนักการเมือง อย่าเข้ามาโกง แค่นี้ประชาชนก็จะสรรเสริญ ไม่ใช่เรียนเท่าไรก็ไม่ยอมจบ อยู่เพื่อถูกเป็นเครื่องมือ ให้เขาหลอกใช้ ด้วยวาทกรรมหลอกเด็ก สุดท้ายก็ติดคุกหลายคน ส่วนคนที่หลอกเด็กก็ยังสุขสบาย" นพ.วรงค์ระบุ

ม.จ.จุลเจิม ยุคล หรือท่านใหม่ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก พร้อมโฉนดที่ดินระบุว่า "มิใช่เป็นการทวงบุญคุณ น้ำพระทัยอันประเสริฐยิ่งและเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ไพศาลของปวงชนชาวไทยและนิสิตจุฬาฯ ตั้งแต่รุ่น 1 ลงมาจนปัจจุบัน ที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ทรงมีวิสัยทัศน์กว้างไกลเกินกว่าใครๆ ในหล้า พระราชทานที่ดิน 700 ไร่ให้เป็น 'สถานศึกษา' ระดับอุดมศึกษาแห่งแรกอายุครบร้อยปีแล้ว และเป็นไปตามหลักมาตรฐานสากลและที่แห่งนั้น คือ 'จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย'

และใครได้ประโยชน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมิใช่หรือ และจุฬาฯ คืนอะไรๆ ให้แก่สังคมมากน้อยแค่ไหน นอกจาก 'สอนหนังสือให้ความรู้' อยากรู้จริงๆ มาวันนี้ 'ผู้บริหารจุฬาฯ' ควรต้องทำหน้าที่ปกป้อง 'ชาติบ้านเมืองและสถาบันพระมหากษัตริย์' อย่างเป็นรูปธรรมให้คนไทยทั้งชาติด้วยนะครับ".

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง