คุมเข้มโควิดตลอดสงกรานต์

โควิดประเทศไทยทรงตัว พบติดเชื้ออีก 2.4 หมื่นราย เสียชีวิต 81 “นายกฯ” เน้นย้ำมาตรการป้องกันเข้มตลอดสงกรานต์ เชื่อควบคุมการระบาดหลังผ่านเทศกาลได้ "อนุทิน" ยัน "ฟาวิพิราเวียร์" กระจายทั่วถึงไม่มีเก็บไว้ในสต๊อก วอนให้อดทนอีกปีเรากำลังเดินเข้าสู่โรคประจำถิ่น

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 24,635 ราย ติดเชื้อในประเทศ  24,570 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ  24,288 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 282 ราย มาจากเรือนจำ 31 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 34 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 25,753 ราย อยู่ระหว่างรักษา 250,737 ราย อาการหนัก 1,718  ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 675 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 81 ราย เป็นชาย 46 ราย หญิง  35 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 56 ราย มีโรคเรื้อรัง 20  ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 5 ราย ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,553,720  ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน  3,278,103 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี  2563 จำนวน 24,880 ราย

ส่วนยอดฉีดวัคซีนวันที่ 27 มี.ค.65 110,982 โดส ยอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64  จำนวน 128,760,443 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 482,114,270 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม  6,148,302 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่  กทม. 3,248 ราย ชลบุรี 1,390 ราย นครศรีธรรมราช 1,328 ราย สงขลา 973 ราย สมุทรสาคร  872 ราย สมุทรปราการ 865 ราย นครปฐม 676  ราย นนทบุรี 539 ราย ฉะเชิงเทรา 526 ราย ระยองและอุบลราชธานี จังหวัดละ 514 ราย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เน้นแนวทางการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะสถานการณ์ช่วงก่อน ระหว่าง และหลังเทศกาลสงกรานต์  ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ กำชับทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามมาตรการ VUCA อย่างเข้มงวด ได้แก่ V-วัคซีน ขอให้เข้ารับการฉีดวัคซีนและวัคซีนเข็มกระตุ้น U-ป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา C-COVID Safe Living  ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย หลีกเลี่ยงจัดกิจกรรมเสี่ยง และ A-ตรวจ ATK กรณีที่มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ 

รวมทั้งสถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ  ยังคงใช้มาตรการ COVID Free Setting และการตรวจ ATK อย่างสม่ำเสมอ นายกรัฐมนตรียังเน้นทิศทางการทำงานของรัฐบาล โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมการตรวจหาเชื้อ การฉีดวัคซีน ระบบการดูแลรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ ลดการระบาด ลดจำนวนผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ หากทุกฝ่ายเข้มแข็งในการปฏิบัติตามมาตรการ ลดความเสี่ยงทุกกิจกรรม อาจทำให้สามารถควบคุมการติดเชื้อโควิด-19 หลังเทศกาลสงกรานต์ให้ต่ำกว่าที่กระทรวงสาธารณสุขประมาณการได้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณี จ.สุรินทร์ประกาศความพร้อมเป็นจังหวัดนำร่องทำโควิด-19  เข้าสู่โรคประจำถิ่น ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ว่า การบริหารจัดการเรื่องดังกล่าวขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) เป็นเลขานุการ

 หากผู้ว่าราชการจังหวัดมีความตั้งใจจริง ตนต้องขอชมเชยส่งกำลังใจให้ หากแต่ละจังหวัดเกิดความกระตือรือร้น อยากให้กลับสู่สภาวะปกติที่สุดก็เป็นเรื่องที่ดี กระทรวงสาธารณสุขพร้อมให้การสนับสนุนทุกจังหวัด  จริงๆ ต้องทำในระดับจังหวัดขึ้นมา หากทำได้อย่างดีก็จะเกิดเป็นระดับภูมิภาค และมาเป็นระดับประเทศ ทุกคนต้องช่วยกัน ต่างคนให้ความร่วมมือกัน ประสานงานกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และอื่นๆ เป็นสิ่งที่ต้องสนับสนุนอย่างเต็มที่

ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับ จ.สุรินทร์ได้ดำเนินการเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2565 ด้วยระบบของจังหวัด สามารถทำได้ แต่ในภาพรวมจะต้องเป็นไปตามกรอบใหญ่ที่วางไว้ ซึ่งไม่ได้แตกต่างกัน เพียงแต่จังหวัดก็ประกาศตัวเพื่อสร้างกำลังใจให้ประชาชน เพื่อสร้างความร่วมมือ ก็เป็นเรื่องที่ดี ขณะที่การประกาศจากส่วนกลางก็เป็นไปตามกรอบใหญ่ ยึดตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19  (ศบค.) และกระทรวงสาธารณสุขวางกรอบไว้เป็นหลัก

จากกรณีที่ชมรมแพทย์ชนบทออกมาให้ข่าวว่า ขณะนี้ กำลังเกิดปัญหายาฟาวิพิราเวียร์ขาดแคลนนั้น ล่าสุด วันนี้ (28 มี.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นข้างต้นว่า สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาสำคัญในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 องค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีสารตั้งต้นในการผลิตได้เองในประเทศ  พร้อมกับมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.รายงานว่า ได้ติดตามดูแลการจัดส่งยาฟาวิพิราเวียร์ไปยังสถานพยาบาลทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด

นอกจากนั้น เรายังได้จัดหายาตัวอื่นๆ ทั้งยาเรมเดซิเวียร์, ยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิด เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ตามระดับความรุนแรงของอาการ  การใช้ยาต่างๆ ข้างต้นนั้นจะมีแนวทางใช้ตามอาการของผู้ติดเชื้อ

 “ยาฟาวิพิราเวียร์เราได้กระจายอย่างทั่วถึง เราไม่มีทางเก็บยาไว้ในสต๊อก โดยที่ยังมีความต้องการใช้ ทางส่วนกลางจะส่งยาไปที่จังหวัด ทั้งนี้การบริหารจัดการจะอยู่ในระดับจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นเรื่องของการประสานงานระดับพื้นที่” นายอนุทินกล่าว

เมื่อถามถึงกรณีมีผู้เสนอให้มีการเล่นสาดน้ำในถนนข้าวสาร นายอนุทินกล่าวว่า คิดว่าเรายังมีความจำเป็นในการลดความเสี่ยงหลายด้าน โควิด-19 ไปกับคน ติดได้จากการสัมผัส ใช้ภาชนะร่วมกัน ดังนั้นการสาดน้ำที่ต้องมีการสนุกสนานก็เป็นความเสี่ยง อย่างไรก็ตามมาตรการสงกรานต์ปีนี้ไม่ได้ปิด ยังสามารถพบปะกันได้

 “ขอให้อดทนอีกสักปี เรากำลังเดินเข้าสู่โรคประจำถิ่น  ที่ไม่ใช่การประกาศไปอย่างเดียว แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนด้วย เราตั้งใจจะเข้าสู่โรคประจำถิ่น ก็พยายามอย่าไปเพิ่มความเสี่ยงในปัจจัยอื่นๆ แล้วเมื่อเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ทุกอย่างก็จะคลี่คลายไปได้มาก”

ทั้งนี้ เพจ "ชมรมแพทย์ชนบท" ระบุว่า "สถานการณ์ฟาวิพิราเวียร์ที่ขาดหนักทั้งประเทศ ยังไม่ดีขึ้นนับตั้งแต่ที่ชมรมแพทย์ชนบทออกมาบ่นดังๆ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์  2565 และผู้ใหญ่ผู้โตพูดออกสื่อว่า 'ไม่จริง ยามีเพียงพอ'  แต่ความจริงถ้าลองถามโรงพยาบาลต่างๆ ดูจะพบว่าช่วงเดือนสองเดือนนี้ฟาวิฯ มีใช้อย่างจำกัดจำเขี่ย แม้จ่ายยาตามแนวปฏิบัติของกรมการแพทย์ที่ใช้จ่ายเฉพาะคนอายุ  60 ปีขึ้นไป ก็ยังไม่พออย่างยิ่ง ขาดหนักจนบางพื้นที่ให้เฉพาะคนที่มีภาวะปอดบวมเท่านั้น

ฟาวิฯ พอไม่พอ ขอให้ สธ.แถลงแบบลงรายละเอียดว่า เหตุใดฟาวิฯ จึงขาดหนัก การนำเข้าเคมีภัณฑ์สะดุดหรือ องค์การเภสัชฯ ผลิตปั๊มเม็ดยาได้สัปดาห์ละกี่เม็ด คงที่ไหม ราคาผลิตเองเม็ดละเท่าไหร่ ข่าวที่ว่าองค์การเภสัชฯ จะเลิกผลิตโดยจะนำเข้าอย่างเดียวจริงไหม ทำไม  ขณะนี้นำเข้ามาสัปดาห์ละกี่เม็ด ราคาเม็ดละเท่าไหร่ รวมๆ  แล้วแต่ละสัปดาห์จะมีฟาวิฯ  ให้กระจายได้กี่เม็ด จะกระจายอย่างไร เป็นต้น".

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง