“ประยุทธ์” มั่นใจพร้อมรับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ “เสี่ยหนู” ลั่นไม่แปลกนายกฯ ลงพื้นที่บ่อย เพราะประกาศแล้วสนใจการเมือง “ชัยวุฒิ” แจงเป้า 150 เก้าอี้พรรควางมานานแล้ว เพราะหากอยากเป็นแกนนำต้องได้ รองโฆษกเพื่อไทยอ้างทั่วโลกก็มีทายาทและตระกูลการเมือง อย่าขาสั่นกลัว “แพทองธาร” เด็กไทยภักดีสวนไม่มีใครขวาง แต่ภาพปีศาจโกงแล้วหนีมันหลอน
เมื่อวันจันทร์ที่ 4 เมษายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงความมั่นใจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า "ชี้แจงทุกเรื่องด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ แม้บางเรื่องไม่ใช่เรื่องที่ต้องลงไปรับผิดชอบ เพราะมีขั้นตอนการดำเนินการต่อเนื่องมาจากระดับนโยบาย ให้รู้ว่านายกฯ อยู่ระดับไหนก็แล้วกัน ถ้านายกฯ ต้องลงไปถึงระดับล่างเลยมันถูกต้องไหมล่ะ และวันนี้รับผิดชอบมากมายแค่ไหน มากกว่าเดิมตั้งเยอะแยะ อย่าให้มันพันกันไปมาเลย โอเค ไม่งั้นประเทศมันเดินไม่ได้นะจ๊ะ"
เมื่อถามว่า วันนี้จะมีลงพื้นที่พบประชาชนจุดไหนหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบสั้นๆ ว่าไม่บอก
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่ต่อเนื่องจนถูกมองเป็นการหาคะแนนนิยมว่า เวลาท่านไม่ลงก็ว่า แต่เวลาท่านลงจะไปว่าท่านทำไม อีกทั้งนายกฯ พูดชัดเจนว่าสนใจทำการเมืองต่อไป และให้สัมภาษณ์ว่าหากไม่ไหวก็เลิก ฉะนั้นไม่แปลกอะไร ตนเองก็ลงพื้นที่ ช่วงนี้เสาร์-อาทิตย์ต้องลงพื้นที่ให้ว่าที่ผู้สมัครของพรรคทั่วประเทศ มองว่าเป็นเรื่องปกติ และดีด้วยที่ลงพื้นที่ไปสร้างความคุ้นเคยหาเสียงหาคะแนนอะไรก็แล้วแต่ มันก็เป็นอย่างนั้น มีใครไม่ลงพื้นที่บ้าง
ถามว่า ช่วงปลายรัฐบาลจะลงพื้นที่ถี่ขึ้นหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่าใช่ แต่พอดีตนเองลงพื้นที่ตลอดไม่ว่าต้นหรือปลาย เพราะในบริบท ภท.เราคิดเสมอว่าการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จึงไม่เคยห่างพื้นที่
เมื่อถามถึงกรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ปรับคณะกรรมการบริหารพรรคใหม่ และประกาศจะกวาด ส.ส. 150 ที่นั่งหลังการเลือกตั้ง นายอนุทินกล่าวว่า "ขอแสดงความยินดีล่วงหน้า"
ถามต่อว่า อนาคตจะยังร่วมงานกับ พปชร.ได้เหมือนเดิมใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ทุกวันนี้ก็ร่วมมืออยู่แล้ว ไม่ได้ขัดแย้งอะไร เรื่องไหนที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองทุกพรรคให้ความร่วมมือหมด วันนี้ต้องมั่นใจว่านักการเมืองทุกคนไม่ว่าจะฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลมีเป้าหมายเดียวกันหมด คือประโยชน์ของบ้านเมือง ยึดแบบนี้ทำงานง่าย อยู่ตรงไหนก็ได้
ถามอีกว่า จะประกาศจับมือเป็นพรรคร่วมก่อนเลือกตั้งหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ภท.เป็นพรรคที่ไม่เชื่อเรื่องการจับมือก่อนเพราะเคยได้บทเรียนมาแล้ว ฉะนั้นต้องอยู่บนความเป็นจริง จะคิดจะอ่านอะไรก็เมื่อผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการหลังปิดหีบเลือกตั้งออกมาแล้ว
ขณะที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวถึงการประชุมใหญ่ที่มีการปรับ กก.บห.ว่า ไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรมาก เพราะหัวหน้าพรรคก็ยังคงเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง เป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งมีนักการเมืองที่มีประสบการณ์ ที่จะมาช่วยทำให้พรรคทำงานได้ดีขึ้น
เมื่อถามว่า นายสันติประกาศว่าจะได้ 150 เสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า นายชัยวุฒิกล่าวว่า เราประกาศตัวเลขนี้มานานแล้ว เป็นเป้าหมายของพรรค ซึ่ง พล.อ.ประวิตรพูดมาก่อนแล้วว่า หากจะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งต้องได้ 150 เสียง เพื่อผลักดันนโยบายของพรรคต่อไปหลังการเลือกตั้ง ซึ่งความมั่นใจของพรรคก็มาจากการประเมินพื้นที่ และ ส.ส.เขตที่มีอยู่เดิม รวมถึงผู้สมัคร ส.ส.ใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในพรรค
ถามถึงกรณีที่มี 2 อดีตนายทหารคนสนิท พล.อ.ประวิตรเข้ามาร่วมเป็น กก.บห.พรรค จะเข้ามาช่วยทำงานเสริมด้านใดบ้าง นายชัยวุฒิกล่าวว่า ทหารทั้งสองคนเป็นทีมงานที่ช่วยงาน พล.อ.ประวิตรอยู่แล้ว จึงมีความคุ้นเคยกันดี ซึ่งเมื่อเข้ามาทำงานในพรรคก็จะช่วยประสานงานเรื่องต่างๆ ให้ราบรื่นขึ้น ให้มีความเข้าใจที่ดีต่อกันและมีความชัดเจน มากขึ้น โดย พล.อ.ประวิตรจะทำงานเต็มที่มากขึ้นด้วย ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี
ถามว่า จะทำให้ พปชร.ถูกมองว่าเป็นพรรคทหารหรือไม่ นายชัยวุฒิกล่าวว่า พรรคการเมืองทุกพรรคมีแนวทางของตัวเอง ไม่ใช่ว่าเป็นพรรคทหารหรือพรรคของใคร เป็นพรรคของประชาชน ซึ่งใน พปชร.ก็มีสมาชิกหลากหลายอาชีพ ทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ และประชาชนในต่างจังหวัด ซึ่งหลายคนเป็นเกษตรกร ถึงไม่อยากให้มองว่าเป็นพรรคทหาร
ขณะที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ อดีตที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค พปชร.ยืนยันว่า วันนี้เจ้าหน้าที่ของตนเองได้ไปยื่นใบลาออกกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และยื่นใบลาออกที่ทำการพรรค พปชร.แล้ว ส่วนเรื่องทางการเมืองของตนเองนั้นถึงเวลาจะแจ้งให้ทราบอีกทีหนึ่ง
ด้าน น.ส.ชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์การเข้ามาทำงานทางการเมืองของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยว่า หลักการโดยทั่วไปนั้นการเมืองไม่ได้จำกัดหรือผูกขาดไว้เพียงตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ขณะเดียวกันไม่มีข้อจำกัดใดตามรัฐธรรมนูญห้ามไม่ให้ตระกูลใดตระกูลหนึ่งเข้ามาทำงานทางการเมืองด้วยเช่นกัน ตำแหน่งทางการเมืองถือเป็นตำแหน่งสาธารณะ ดังนั้นผู้ที่ออกมาให้ความเห็นต่างๆ ไม่ควรด่วนคิดตัดสินใจแทน เพราะสุดท้ายประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเอง
“การทำงานทางการเมืองของ น.ส.แพทองธารกับพรรคเพื่อไทยเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น การเปิดตัวในฐานะประธานที่ปรึกษาและหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย อาจสร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองอยู่ไม่น้อย จนทำให้คนที่กลัวดีเอ็นเอตระกูลชินวัตร กลัวว่าจะกระทบต่อการรักษาอำนาจทางการเมืองของตัวเองและพวกพ้อง เพราะที่ผ่านมานายกฯ จากตระกูลชินวัตรเคยสร้างความสำเร็จในการทำนโยบายที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนไว้มากมาย” น.ส.ชญาภากล่าว
น.ส.ชญาภากล่าวอีกว่า ครอบครัวการเมืองหรือทายาททางการเมืองไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในสังคมโลก ไม่ใช่การสืบทอดทางการเมือง แต่คือการสืบทอดอุดมการณ์ประชาธิปไตย สืบทอดอุดมการณ์ทางการเมือง เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกามีตระกูลคลินตัน ตระกูลบุช ส่วนในฝั่งเอเชียก็มีตัวแทนจากตระกูลนักการเมืองจำนวนไม่น้อย ที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำจากการเลือกตั้งของประชาชน ส่วนที่มีผู้กังวลว่าเส้นทางการเมืองของ น.ส.แพทองธารจะสะดุดจบลงด้วยการทำรัฐประหารตามรอยเดิมนั้น สิ่งที่สังคมต้องช่วยกันตระหนักคือ ต้องช่วยกันคัดค้านไม่ให้อำนาจนอกระบบเข้ามาตัดตอนกระบวนการทางประชาธิปไตยมากกว่า ไม่ใช่ตั้งแง่กับรัฐบาลพลเรือนหรือคนที่มาจากประชาชน
นายสุขสันต์ แสงศรี คณะกรรมการโฆษกพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กโต้ว่า "การเข้ามาทำงานการเมืองของใครก็ตามเป็นเรื่องที่ดีน่าชื่นชม แต่การที่รองโฆษกพรรค พท.อ้างว่ามีคนขัดขวาง น.ส.แพทองธารหรือดีเอ็นเอชินวัตรเข้ามาเล่นการเมือง จึงเป็นคำโกหกบิดเบือน เพราะไม่มีใครปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของแต่ละคนได้ ทุกคนทุกตระกูลมีสิทธิ์เข้ามาทำงานการเมือง เพียงแต่พอเอ่ยถึงดีเอ็นเอชินวัตร ภาพเก่าภาพหลอนมันเกิดขึ้นจากพฤติกรรมที่เคยทำไว้ โดยเฉพาะการเข้าสู่การเมือง เมื่อได้อำนาจจากประชาชนแล้วก็เข้าไปโกง เมื่อกระบวนการยุติธรรมชี้ว่าผิด ก็ใช้วิธีหนีไปต่างแดน ไม่รับผิดชอบ ไม่เคารพกระบวนการยุติธรรมเหมือนประชาชนทั่วไป ประเด็นนี้ต่างหากที่เป็นต้นตอทำลายชาติ ดีเอ็นเอแบบนี้ที่คนเขาเรียกปีศาจการเมือง ที่คนกลัวว่าจะมาทำลายชาติซ้ำแล้วซ้ำเล่า"
วันเดียวกัน นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ. ... รัฐสภา กล่าวถึงการนัดประชุม กมธ.ในวันที่ 7 เม.ย.เพื่อลงมติ 2 ประเด็นในร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่..) พ.ศ. ... การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ร่วมจัดตั้งพรรคการเมือง และประเด็นการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองที่เรียกเก็บจากสมาชิกพรรค ว่าจากการหารือของ กมธ.ซีกฝ่ายค้านจะสนับสนุนการลดอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรค จากเดิมมีอัตรารายปี 100 บาท เป็น 20 บาท และถาวร 2,000 บาท เป็น 200 บาท ส่วนการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองนั้น เบื้องต้นฝ่ายค้านมีประเด็นเสนอให้พิจารณาเพิ่มเติม 4 ประเด็น คือ 1.ลดจำนวนผู้ร่วมจัดตั้งพรรคการเมือง จาก 500 คน เป็น 100 คน 2.ยกเลิกทุนประเดิมพรรคที่กำหนดให้ต้องมี 1 ล้านบาท 3.ลดอายุของผู้ร่วมจัดตั้งพรรค จาก 20 ปี เป็น 18 ปี และ 4.ผ่อนปรนคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ร่วมจัดตั้งพรรค.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปชน.กระทุ้งกต. ปรับท่าทีเชิงรุก เร่งช่วย4ลูกเรือ
กต.นัดถกเมียนมา 19 ธ.ค.นี้ ช่วยลูกเรือไทย 4 คน “โรม” ผิดหวังคำตอบทางการ
แม้วยันเกาะกูดของไทย ไม่ใช่‘ควาย’ยกให้เพื่อน
“ทักษิณ” ลั่นล้านเปอร์เซ็นต์เกาะกูดเป็นของไทย ใครจะบ้ายกให้
สจ.จอยประกาศไม่เผาศพ!
7 ผู้ต้องหาคดียิง "สจ.โต้ง" คอตกเข้าคุกเรียบร้อย
กกต.ย้ำ1ก.พ.เลือก47อบจ. พท.จ่อเคาะชื่อเก้าอี้โคราช
กกต.ย้ำเลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด 1 ก.พ.2568
พ่อนายกฯขู่เช็กบิล! พรรคร่วมโดดประชุมครม.-นักร้อง/ขอพระเจ้าอยู่ต่ออีก17ปี
"เพื่อไทย" คึก! 3 นายกฯ ร่วมทีมขึ้นรถไฟสัมมนาพรรคที่หัวหิน "นายกฯ อิ๊งค์" ขอ สส.ไม่แบ่งขั้ว-อายุ ยอมรับ 3 เดือนโฟกัสงานรัฐบาล
หัวลำโพงคึกคัก! 'อิ๊งค์' นำทีม พท. สัมมนาหัวหิน ตื่นเต้นขึ้นรถไฟรอบ 20 ปี
’แพทองธาร‘ นำทีม ’เพื่อไทย’ ขึ้นรถไฟขบวนพิเศษ มุ่งหน้าสัมมนาหัวหิน ‘เศรษฐา-โอ๊ค-เอม’ ร่วมด้วย ตื่นเต้นนั่งรถไฟรอบ 20 ปี