ขู่คุกคามรัสเซีย ใช้นิวเคลียร์แน่ USบี้ขับพ้นจี20

ผู้นำยูเครนระบุยังมีพลเรือนเกือบ 100,000 คนติดอยู่ในเมืองท่ามาริอูโปลที่โดนรัสเซียถล่มหนัก รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียกล่าวหาสหรัฐคอยชักใยยูเครนบั่นทอนการพูดคุยสันติภาพ เครมลินไม่ตัดความเป็นไปได้ของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ "ไบเดน" เตรียมชงขับรัสเซียพ้นจี 20 แต่จีนไม่เอาด้วย

รายงานของเอเอฟพีเมื่อวันพุธที่ 23 มีนาคม 2565 กล่าวว่า เมืองมาริอูโปลที่เป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในภาคใต้ของยูเครนแห่งนี้โดนรัสเซียโจมตีทางอากาศแบบไม่เลือกหน้ามานานหลายสัปดาห์ ที่โลกตะวันตกระบุว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม และองค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรต์วอตช์กล่าวว่า ชาวเมืองที่ยังตกค้างต้องอยู่ในสภาพอากาศเยือกแข็งที่เต็มไปด้วยศพและอาคารที่โดนทำลาย

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน กล่าวผ่านวิดีโอเมื่อวันพุธว่า มีพลเรือนมากกว่า 7,000 คนหนีออกจากเมืองนี้ได้ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา แต่กลุ่มหนึ่งที่อพยพตามเส้นทางมนุษยธรรมออกจากฝั่งตะวันตกของเมืองโดนรัสเซียจับตัวไว้ "วันนี้ เมืองนี้ยังมีคนเกือบ 100,000 คนอยู่ในสภาพที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม โดนปิดล้อมอย่างสิ้นเชิง ไม่มีอาหาร, น้ำ, ยา, โดนยิงถล่มอย่างต่อเนื่องและโดนทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่อง" เขากล่าว

ภาพถ่ายดาวเทียมของบริษัท แม็กซาร์ เผยสภาพภูมิทัศน์ของเมืองนี้ที่โดนระเบิดและไฟไหม้เกรียม อาคารหลายหลังมีเพลิงลุกไหม้และมีกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้นจากเมืองนี้

กองทัพยูเครนรายงานด้วยว่ามีการสู้รบภาคพื้นดินอย่าง "หนักหน่วง" กับทหารราบรัสเซียที่บุกเข้าเมืองหลังจากยูเครนปฏิเสธเส้นตายเมื่อวันจันทร์ให้ยอมจำนน

หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประเมินว่ามีพลเรือนในมาริอูโปลบาดเจ็บล้มตายรวมประมาณ 20,000 คน โดยอาจมีผู้เสียชีวิต 3,000 คน แต่ก็ไม่สามารถยืนยันตัวเลขที่แท้จริงได้ ขณะที่อันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็น เรียกร้องรัสเซียสงคราม "เหลวไหล" และ "ไม่สามารถเอาชนะได้" นี้ ไม่ช้าก็เร็ว สงครามนี้ต้องย้ายจากสนามรบไปสู่โต๊ะเจรจาสันติภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนของรัสเซียกับยูเครนมีเพียงความเห็นพ้องกันเรื่องระเบียงมนุษยธรรมที่เป็นเส้นทางการลี้ภัยออกจากเมืองที่เกิดการสู้รบ แต่ยูเครนยังคงท้าทายแรงกดดันของรัสเซียให้ปลดอาวุธและยุติความเป็นพันธมิตรกับโลกตะวันตก เซเลนสกีเคยกล่าวไว้ด้วยว่าข้อเรียกร้องที่มีการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์เช่นเรื่องไครเมียและดอนบาสนั้นต้องผ่านการลงประชามติของชาวยูเครนก่อน ซึ่งเท่ากับการปิดโอกาสโดยปริยาย เซเลนสกีมีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์ทางไกลต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำนาโตที่กรุงบรัสเซลส์วันพฤหัสบดี ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐจะมาร่วมด้วย

เซอร์เกย์ ลัฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย กล่าวในวันพุธว่า การเจรจากับยูเครนเป็นเรื่องยาก ยูเครนเปลี่ยนจุดยืนไปมาตลอด "เป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยงความรู้สึกที่ว่าเพื่อนชาวอเมริกันของเรากำลังจับมือพวกเขาไว้" ลัฟรอฟกล่าว พร้อมกับอ้างว่า เห็นได้ชัดว่าสหรัฐต้องการให้เราอยู่ในสภาวะปฏิบัติการทางทหารให้นานที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

ด้านดมิตรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลินของรัสเซีย กล่าวกับสถานีซีเอ็นเอ็นของสหรัฐเมื่อวันอังคาร ปฏิเสธที่จะตัดความเป็นไปได้ของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ หากรัสเซียเผชิญกับภัยคุกคามการดำรงอยู่ของประเทศ

ไม่กี่วันหลังการรุกราน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ประกาศเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ว่า เขาได้สั่งให้กองกำลังนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์เตรียมพร้อมขั้นสูง ซึ่งสร้างความตื่นตัวไปทั่วโลก หลังคำกล่าวของโฆษกรัฐบาลรัสเซีย จอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ตอบโต้ว่าการพูดเรื่องความเป็นไปได้ของการใช้อาวุธนิวเคลียร์นั้น "อันตราย"

วันก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีไบเดนเพิ่งกล่าวประโคมถึงความเป็นไปได้ว่ารัสเซียกำลังพิจารณาใช้อาวุธเคมีและชีวภาพในยูเครน เนื่องจากการรุกภาคพื้นดินหยุดชะงัก

เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐกล่าวว่า ไบเดน ซึ่งจะร่วมประชุมนาโต, สหภาพยุโรป และจี 7 ในวันพฤหัสบดี จะปรึกษาหารือกับชาติพันธมิตรเกี่ยวกับการคว่ำบาตรรอบใหม่ และอาจรวมถึงการขับรัสเซียพ้นกลุ่มจี 20 แต่ในการแถลงของหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนที่กรุงปักกิ่งในวันพุธ เขาย้ำว่าจี 20 เป็นการประชุมหลักสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ "รัสเซียเป็นสมาชิกสำคัญ และสมาชิกชาติใดก็ไม่มีสิทธิขับไล่ประเทศอื่น".

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!

"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย