ยอดป่วยโควิดรายใหม่ 25,164 ราย เสียชีวิต 80 ราย "รัฐบาล" เคาะแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ ฉบับที่ 2 วาง 4 ยุทธศาสตร์ 11 แผนงาน 67 โครงการ "สธ." เผยไทยพบโควิดลูกผสม "เดลตาครอน" ติดเชื้อแล้ว 73 ราย ขออย่าเพิ่งตกใจ เหตุ WHO ยังจัดชั้นน่ากังวลแค่สายพันธุ์ต้องติดตาม แนะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสร้างภูมิเพิ่มช่วยได้
เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ประจำวันว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 25,164 ราย ติดเชื้อในประเทศ 25,116 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 139 ราย ค้นหาเชิงรุก 43 ราย เรือนจำ 43 ราย ต่างประเทศ 48 ราย ทำให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,423,956 ราย หายป่วยรายใหม่ 24,770 ราย ทำให้มียอดหายป่วยยืนยันสะสม 3,162,331 ราย อยู่ระหว่างรักษา 237,128 ราย อาการหนัก 1,496 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 562 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 80 ราย ชาย 42 ราย หญิง 38 ราย เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ขึ้นไป 59 ราย ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 15 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 24,497 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 474,671,591 ราย เสียชีวิตสะสม 6,122,360 ราย
สำหรับจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ กทม. 3,378 ราย, ชลบุรี 1,434 ราย, นครศรีธรรมราช 1,188 ราย, สมุทรปราการ 869 ราย, สมุทรสาคร 732 ราย, สงขลา 700 ราย, นนทบุรี 646 ราย, ฉะเชิงเทรา 605 ราย, ราชบุรี 575 ราย และบุรีรัมย์ 547 ราย
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงช่วงเทศสงกรานต์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เน้นย้ำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในผู้สูงอายุเพื่อต้อนรับลูก-หลานกลับบ้านอย่างปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์
ส่วน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่ประเทศไทยได้เผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากว่า 2 ปี รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการมีแผนสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันประชาชนจากโรคอุบัติใหม่ผ่านโครงการต่างๆ ซึ่งร่างนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2566-2570 ที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2565
โดยเป็นแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 2 ที่เข้ามารับช่วงต่อจากฉบับที่ 1 ที่จะสิ้นสุดลงในปี 2565 ซึ่งจะเป็นกรอบในการขับเคลื่อนผลักดันการพัฒนาสู่ความมั่นคงด้านวัคซีนในระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566- 2570) มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นโยบายและแผนพัฒนาระดับชาติ เช่น กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แผนยุทธศาสตร์ สธ. 20 ปี (พ.ศ.2560- 2579 (ร่าง) ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) และแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 12
ทั้งนี้ ตามร่างแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ ฉบับที่ 2 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 11 แผนงาน 67 โครงการ ระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี วงเงินงบประมาณรวม 14,326.54 ล้านบาท ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาระบบและบริหารจัดการงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้มีประสิทธิภาพทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน จำนวน 15 โครงการ, ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริม สนับสนุนการวิจัยพัฒนา และอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนอย่างครบวงจร จำนวน 26 โครงการ, ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาศักยภาพบุคลากรรองรับภารกิจความมั่นคงด้านวัคซีน จำนวน 23 โครงการ, ยุทธศาสตร์ที่ 4 เสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรภาคีเครือข่ายด้านวัคซีนของประเทศ จำนวน 3 โครงการ
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 12-18 มี.ค.2565 จำนวน 1,982 ราย, เจอสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) 1 ราย คิดเป็น 0.05% ที่เหลือทั้งหมด 1,981 รายเป็นโอมิครอน คิดเป็น 99.95% เรียกว่าโอมิครอนครองประเทศไทยเกือบ 100% แล้ว ส่วนสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน พบ BA.2 จำนวน 1,479 ราย คิดเป็น 78.5% ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นจากที่พบ 51% และ 67.6% ขณะที่ตัวอย่างจากการติดเชื้อภายในประเทศ เป็น BA.2 ถึง 82.9% ซึ่งคาดว่าจะพบมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่มีความแตกต่างเรื่องความรุนแรง แต่แพร่เร็วกว่า ทำให้ตรวจจับได้มากกว่า โดยขณะนี้เกือบทุกเขตสุขภาพเป็น BA.2 มากกว่า BA.1 ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 9 ที่อาจมีการตรวจน้อย ทำให้พบสัดส่วนที่น้อยกว่า ส่วนเขตสุขภาพที่ 4 พบสัดส่วน BA.2 สูงสุด 90%
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า จากการตรวจสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน เราสุ่มตรวจจากทุกกลุ่มทั้งประชาชนทั่วไปเดินทางมาจากต่างประเทศ กลุ่มที่อาการรุนแรงและเสียชีวิต บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มที่มีค่า CT ต่ำหรือติดเชื้อเยอะ กลุ่มคลัสเตอร์ 50 คนขึ้นไป และกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบโดส ซึ่งทุกกลุ่มมีสัดส่วนการติดเชื้อเป็น BA.2 ใกล้เคียงกัน เปอร์เซ็นต์ไม่ได้แตกต่างจากภาพรวม อย่างกลุ่มที่เสียชีวิตพบ BA.2 ประมาณ 60% ดังนั้น BA.2 จึงไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชทำให้เสียชีวิตมากขึ้น
พบเดลตาครอน 73 ราย
ส่วนกรณีสายพันธุ์ BA.2.2 ในฮ่องกง ขณะนี้ก็เงียบไปแล้ว และไม่ได้มีการยืนยันว่าการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นมาจาก BA.2.2 หรือไม่ นอกจากนี้ ทาง GISAID ก็ยังไม่ได้ประกาศชื่อ BA.2.2 หรือ BA.2.3 อย่างเป็นทางการ และยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเรื่องการแพร่เร็ว ความรุนแรง หรือการหลบวัคซีน ส่วนประเทศไทยมีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว 500-600 รายต่อสัปดาห์ พบว่า BA.2.2 ในประเทศ 14 ราย จากต่างประเทศ 8 ราย และ BA.2.3 ในประเทศ 27 ราย ต่างประเทศ 34 ราย ซึ่งสัดส่วนก็สอดคล้องกับ GISAID ที่พบ BA.2.2 น้อยกว่า BA.2.3 ซึ่งการกลายพันธุ์ส่วนนี้ไม่ได้มีผลอะไรก็อาจจะหายไป
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในส่วนเดลตาครอนช่วงแรกที่พบในไซปรัสเป็นการปนเปื้อน ซึ่งการพบ 2 เชื้อนั้นจะมี 2 กรณีคือ ตรวจพบ 2 สายพันธุ์ในคนเดียวกัน คือเชื้อ 2 เชื้ออยู่ในคนเดียวกัน และกรณีเชื้อ 2 สายพันธุ์ผสมกันและออกลูกหลาน โดยมีทั้ง 2 สายพันธุ์ในนั้น เรียกว่าไฮบริด หรือ Recombinant ซึ่งเดลตาครอนที่พบมาจากทั้งโอมิครอนในส่วนของ BA.1 และเดลตา AY.4 ซึ่งรายงานเข้า GISAID ประมาณกว่า 4,000 ราย แต่มีที่ตรวจสอบและยอมรับอย่างเป็นทางการ 64 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในฝรั่งเศสกว่า 50 ราย ที่เหลืออีกกว่า 4,000 ราย ยังต้องรอวิเคราะห์เพิ่มเติมว่าใช่เดลตาครอนหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้มีข้อมูลจากไทยที่ส่งเข้าไปด้วยประมาณกว่า 70 ราย
"กรณีนี้ไม่ต้องตกใจ ถ้าใช่เดลตาครอนก็คือใช่ แต่ขณะนี้ประเทศไทยเดลตาลดลงเรื่อยๆ โอกาสที่เจอแบบ Recombinant ก็จะเกิดน้อยลง เพราะไม่มีเดลตาเหลือให้ไปผสมแล้ว จึงขึ้นกับว่าเดลตาครอนที่มีอยู่จะมีอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชอะไรหรือไม่ ถ้าเดลตาครอนแพร่เร็วขึ้นก็จะเห็นมาครองแทนโอมิครอน ก็ต้องรอดู แต่วันนี้ยังไม่เห็นวี่แวว ก็คิดว่าไม่น่ามีปัญหา ส่วนความรุนแรงก็ไม่มีข้อมูล ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังจัดชั้นของเดลตาครอนเป็นสายพันธุ์ที่ต้องติดตามดูข้อมูล ยังไม่จัดชั้นว่าเป็นสายพันธุ์ที่น่าสนใจหรือน่ากังวล" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าว
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า สรุปแล้วประเทศไทยเป็นโอมิครอนเกือบทั้งหมด เดลตาหายาก ส่วนอัลฟา (อินเดีย) และเบตา (แอฟริกาใต้) หายไปหมดแล้ว สายพันธุ์ย่อยโอมิครอนเป็น BA.2 ขึ้นมาเกือบ 80% และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วน BA.2.2 และ BA.2.3 เจอประปรายจากการตรวจถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว โดยจะตรวจว่ามีการเพิ่มมากน้อยแค่ไหน ขณะที่เดลตาครอน GISAID ยืนยันทางการ 64 ราย ยังรอการวิเคราะห์ทวนสอบข้อมูลอีกกว่า 4,000 ราย ซึ่งรวมถึงของไทยที่ส่งไป 73 ราย แต่ยังเป็นแค่สายพันธุ์ที่ต้องติดตาม ไม่มีข้อมูลเพียงพอเรื่องแพร่เร็ว รุนแรง หรือหลบภูมิ ส่วนมาตรการป้องกันต่างๆ ยังใช้ได้ ต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพราะโอมิครอนหลบภูมิได้เยอะ หากมีภูมิไม่พออาจมีโอกาสติดเชื้อง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ยังต้องเร่งฉีดวัคซีน
ถามถึงเดลตาครอนของไทย 73 รายเป็นอย่างไร นพ.ศุภกิจกล่าวว่า GISAID ยอมรับเดลตาครอนแล้ว 64 ราย เหลืออีก 4,000 รายที่รอตรวจสอบข้อมูล จริงๆ ที่ได้ยินข่าวเจอที่อังกฤษมาก แต่ยังไม่ได้มีการส่งข้อมูลเข้าไป ส่วนของไทยเมื่อถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวพบ 73 รายเข้าข่ายว่าเป็นเดลตาครอน แต่ผู้เชี่ยวชาญยังต้องช่วยกันดูว่าสรุปแล้วใช่จริงหรือไม่ ทั้งหมดไม่ใช่ตัวอย่างที่เกิดใน 1-2 สัปดาห์นี้ แต่เกิดขึ้นช่วง ธ.ค.2564-ม.ค.2565 ซึ่งยังมีเดลตากับโอมิครอนกันมาก ทำให้มีโอกาสผสมกันได้มาก โดยคนไข้ทั้ง 73 รายหายเรียบร้อยดีแล้ว ไม่มีเสียชีวิต อาจจะเป็นพันธุ์ผสมอันหนึ่งที่ไม่ได้หนักหนาและถ้าไม่แพร่เร็ว อีกสักระยะก็จบ แม้ว่าจะเป็นสายพันธุ์หนัก แต่ไม่แพร่เร็วเหมือนเบตาก็จะหายไป
"เท่าที่เห็นโอมิครอนมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งคือหลบภูมิคุ้มกันได้ค่อนข้างดี จะเห็นคนติดเดลตามาแล้ว ไม่ได้การันตีว่าจะไม่ติดโอมิครอนซ้ำ จึงเป็นอีกได้ เพราะฉะนั้นวัคซีนไม่ว่าอะไรฉีด 2 เข็มนานพอควร ภูมิคุ้มกันจะตกป้องกันติดเชื้อไม่ได้จะต้องมากระตุ้น แต่ช่วยป้องกันป่วยตายได้พอสมควร แต่ถ้าภูมิคุ้มกันยิ่งสูงยิ่งช่วยได้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 ซึ่งอัตราการติดเชื้อเสียชีวิตยังสูง” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าว
จ.นครราชสีมา คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ได้ประชุมสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ล่าสุด จ.นครราชสีมาพบผู้ป่วยรายใหม่ 1,981 ราย ที่น่าห่วงคือรายงานผลตรวจ ATK ให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำกลางนครราชสีมา พบผลเป็นบวก 1,241 ราย ซึ่งเป็นการติดเชื้อซ้ำ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘อิ๊งค์’ลุยภูเก็ต หนุนท่องเที่ยว กลุ่ม‘ลักซ์ชูรี’
"นายกฯ อิ๊งค์" เปิดงานแสดงเรือนานาชาติ หนุนท่องเที่ยวลักซ์ชูรีไลฟ์สไตล์
ศาลนัด10ก.พ. 16บอสขอสิทธิ์ ได้ประกันสู้คดี
"ทนายดิไอคอน" จ่อยื่นประกันตัว 16 บอส ช่วงนัดตรวจหลักฐาน
2สัปดาห์ส่ง‘จ่าเอ็ม’กลับ เชื่อมีผู้ร่วมขบวนการอีก
นายกฯ สั่งทบทวนมาตรการป้องกันก่ออาชญากรรมในไทย
ชงแก้สัญญารถไฟฟ้าเชื่อม3สนามบิน
บอร์ดอีอีซีชงแก้สัญญารถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน เข้า ครม.ภายในเดือนเม.ย.นี้
นโยบายตปท.เสียเหลี่ยมเพื่อนบ้าน
สส.ฝ่ายค้านชำแหละ “นโยบายต่างประเทศ” เงียบๆ เสียเหลี่ยมเพื่อนบ้าน
ระวังไม่มีแผ่นดินอยู่ ชวนย้อนคำเตือนแม้ว18ปี ชี้สส.แก่สุดในเพื่อไทย2คน
"ชวน" สวนกลับ “ทักษิณ” สส.แก่สุดอยู่ในพรรคเพื่อไทย 2 คน