ประชาชนเครียด ปัญหาสินค้าแพง ปลื้ม10มาตรการ

“ธนกร” ฟุ้ง “บิ๊กตู่” ดูแลประชาชนทุกภาคส่วน สวนดุสิตโพลเผยประชาชนสุดหนักใจเรื่องแพงทั้งแผ่นดิน  หวังให้รัฐบาลเร่งแก้ช่วยเหลือดูแล “ซูเปอร์โพล” ชี้คนส่วนใหญ่ชอบ 10 มาตรการด้านพลังงาน 59.7% ยังให้โอกาสทำงานต่อ

เมื่อวันอาทิตย์ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับการดูแลช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ควบคู่กับทำให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าได้  รวมถึงออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนด้านต่างๆ ทั้งด้านพลังงานและเชื้อเพลิง ค่าครองชีพ ด้านขนส่ง แรงงานและนายจ้าง โดยมุ่งเน้นให้การใช้จ่ายงบประมาณที่มีอยู่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ และอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การบริหารจัดการที่เป็นไปอย่างมีระบบ มีแผนงาน/โครงการที่ชัดเจน ทำให้ขณะนี้ฐานะทางการเงินการคลังของประเทศไทยยังมีเสถียรภาพที่เข้มแข็ง

นายธนกรกล่าวอีกว่า จากข้อมูลของกระทรวงการคลัง พบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยังเดินหน้าต่อไปได้คือภาคเกษตร และการค้าขายชายแดน ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านในรอบอาเซียนยังคงพึ่งพาสินค้าอุปโภคบริโภคอยู่ ทั้งนี้ ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในปี 2565 คือภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ แรงขับเคลื่อนจากภาครัฐทั้งการใช้จ่ายงบประมาณปี 2565 และการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ รวมถึงในส่วนของภาคเอกชนที่ได้มีการระดมทุน โดยเฉพาะการออกหุ้นกู้ทั้งบริษัทที่อยู่ในตลาดและนอกตลาดในปี 2564 ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

วันเดียวกันนี้ สวนดุสิตโพลได้เผยผลสำรวจทางออนไลน์จากประชาชน 1,047 คนทั่วประเทศ ในหัวข้อความหนักใจของคนไทย ณ วันนี้ โดยเมื่อถามถึง 5 เรื่องที่ประชาชนหนักใจมากที่สุด ณ วันนี้ พบว่า  89.73% ของแพง น้ำมันแพง ค่าครองชีพสูง, 87.43% เศรษฐกิจย่ำแย่, 73.70% การบริหารงานของรัฐบาล, 71.21% โควิด-19 และ 70.44% พฤติกรรมของนักการเมือง ทั้งนี้ เมื่อถามต่อเนื่องว่าประชาชนรู้สึกหนักใจกับปัญหาต่างๆ ในระดับใด พบว่า 56.73% ค่อนข้างหนักใจ,  38.78% หนักใจมาก, 4.01% ไม่ค่อยหนักใจ และ 0.48% ไม่หนักใจ  

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ประชาชนหนักใจ พบว่า 80.97% ทุกอย่างขึ้นราคา,   57.10% การแก้ปัญหาของรัฐบาล,   47.25% เงินไม่พอใช้, 45.22% มีหนี้สิน และ 43.38% มีมิจฉาชีพหลอกลวงมากขึ้น ส่วนวิธีรับมือปัญหาที่ประชาชนหนักใจ พบว่า 76.14% ตั้งสติ อดทน ให้กำลังใจตัวเอง, 58% ยอมรับสภาพ ทำใจ ปลง,   57.23% พยายามนึกถึงครอบครัว คนที่เรารัก, 56.06% หาวิธีการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง และ 38.12% พูด ระบายให้คนอื่นฟัง       

ถามถึงประชาชนอยากให้รัฐบาลดำเนินการอย่างไร 75.77% รับฟังความคิดเห็นช่วยเหลือประชาชนให้มากขึ้น,   71.61% สนใจชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมากกว่าเล่นเกมการเมือง,  66.57% มีมาตรการลดค่าน้ำมัน ลดค่าครองชีพ ลดค่าน้ำค่าไฟ, 63.11% เร่งออกมาตรการช่วยเรื่องค่าใช้จ่าย เช่น คนละครึ่ง และ 56.28% ควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 

“ภาพรวมรายได้ของประชาชน ณ วันนี้ เพียงพอกับรายจ่ายหรือไม่ พบว่า 41.26% ไม่พอใช้และมีหนี้สิน, 30.37% พอใช้แต่ไม่มีเงินเหลือเก็บ, 16.81% ไม่พอใช้แต่ไม่มีหนี้สิน และ 11.56% พอใช้และมีเงินเหลือเก็บ” ส่วนดุสิตโพลระบุ

ขณะที่สำนักวิจัยซูเปอร์โพลได้เผยผลสำรวจเรื่อง ความคิดเห็นต่อ 10 มาตรการช่วยเหลือประชาชน

จากประชาชน 1,159 ตัวอย่าง พบว่า 92.1% ของกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์ตรงได้แก่ พนักงานบริษัทเอกชน ผู้ประกอบการ เป็นต้น พอใจต่อมาตรการลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จาก 5% เหลือ 1% ในขณะที่ผู้รับประโยชน์ทางอ้อม 58.3% พอใจ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ 91.2% ของผู้ได้รับประโยชน์ตรง ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้ก๊าซ NGV พอใจต่อการคงราคาขายปลีกผู้ที่ใช้ก๊าซ NGV ไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ 55% ของกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์ทางอ้อมพอใจ

ทั้งนี้ หากเรียงลำดับสัดส่วนของผู้ได้รับประโยชน์ตรงที่พอใจต่อมาตรการอื่นๆ พบว่า 88.2% พอใจต่อการเพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มเงินจากเดิม 45 บาท เป็น 100 บาท/เดือน,  87.1% พอใจต่อกำกับดูแลการปรับราคาก๊าซหุงต้มในช่วงตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย. โดยใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปช่วยลดผลกระทบจากการปรับราคาให้ไม่ขึ้นสูงเกินไป, 87.1% เช่นกัน พอใจต่อส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ,  86.8% พอใจต่อผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน สามารถซื้อก๊าซได้ในราคา 13.62 บาท/กิโลกรัม,  86.6% พอใจต่อช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก, 83.9% พอใจต่อการช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยลดค่า Ft ลง 22 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. และ 82.5% พอใจต่อการลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตน

เมื่อถามถึงความพอใจต่อ 10 มาตรการช่วยเหลือโดยรวม พบว่า 84.2% ระบุพอใจ และ 15.8% ระบุไม่พอใจ นอกจากนี้ เมื่อถามถึงการสนับสนุนของประชาชนต่อการออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมของภาครัฐ ส่วนใหญ่หรือ 78% ระบุสนับสนุน และ 22% ระบุไม่สนับสนุน ที่น่าสนใจคือเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อการให้โอกาสการทำงานของรัฐบาล ส่วนใหญ่หรือ 59.7% ระบุยังให้โอกาสรัฐบาลได้ทำงานต่อ ในขณะที่ 40.3% ระบุไม่ให้โอกาส

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลนี้สะท้อนให้เห็นอย่างน่าสนใจว่าวิกฤตความเดือดร้อนของประชาชนที่กำลังเผชิญ ที่สืบเนื่องมาจากผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 และสงครามทางทหารระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งหลายประเทศได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและอ้อม โดยแต่ละประเทศได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบครั้งนี้ เช่น เกาหลีใต้ ยืดการลดภาษีพลังงานออกไป, ฟิลิปปินส์ ดำเนินโครงการอุดหนุนเชื้อเพลิงสำหรับระบบคมนาคม, มาเลเซีย ใช้งบประมาณ เพื่ออุดหนุนปิโตรเลียม,  ฝรั่งเศส ประกาศแผนลดภาษีค่าใช้จ่ายด้านคมนาคม สำหรับผู้สัญจรลงอีก 10% และบราซิลการให้เงินอุดหนุนและการยกเว้นภาษี เป็นต้น

ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวต่อว่า มาตรการที่รัฐบาลออกมา ส่วนใหญ่ได้รับความพึงพอใจจากประชาชนค่อนข้างมาก ซึ่งคล้ายกับมาตรการต่างๆ ของหลายประเทศที่กำลังออกมาให้ความสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบจากโควิดและสงคราม ทั้งด้านพลังงาน การขนส่ง ค่าครองชีพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

“ความต้องการของประชาชนในการขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลในวิกฤตเศรษฐกิจยังมีอีกมาก ซึ่งตรงข้ามกับการจัดเก็บรายได้เข้าแผ่นดินของรัฐบาลที่ลดลง ดังนั้นการบริหารเงินสาธารณะคงคลังปัจจุบันให้เกิดประโยชน์สูงสุดจึงมีความสำคัญที่รัฐบาลจำเป็นต้องกำหนดความเร่งด่วนกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงานสร้างรายได้ที่ยั่งยืน และตรงกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นฐานรากหลักของประเทศ เช่น กระตุ้นฟื้นตัวการท่องเที่ยว ที่มีธุรกิจลูกโซ่ระดับรากหญ้าได้รับประโยชน์เป็นวงกว้าง เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับมาตรการควบคุมโรคคู่กันไป” นายนพดลกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟ้องต้นตอหมอคางดำ

สภาทนายความฯ เตรียมฟ้องแพ่งบิ๊กเอกชน-หน่วยงานรัฐ ต้นตอ "เอเลี่ยนสปีชีส์"

‘เนวิน’รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดมิวสิคัลเทิดพระเกียรติ

“เนวิน” รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา แสดง แสง สี เสียง มิวสิคัล “ลมหายใจของแผ่นดิน” โดยบุรีรัมย์ออร์เคสตรา แสดงความจงรักภักดี 28-30 ก.ค.2567 สนามช้างอารีนา บุรีรัมย์