ชาวบ้าน78%ชู คนละครึ่งเฟส3 บี้คุมราคาสินค้า

โพลเผยประชาชน 78% เทใจให้โครงการคนละครึ่ง พร้อมเสนอให้คลอดมาตรการควบคุมราคาสินค้าและค่าครองชีพโดยด่วน “แรมโบ้” ได้ทีอ้างผลสำรวจสะท้อนรัฐบาลมาถูกทาง “ธนกร” ชวนวิน-แท็กซี่สมัครมาตรการเยียวยา

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 ต.ค. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศที่ใช้และเคยใช้มาตรการช่วยเหลือของรัฐในช่วงโควิด-19 ทั้งสิ้น 1,309 คน โดยเมื่อถามถึงช่วงครึ่งปีหลัง 2564 ประชาชนได้เข้าร่วมมาตรการ/โครงการของภาครัฐใดบ้าง พบว่า 78.61% มาตรการคนละครึ่งเฟส 3,

34.76% มาตรการลดค่าไฟฟ้า น้ำประปา, 29.79% มาตรการช่วยผู้ปกครอง 2,000 บาท, 25.82% มาตรการเยียวยาผู้ประกันตนในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม และ 22.46% มาตรการลดค่าเทอม นักเรียน/นักศึกษา

เมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่ามาตรการ/โครงการต่างๆ ของภาครัฐช่วยลดภาระเรื่องค่าใช้จ่ายได้หรือไม่
พบว่า 62.10% ช่วยได้บ้าง, 31.39% ช่วยได้มาก และ 6.51% ไม่ช่วยเลย ส่วนเมื่อถามถึงการเปรียบเทียบก่อนกับหลังมีมาตรการ/โครงการช่วยเหลือต่างๆ ของภาครัฐ การใช้จ่ายของประชาชนต่อเดือนเป็นอย่างไร พบว่า 43.45% ใช้จ่ายเท่าเดิม, 36.70% ใช้จ่ายลดลง และ 19.85% ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ขณะที่เมื่อถามถึงภาพรวมประชาชนพึงพอใจมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐมากน้อยเพียงใด พบว่า 49.81% ค่อนข้างพึงพอใจ, 22.84% พึงพอใจมาก, 18.77% ไม่ค่อยพึงพอใจ และ 8.58% เฉยๆ

ถามต่อว่า 5 อันดับมาตรการ/โครงการของภาครัฐที่ประชาชนพึงพอใจ พบว่า 78.66% มาตรการคนละครึ่งเฟส 3, 76.70% มาตรการลดค่าไฟฟ้า น้ำประปา, 74.85% มาตรการช่วยผู้ปกครอง 2,000 บาท, 73.73% มาตรการลดค่าเทอมนักเรียน/นักศึกษา และ 71.74% มาตรการเยียวยาผู้ประกันตน และเมื่อถามว่ารัฐบาลควรมีมาตรการเร่งด่วนใดอีกบ้าง พบว่า 75.25% ควบคุมราคาสินค้าและค่าครองชีพ, 70.61% ลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน, 58.16% หาแนวทางแก้ปัญหาหนี้สิน, 54.52% จ่ายเงินเยียวยาทุกครัวเรือนอย่างเท่าเทียม และ 51.20% พักชำระหนี้

ด้านนายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เห็นด้วยกับผลสำรวจของสวนดุสิตโพล และแสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือประชาชน ในการบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ควบคู่ไปกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19

ส่วนนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงความคืบหน้าในมาตรการเยียวยากลุ่มอาชีพผู้ขับรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33, มาตรา 39 และมาตรา 40 ว่ากรมการขนส่งทางบกเปิดให้ผู้ขับรถแท็กซี่และวินมอเตอร์ไซค์ที่เข้าเงื่อนไข มีรายชื่อในฐานข้อมูล ซึ่งแบ่งเป็นผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่) ประมาณ 12,000 คน และวินมอเตอร์ไซค์ 3,000 คน สามารถลงทะเบียนจองคิวรับบริการได้แล้ว ถึงวันที่ 5 พ.ย. ผ่านแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue หรือเว็บไซต์ https://gecc.dlt.go.th ซึ่งตั้งแต่เปิดให้ลงทะเบียนไปเมื่อวันที่ 18 ต.ค. มีแท็กซี่และวินมอเตอร์ไซค์จองคิวผ่านระบบแล้วประมาณ 7,000 คน ถือเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกและลดความแออัดตามมาตรการด้านสาธารณสุขก่อนเปิดให้เดินทางมาลงทะเบียนด้วยตัวเองเพื่อยืนยันตัวตน และตรวจสอบเอกสารในวันที่ 25 ต.ค.นี้ จึงขอเชิญชวนแท็กซี่และวินมอเตอร์ไซค์ที่มีสมาร์ทโฟน หรือสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ลงทะเบียนจองคิวไว้ก่อน เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการรับบริการ

"การจ่ายเงินช่วยเหลือจะจ่ายผ่านบัญชีพร้อมเพย์เฉพาะการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขบัตรประจำตัวประชาชน แบ่งเป็น 2 รอบ ได้แก่ รอบที่ 1 ระหว่างวันที่ 8-12 พ.ย.2564 สำหรับวินและรถแท็กซี่ส่วนบุคคล และรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 22-26 พ.ย.2564 สำหรับรถแท็กซี่ที่เช่าขับ" นายธนกรกล่าว

ขณะที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายคนละครึ่งเฟส 3 โดยผู้สมัครใหม่จะได้เงินรวดเดียว 4,500 บาท ปรากฏว่าสิ่งที่สะท้อนในภาคอีสานตอนนี้คือประชาชนไม่มีเงิน ทำให้ยอดประชาชนที่จะมาใช้สิทธิ์คนละครึ่งมีจำนวนน้อย เพราะประชาชนไม่มีเงินจะมาใช้อีกครึ่งหนึ่ง สืบเนื่องจากราคาข้าวตกต่ำ แต่ค่าครองชีพสูงขึ้น.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดุสิตโพล ชี้คนไทยห่วงมาตรการกระตุ้นศก. รัฐบาลอิ๊งค์ สร้างภาระให้ประเทศ

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “รัฐบาลแพทองธาร กับ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ” ระหว่างวันที่ 19-22 พฤศจิกายน 2567 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,227 คน สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม พบว่า กลุ่มตัวอย่างกังวลว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแพทองธารอาจก่อให้เกิดภาระหนี้สาธารณะ