คลอดมาตรการลดค่าครองชีพ

“บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะประชุม ครม. เคาะ 10 มาตรการด่วนดูแลวิกฤตพลังงานผันผวนจากสงคราม ตรึงดีเซล 30 บาทถึงสิ้น เม.ย. อุ้ม “หาบเร่-วินมอ'ไซค์-แท็กซี่” ที่ขึ้นทะเบียน ช่วยค่าไฟ-ก๊าซหุงต้ม-ลดเงินสมทบผู้ประกันตน ชี้ต้องช่วยคนยากจนก่อน พร้อมสั่งให้หน่วยงานราชการช่วยประหยัดไฟฟ้า-น้ำมันลง 20%

เมื่อวันอังคารที่ 22 มี.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจากสถานการณ์ความผันผวนของราคาพลังงานอันมีผลจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งอาจทำให้ค่าครองชีพมีการปรับตัวสูงขึ้น รัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และตระหนักดีถึงความลำบากของพี่น้องประชาชนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่มีรายได้น้อยและผู้ใช้แรงงาน พวกนี้จะเดือดร้อนมากที่สุด

“จากการประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ข้อสรุปว่า ถ้าพิจารณาจากสถานการณ์ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ไม่น่าจะยุติได้โดยเร็ว จึงได้สั่งการให้ระดมความคิดเพื่อหามาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนโดยเร่งด่วน ซึ่งต้องทยอยดำเนินการเพิ่มเติมจากมาตรการต่างๆ ที่รัฐได้ออกไปแล้ว และยังใช้อยู่ในขณะนี้ ดังนั้นเราต้องหาวิธีการใหม่ๆ เพิ่มเติม บางอันต้องต่อยอดของเดิมของเก่า ฉะนั้นสิ่งที่ได้เห็นชอบไปแล้ว และจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือน พ.ค.จนถึงเดือน ก.ค.นี้ อย่างน้อย 10 มาตรการ และขอทีละ 3 เดือนก่อนได้หรือไม่ เพราะต้องดูงบประมาณและสถานการณ์ไปด้วย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นายกฯ กล่าวถึง 10 มาตรการว่า ประกอบด้วย 1.การเพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มเงินจากเดิม 45 บาท เป็น 100 บาทต่อเดือน 2.ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค่าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 5,500 คน 3.ช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก 157,000 คน โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 250 บาทต่อเดือน และขอให้กรมการขนส่งทางบกกำกับราคาการให้บริการเพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีค่าใช้จ่ายเดินทางเท่าเดิม 4.คงราคาขายปลีกผู้ที่ใช้ก๊าซ NGV ไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม 5.ผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน สามารถซื้อก๊าซได้ในราคา 13.62 บาทต่อกิโลกรัม

6.ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยลดค่าเอฟทีลง 22 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. 7.ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนเม.ย. หลังจากนั้นรัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่ง และเมื่อถึงเวลานั้นถ้าอั้นไม่ไหวจริงๆ ก็ต้องเพิ่มจากที่ช่วยครึ่งหนึ่งที่เพิ่มไป 8.กำกับดูแลการปรับราคาก๊าซหุงต้มในช่วงตั้งแต่เดือนเม.ย.- มิ.ย. โดยใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปช่วยลดผลกระทบจากการปรับราคาให้ไม่ขึ้นสูงเกินไป 9.ลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จาก 5% เหลือ 1% เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างสามารถมีกำลังในการใช้จ่าย และผู้ประกอบการสามารถมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจในช่วงถัดไป และ 10.ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จาก 9% เหลือ 1.9% และลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ลงเหลือ 42-180 บาทต่อเดือน

“อันนี้ก็ใช้เงินไปเยอะพอสมควร รายได้ก็ลดลง ก็ขอให้เห็นใจรัฐบาลด้วยก็แล้วกัน ตอนนี้เราพุ่งเป้าไปที่คนที่เดือดร้อนที่สุดก่อน ที่เหลือก็ช่วยกันกับรัฐบาลไปด้วย นึกถึงคนที่ยากจนลำบากก่อน” นายกฯ ระบุ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยังได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้ได้มากที่สุดก่อนเข้าสู่ฤดูการเพาะปลูก โดยเน้นการใช้วัตถุดิบในประเทศ และให้กระทรวงการต่างประเทศประสานงานกับประเทศต่างๆ ในการจัดหาปัจจัยการผลิตที่จำเป็นเข้าประเทศด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องปุ๋ย อาหารสัตว์ ที่เราพึ่งพาต่างประเทศจำนวนมาก และสิ่งที่ต้องมองระยะยาวว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องปุ๋ย ทำอย่างไรจะผลิตในประเทศได้บ้าง และทำอย่างไรจะมีแม่ปุ๋ย รัฐบาลพยายามจะทำทุกอย่างให้คงสภาพดีที่สุด เดือดร้อนน้อยที่สุด แต่ถ้าใช้งบประมาณทุ่มลงไปทั้งหมดอย่างอื่นก็จะไปหมด โดยต่อจากนี้ไปกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะเร่งออกมาตรการทั้งหมดที่กล่าวมา ทั้งนี้ต้องให้เป็นไปตามข้อกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ รวมทั้งนำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาและอนุมัติเป็นการเร่งด่วน

“วันนี้เราดูทั้ง 2 ทาง สุขภาพก็ดู และดูเรื่องสงครามเข้าไปอีก เท่ากับโดนสองเด้ง ผมขอย้ำว่ารัฐบาล ทุกกระทรวงทุกหน่วยงานเราทำงานอย่างหนัก เพื่อวางแผนช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด ต้องเข้าใจคำว่าให้ได้มากที่สุดตามขีดความสามารถที่เรามีอยู่ เราไม่อยากทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเราต้องเร่งเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้ทั้งระยะสั้น  ระยะกลาง และระยะยาว” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ในเรื่องการค้าการลงทุนของต่างประเทศ การเปิดประเทศ การท่องเที่ยวระยะต่อไป สิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ สร้างอาชีพ รวมถึงช่วยลดภาระแบ่งเบาค่าครองชีพต่างๆ ของประชาชน และการแก้ปัญหาหนี้สินให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด รัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังใช้เงินอย่างเดียว  ได้ทำเรื่องนี้มาโดยตลอด ถึงได้เกิดโครงการอีอีซีขึ้นมา และมีโครงการอื่นๆ ตามมาอีก ฉะนั้นขอฝากพี่น้องประชาชน  ฝากสื่อด้วยทำความเข้าใจด้วย เศรษฐกิจไทยวันหน้าจะเดินได้อย่างไร และพี่น้องประชาชนก็ยังเดือดร้อนกันอยู่มาก และวันนี้สิ่งที่หารือมากที่สุดคือการแก้ปัญหาหนี้สินที่มีปัญหาติดค้างข้อกฎหมายต่างๆ มากมาย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบแนวทางประหยัดพลังงานในหน่วยงานภาครัฐ โดยอนุมัติเป็นหลักการให้หน่วยงานราชการดำเนินการลดการใช้พลังงาน 20% ในช่วงครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่ เม.ย.-ก.ย.2565 โดยแนวปฏิบัติลดการใช้พลังงานอย่างเป็นระบบ จะให้จัดตั้งคณะทำงานลดใช้พลังงาน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการเป็นประธาน และจัดทำแผนปฏิบัติการลดการใช้พลังงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างน้อย 20% ให้ชัดเจน รวมถึงพัฒนามาตรการลดใช้พลังงานให้เข้มข้นขึ้นหรือยืดหยุ่นตามความเหมาะสม ซึ่งมาตรการที่ปฏิบัติได้ทันที เช่น เครื่องปรับอากาศกำหนดเวลาเปิด-ปิด 08.30-16.30 น. ตั้งอุณหภูมิ 25-26 องศา ล้างแอร์ทุก 6 เดือน, ใช้หลอดไฟแอลอีดี, ลิฟต์อาจให้หยุดเฉพาะชั้นคู่/คี่, รณรงค์การใช้บันได, เลือกใช้รถยนต์ให้เหมาะสมกับสภาพการเดินทางและจำนวนผู้เดินทาง และการประชุมออนไลน์การจัดส่งเอกสารทางอีเมล เป็นต้น

สำหรับมาตรการระยะยาวให้อาคารของรัฐที่เข้าข่ายเป็นอาคารควบคุม ก่อนปีงบประมาณ 65 ประมาณ 800 แห่ง เร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ไม่ให้เกินค่ามาตรฐานการจัดการใช้พลังงานภายในปีงบประมาณ 66 เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่การจัดการอาคารของเอกชนที่เข้าข่ายเป็นอาคารควบคุม นอกจากนี้ยังให้นำมาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐมาใช้ โดยหน่วยงานภาครัฐต้องรายงานผลการประหยัดพลังงาน เพื่อกระทรวงพลังงานจะได้รายงานผลต่อ ครม.ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 120 ล้านหน่วย และลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ 12 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 1,020 ล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 67,075 ตัน ในส่วนของการกำกับดูแลอาคารของรัฐที่เข้าข่ายเป็นอาคารควบคุม  คาดว่าจะลดการใช้ไฟฟ้า 174.45 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่า 872.25 ล้านบาท และการดำเนินงานตามมาตรการ ESCO จะลดการใช้ไฟฟ้า 1,058.33 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่า 5,291.65 ล้านบาท

“นายกฯ ยังกำชับส่วนราชการ กำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน พร้อมขอข้าราชการให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชนด้วย” นายธนกรกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟ้องต้นตอหมอคางดำ

สภาทนายความฯ เตรียมฟ้องแพ่งบิ๊กเอกชน-หน่วยงานรัฐ ต้นตอ "เอเลี่ยนสปีชีส์"

‘เนวิน’รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดมิวสิคัลเทิดพระเกียรติ

“เนวิน” รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา แสดง แสง สี เสียง มิวสิคัล “ลมหายใจของแผ่นดิน” โดยบุรีรัมย์ออร์เคสตรา แสดงความจงรักภักดี 28-30 ก.ค.2567 สนามช้างอารีนา บุรีรัมย์