อนุทินย้ำปลดล็อกกัญชา ขอชาวบ้านอดใจรอ1มิ.ย.

“อนุทิน” ลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น ย้ำความสำเร็จนโยบายกัญชา หลังปลดล็อก ถอดจากความเป็น

ยาเสพติด กำหนดบังคับใช้เดือนมิถุนาฯ     65 ขอโทษประชาชน ปมปลูก 1 ต้นรักษาตัวเองแต่ถูกจับ แจงเป็นความสับสนกฎหมายช่วงเปลี่ยนผ่าน ขอชาวบ้านอดใจรออีกนิด

1 เมษายน 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น  อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง ตัวแทนฝ่ายปกครองในพื้นที่ บุคลากรทางการแพทย์ อสม. พ่อค้า ประชาชน ได้เข้าร่วมงานประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์เขตสุขภาพที่ 7 ซึ่งในงานดังกล่าว เพื่อมอบนโยบายในการสนับสนุนให้ประชาชนปลูก และใช้กัญชาถูกกฎหมาย มีการจำหน่ายสินค้าที่มีส่วนผสมของกัญชาและกัญชง รวมถึงสาธิตการใช้กัญชา กัญชง เพื่อปรุงอาหาร ไปจนถึงการบำบัดอาการจากความเจ็บป่วย

นายอนุทินกล่าวว่า นโยบายกัญชาทางการแพทย์ เริ่มต้นมาตั้งแต่ที่พรรคภูมิใจไทยใช้ประกาศไว้กับประชาชน เป็นคำสัญญาว่า ถ้าเรามีโอกาสทำงาน  สิ่งที่เราเคยพูด ต้องทำ และต้องทำให้สำเร็จ ขอขอบคุณทางบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ที่ร่วมกันผลักดัน จนกัญชาได้ปลดออกจากความเป็นยาเสพติดแล้ว ทั้งในประมวลกฎหมายยาเสพติด และประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เราใช้เวลา 3 ปี ผลักดันเรื่องนี้มาไกลมาก เราเริ่มก้าวแรก จากการใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ มีผู้ป่วยได้รับการรักษานับแสนราย จากการไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลตามที่ต่างๆ ได้เห็นการใช้น้ำมันกัญชาในการรักษาผู้ป่วยจากหลากหลายอาการ ผลของการใช้การนำกัญชาโรคลมชัก โรคพาร์กินสัน ภาวะคลื่นไส้และอาเจียนจากยาเคมีบำบัด นอนไม่หลับ ที่ผู้ป่วยและญาติเล่าว่า การใช้กัญชาสามารถเสริมการรักษาแผนปัจจุบันได้อย่างดี   ช่วยให้คุณภาพชีวิตดียิ่ง ในบางรายลดการใช้ยาแผนปัจจุบันราคาแพงที่ต้องเสียเงินเพิ่มได้

อย่างไรก็ตาม การใช้กัญชาจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลรักษาโดยแพทย์ แพทย์แผนไทย หรือแพทย์พื้นบ้านที่มีใบอนุญาตในการสั่งจ่าย

เป้าหมายที่สอง คือ การผลักดันให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน ต้องขอขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่ทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการปรับเปลี่ยนข้อกฎหมายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการปลูกและต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพได้ง่ายขึ้น มีการจัดทำแนวทางการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง อำนวยความสะดวกให้เกษตรกรและผู้ประกอบการดำเนินการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันเรามีวิสาหกิจชุมชน ปลูกกัญชากว่า 400 แห่ง ปลูกกัญชงกว่า 1,800 แห่ง ที่ได้รับอนุญาตและมีผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชง ออกสู่ตลาดอย่างกว้างขวาง

การเปิดโอกาสให้ประชาชนรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน สามารถขออนุญาตปลูกกัญชาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ยา อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นคือ การสร้างงาน การสร้างเงินทั้งในระดับครัวเรือน ระดับวิสาหกิจชุมชน และระดับประเทศ กัญชาสามารถพลิกโฉมให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

“ปัญหาตอนนี้คือ เจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น กัญชาได้ถูกปลดออกไปจากความเป็นยาเสพติดแล้ว และจะบังคับใช้ในช่วงวันที่ 8-9 มิถุนายนนี้ แต่กว่าจะถึงจุดนั้น นี่คือช่วงเปลี่ยนผ่าน เป็นช่วงที่หลายๆ ฝ่ายเกิดความสับสน กระทั่งมีการจับชาวบ้านที่ปลูกกัญชา 1 ต้นไว้รักษาตนเอง ซึ่งผมในฐานะตัวแทนรัฐบาล ต้องขอโทษด้วย ทั้งนี้ นโยบายกัญชาจะมีความสมบูรณ์ในเดือนมิถุนายน ก่อนจะถึงเวลานั้น หากต้องการจะปลูก ให้รวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชนไปก่อน และเมื่อถึงเวลานั้น ขอให้ประชาชนใช้กัญชาในทางที่ถูกต้อง อย่าให้กัญชาต้องวนกลับไปที่จุดเดิม เราสามารถช่วยกันได้”

สำหรับเขตสุขภาพที่ 7 ประกอบไปด้วยจังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ มีการดำเนินการทั้งในส่วนต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยในส่วนต้นน้ำ มีการปลูกกัญชา 57 แห่ง พื้นที่ 5,703 ตารางเมตร ปลูกกัญชง 114 แห่ง พื้นที่รวม 160,463 ตารางเมตร ในส่วนกลางน้ำ มีโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการผลิตยาจากกัญชาและผลิตภัณฑ์สมุนไพร คือ โรงพยาบาลมหาสารคาม โรงพยาบาลสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด โรงพยาบาลกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ และโรงพยาบาลพล จังหวัดขอนแก่น ส่วนปลายน้ำ สามารถเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลภาครัฐและคลินิกกัญชาทางการแพทย์ ภาคเอกชน รวม 74 แห่ง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยากัญชาทั้งแผนไทยแผนปัจจุบัน

จุดเด่นของเขตสุขภาพที่ 7 อีกอย่างหนึ่งคือ การพัฒนาเพื่อนำไปใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร ท้องถิ่นและผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เช่น น้ำปลาร้าปรุงรสผสมใบกัญชา ดักแด้ทอดกรอบผสมใบกัญชา เจลลี่ น้ำมัลเบอร์รีผสมใบกัญชา ผลิตภัณฑ์ขัด พอกและบำรุงผิวจากเมล็ดกัญชง เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในผลิตภัณฑ์เด่นของแต่ละจังหวัด และการนำผลิตภัณฑ์กัญชาและกัญชงไปประยุกต์ให้บริการในสปาอีสานอีกด้วย

สำหรับบรรยากาศภายในงานออกบูธ นายอนุทินได้แวะบูธสาธิตร้าน "เฮือนคำนาง" โดยร่วมทำอาหารในเมนู "เอาะปูนาผสมใบกัญชา" ซึ่งเป็นการนำปูนามาแล่เอามันปูต้มกับน้ำปลาร้า ใส่ผักต่างๆ รวมถึงใบกัญชา ซึ่งเป็นเมนูพื้นถิ่นของภาคอีสาน ผู้ที่มาเยือนขอนแก่น จะต้องเรียกหาเมนูนี้ นอกจากนี้ นายอนุทินยังได้สนใจใช้บริการ "สปากัญชง" ที่นำเมล็ดกัญชงมาสกัดน้ำมันนวดเพื่อผ่อนคลาย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงการปลดล็อกกัญชา กัญชง เพื่อสุขภาพและรายได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง