เติมเงินเสี่ยงภัย ปีใหม่ไทยชี้วัด โรคประจำถิ่น

ไทยติดเชื้อใหม่ 2.1 หมื่นราย ดับเพิ่ม 83 คน ครม.ไฟเขียว 8,458.38 ล้านบาท ค่าเสี่ยงภัยบุคลากรสาธารณสุข-ซื้อยาแพกซ์โลวิด จัดสรรอีก 811 ล้าน ค่าเสี่ยงภัย จนท.ปฏิบัติงานส่วนหน้า “บิ๊กตู่” กำชับจับตาสถานที่จัดสงกรานต์ ย้ำปฏิบัติตามมาตรการเคร่งครัด “หมอประสิทธิ์" เชื่อสงกรานต์ปีนี้ชี้ขาดโควิดโรคประจำถิ่นได้หรือไม่

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า  พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21,382 ราย ติดเชื้อในประเทศ 21,280 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 21,171 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 109 ราย มาจากเรือนจำ 44 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 58 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 24,824 ราย อยู่ระหว่างรักษา 236,814 ราย อาการหนัก 1,484 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 532 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 83 ราย เป็นชาย 51 ราย หญิง 32 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 65 ราย มีโรคเรื้อรัง 16 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 2 ราย ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,398,792 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,137,561 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 24,417 ราย ส่วนยอดฉีดวัคซีนวันที่ 21 มี.ค. 105,249 โดส ยอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 127,488,916 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 427,616,167 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 6,105,558 ราย 

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 3,109 ราย, ชลบุรี 1,420 ราย, นครศรีธรรมราช 1,136 ราย,  สมุทรปราการ 874 ราย, สมุทรสาคร 613 ราย, นครราชสีมา 606 ราย, ร้อยเอ็ด 597 ราย, ระยอง 533 ราย, นครปฐม 503 ราย และบุรีรัมย์ 498 ราย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงข้อสั่งการและคำปรารภของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ว่านายกฯ กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการตามมติ ศบค. โดยขอให้เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก เพื่อรองรับก่อนเทศกาลสงกรานต์ และกำชับติดตามตรวจสอบสถานที่ขอจัดงานเทศกาลสงกรานต์ โดยต้องเป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเคร่งครัด และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโควิดเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง 

ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 8,458.38 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ซึ่งจะโดยจัดสรรแก่ 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 7,777.09 ล้านบาท, กรมการแพทย์ 626.53 ล้านบาท, กรมสุขภาพจิต 27.84 ล้านบาท,  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 13.53 ล้านบาท และกรมอนามัย 13.37 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อใช้จ่ายเป็นค่าตอบแทนการเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ค่าตอบแทนบุคลากรนอกเหนือภารกิจปกติ (สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 นอกสถานพยาบาล) ค่ารักษาผู้ป่วยไร้สิทธิการรักษา และจัดซื้อยาแพกซ์โลวิด

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากรด้านสาธารณสุข โดยการจัดสรรงบประมาณค่าตอบแทนเสี่ยงภัยและการปฏิบัติงานนอกเหนือภารกิจปกติโดยต่อเนื่อง รวมถึงมีนโยบายการจัดหายาเวชภัณฑ์ที่ประสิทธิภาพในปริมาณที่เพียงพอมาเพื่อรักษาประชาชน ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีการใช้ยารักษาโควิดอยู่หลายชนิด เช่น ฟ้าทะลายโจร, ฟาวิพิราเวียร์, โมลนูพิราเวียร์, เรมดิซิเวียร์ และล่าสุดอยู่ระหว่างการจัดหายาแพกซ์โลวิด ซึ่งผลิตโดยบริษัทไฟเซอร์ ซึ่งหลังจากได้รับอนุมัติจาก ครม.แล้วจะมีการลงนามสัญญาเพื่อจัดซื้อตามขั้นตอนต่อไป

 รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ครม.ยังได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 811.77 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานส่วนหน้า ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (สมาชิก อส.) ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของกรมการปกครองจำนวน 270,590 คน ในอัตราคนละ 500 บาทต่อเดือน ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564-มีนาคม 2565

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยรายงานว่า กรมการปกครองเคยได้รับการอนุมัติงบกลางปี 2563 จำนวน 677.79 ล้านบาท สำหรับเบิกจ่ายเป็นเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในอัตราคนละ 500 บาทต่อเดือน และแพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ในอัตราคนละ 300 บาทต่อเดือน โดยไม่ได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณสำหรับสมาชิก อส. ซึ่งต่างจากการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณในครั้งนี้ โดยปรับเป็นคนละ 500 บาทต่อเดือนเท่ากันทุกตำแหน่ง เพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำและให้เกิดความเสมอภาคระหว่างบุคลากรที่ปฏิบัติงานด่านหน้า ซึ่งอัตราดังกล่าวเทียบเท่ากับอาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

ที่โรงพยาบาลศิริราช นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงการระบาดโควิด-19 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า ความเสี่ยงของการติดเชื้อยังมี 4 เสี่ยงเหมือนเดิมคือ บุคคล กิจกรรม สถานที่ และช่วงเวลาเสี่ยง ขณะนี้มีการผ่อนคลายกิจกรรมระยะหนึ่งทำให้ 3 เสี่ยงแรกเกิดขึ้น ส่วนช่วงเวลาเสี่ยงที่ใกล้มาถึงคือ สงกรานต์ ปีที่แล้ว 2564 หลังสงกรานต์พบว่าหลายอย่างแย่ลง แต่จุดต่างปีนี้ 2565 คือมีการฉีดวัคซีน รวมถึงสายพันธุ์โอไมครอนที่ความรุนแรงลดลง ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาถือว่าผ่านจุดทดสอบได้ดี ตัวเลขติดเชื้อเกือบจะไม่ขึ้นมากนัก แต่กลับมาขยับสูงขึ้นในหลังตรุษจีน ดังนั้นในการเดินทางกลับภูมิลำเนาเยี่ยมบ้านในสงกรานต์ คาดว่าจะมีการเดินทางข้ามจังหวัดกันมากขึ้น ต้องระวังเพราะบางคนอดทน 2 ปีที่ผ่านมาลดการเดินทาง ดังนั้นเพื่อความสบายใจการเดินทางเยี่ยมญาติคนไปเยี่ยมก็ควรทำตัวให้สะอาดปลอดภัย มีการตรวจ ATK เพื่อความมั่นใจ เพราะโอไมครอนติดง่าย และสิ่งที่ไม่อยากเห็นคือตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น จึงอยากเชิญชวนให้ผู้สูงอายุมาฉีดวัคซีน

"บททดสอบการเป็นโรคประจำถิ่นของเชื้อโอไมครอนได้นั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์สงกรานต์นี้ว่าไทยจะสามารถจัดการกับสถานการณ์การติดเชื้อได้หรือไม่ ทั้งการเฝ้าระวังตนเองพื้นฐาน การสวมหน้ากากอนามัย ระยะห่าง ล้างมือ และการผลักดันการรับวัคซีนก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์" นพ.ประสิทธิ์ระบุ

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวงและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้มีการนำคลิปการแถลงข่าวของ สธ.เกี่ยวกับการชะลอฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศไทยมาส่งต่ออีกครั้ง พร้อมข้อความบิดเบือนให้เข้าใจผิดว่า รัฐบาลประกาศให้ชะลอการฉีดวัคซีน เนื่องจากมีสารพิษและสิ่งแปลกปลอม ทำให้ร่างกายเกิดผลกระทบตามมา จึงขอทำความเข้าใจว่า การแถลงข่าวดังกล่าวเป็นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 12 มี.ค.64 ที่ สธ.ชะลอการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ ในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อรอผลการตรวจสอบเรื่องการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำของประเทศในแถบยุโรป ซึ่งต่อมาได้ข้อสรุปว่า วัคซีนแอสตร้าฯ มีความปลอดภัย จึงดำเนินการฉีดให้แก่คนไทยต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ การนำข้อมูลเก่ามาบิดเบือนแสดงถึงเจตนาที่ต้องการต่อต้านไม่ให้ประชาชนฉีดวัคซีน ซึ่งทำให้เสียโอกาสและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากเกิดการติดเชื้อ จึงขอให้ประชาชนอย่าแชร์คลิปดังกล่าวต่อ เพื่อไม่ให้มีผู้หลงเชื่อจนไม่ไปรับวัคซีน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟ้องต้นตอหมอคางดำ

สภาทนายความฯ เตรียมฟ้องแพ่งบิ๊กเอกชน-หน่วยงานรัฐ ต้นตอ "เอเลี่ยนสปีชีส์"

‘เนวิน’รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดมิวสิคัลเทิดพระเกียรติ

“เนวิน” รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา แสดง แสง สี เสียง มิวสิคัล “ลมหายใจของแผ่นดิน” โดยบุรีรัมย์ออร์เคสตรา แสดงความจงรักภักดี 28-30 ก.ค.2567 สนามช้างอารีนา บุรีรัมย์