ตีปี๊บ40ล้านคน ลดค่าครองชีพ ฝ่าวิกฤตน้ำมัน

"โฆษกรัฐบาล" แจง 10 มาตรการลดค่าครองชีพ คาดมีประชาชนได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 40 ล้านคน  ใช้วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท "สุพัฒนพงษ์" นำทีมเศรษฐกิจแถลงแพ็กเกจช่วยผู้มีรายได้น้อยฝ่าวิกฤตน้ำมันแพง

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบความลำบากของประชาชนที่เกิดขึ้น จากสถานการณ์ความผันผวนของราคาพลังงาน จากความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซียที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้าและบริการต่างๆ ทำให้ค่าครองชีพมีการปรับตัวสูงขึ้น จึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเร่งด่วนบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมัน เพิ่มเติมจากนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลได้ออกไปแล้วและยังใช้อยู่ โดยมีประชาชนที่ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 40 ล้านคน ใช้วงเงินไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท ดังนี้​

1.ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย จำนวน 20 ล้านหลังคาเรือน ได้รับส่วนลดค่า FT เป็นเวลา 4 เดือน​ 2.นายจ้างและผู้ประกันตนในมาตรา 33 จำนวน 11.2 ล้านคน ได้รับการลดเงินนำส่งจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 1 งวดค่าจ้าง พ.ค.-ก.ค. 3.เกษตรกร 9 ล้านคน จะได้รับประโยชน์จากการแก้ปัญหาปุ๋ยแพงและปุ๋ยขาด และแก้ปัญหาอาหารสัตว์​ 4.ผู้ใช้ก๊าซหุงต้มที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน ได้รับการเพิ่มวงเงินช่วยเหลือค่าก๊าซหุงต้มเป็น 100 บาท/3 เดือน เป็นเวลา 3 เดือน​ 5.ผู้ประกันตนในมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน ได้ลดเงินนำส่งจากร้อยละ 9 เหลือร้อยละ 1.9 งวดค่าจ้าง พ.ค.-ก.ค.

6.ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง 1.57 แสนคน ได้รับส่วนลดค่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 5 บาท/ลิตร จำนวน 50 ลิตร เป็นเวลา 3 เดือน​ 7.ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1,500 คน ได้รับส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละ 100 บาท เป็นเวลา 3 เดือน​ 8.ผู้ขับรถแท็กซี่ที่อยู่ในโครงการลมหายใจเดียวกัน ได้ซื้อก๊าซในราคา 13.62 บาท/กก. ในวงเงิน 10,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน​ 9.ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาท/ลิตร​ และ 10.คงราคาขายปลีก NGV ที่ 15.59 บาท/กิโลกรัม

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า มาตรการชุดนี้จะสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากครัวเรือนได้จริง โดยเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะยังสามารถขยายตัวอย่างน้อยได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 และวันที่ 24 มี.ค. เวลา 13.30 น. นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยปลัดกระทรวงพลังงาน, ปลัดกระทรวงการคลังล เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และผู้เกี่ยวข้อง จะร่วมแถลงรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย โดยเฉพาะมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนที่พุ่งเป้าไปที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ณ ทำเนียบรัฐบาลด้วย

 “นายกฯ ย้ำให้ทุกกระทรวงและทุกหน่วยงานทำงานอย่างหนักในการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ แก้ปัญหาหนี้สินภาคประชาชนให้ได้มากที่สุด ด้วยมาตรการและแผนฟื้นฟูประเทศที่ได้วางไว้ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรียืนยันมาตลอดว่า ไม่มีทิ้งใครไว้ข้างหลัง และยังจะเร่งเดินหน้า พลิกโฉมประเทศไทย สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ใหม่ๆ ให้คนไทยต่อไป” นายธนกรระบุ

ด้านนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาหนี้ภาคประชาชนตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือนว่า หลังมีการดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจากนี้ จะเร่งสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะให้มากขึ้นอีก เพื่อประชาชนที่มีปัญหาหนี้สินจะได้ใช้ประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ คณะกรรมการติดตามการดำเนินนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 และรายงานความคืบหน้าให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ เมื่อ 22 มี.ค. ดังนี้

1.การแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่ง กยศ.ได้ให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาไปแล้ว 6.15 ล้านราย วงเงินรวม 6.75 แสนล้านบาท พร้อมออกมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินช่วยผู้กู้ยืม เช่น ลดเบี้ยปรับร้อยละ 100 กรณีปิดบัญชีคราวเดียว 58,286 ราย และลดเบี้ยปรับร้อยละ 80 กรณีชำระหนี้ทันงวด 325,231 ราย 2.กำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ ซึ่งเน้นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFls) และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ได้จัดโครงการพักชำระหนี้ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองตามความสมัครใจ ซึ่งมีกองทุนเข้าร่วม 413 กองทุน สมาชิกรวม 32,055 ราย รวมวงเงินกู้ที่พักชำระหนี้จำนวน 901 ล้านบาท

3.การแก้ปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ กระทรวงยุติธรรมได้จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยเหลือลูกหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ และพักชำระหนี้ ประมาณ 5,000 คัน 4.การแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการครูและข้าราชการตำรวจ โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ครูไม่น้อยกว่า 10 แห่ง ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงเหลือไม่เกินร้อยละ 5 และขยายผลการแก้ไขหนี้ครูผ่านสหกรณ์ต้นแบบ สำหรับข้าราชการตำรวจได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้สินแล้วหลายพันราย

ส่วนกรณีการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบนั้น ได้มีการดำเนินการ อาทิ จับกุมเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายจำนวน 10,375 คน กระทรวงการคลังได้เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบให้กับลูกหนี้นอกระบบและประชาชนทั่วไป เช่น สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ โดยมีผู้ที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว 1,029 ราย ใน 75 จังหวัด และอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยแล้ว 1.24 ล้านบัญชี วงเงินรวม 1.69 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน กระทรวงยุติธรรมได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘อุ๊งอิ๊ง’ แจ้นตรวจนํ้าท่วม ชาวบ้านลำบากแต่ยิ้มได้

นายกฯ อิ๊งค์ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมภาคเหนือ เสียงสั่นเครือเห็นใจชาวบ้านยังคงลำบากไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่ชาวบ้านยังยิ้มแย้ม ดีใจและโบกมือให้