‘บิ๊กตู่’บี้ฉีดเข็ม3ผู้สูงอายุ สธ.ผวา‘ลูกหลาน’พาเชื้อ

ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่อีก 24,996 ราย  สังเวยเพิ่ม 84 “บิ๊กตู่” ห่วงตัวเลขผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ “สธ.” กัดฟันบอกตัวเลขยังอยู่ในฉากทัศน์ บี้กลุ่ม  608 เร่งฉีดวัคซีน ผวา! สงกรานต์นำเชื้อและความตายมาสู่

เมื่อวันอาทิตย์ที่​ 20​ มีนาคม​ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่​ 24,996 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 24,792 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 24,699 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก  93 ราย มาจากเรือนจำ 173 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 31 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,353,969 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น  22,292 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563  จำนวน 3,089,584 ราย อยู่ระหว่างรักษา 240,139  ราย อาการหนัก 1,432 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 521 ราย  เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 84 ราย เป็นชาย 44 ​ราย หญิง​ 40 ราย  เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 69 ราย มีโรคเรื้อรัง  13​ ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563  จำนวน 24,246 ราย

สำหรับ​ 10​ จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด​ ได้​แก่​ กทม.  2,880 ราย, นครศรีธรรมราช 1,637 ราย,​ ชลบุรี​  1,191 ราย,​ สมุทรสาคร​ 969 ราย,​ สมุทรปราการ​  907 ราย,​ ฉะเชิงเทรา​ 629 ราย,​ นครปฐม​ 587 ราย,​  สงขลา​ 572 ราย,​ ราชบุรี​ 571 ราย​ และบุรีรัมย์​ 557  ราย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับการลดอัตราการติดเชื้อและการเสียชีวิตให้ต่ำที่สุด ภายใต้สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาด และจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงสูงขึ้น ซึ่งเป็นห่วงผู้ป่วยติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ป่วยปอดอักเสบที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ขณะนี้มีจำนวนสูง​เฉลี่ยจังหวัดละ 18 ราย อัตราครองเตียง  25.9%

“จากรายงานผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้อายุมากกว่า  60 ปีขึ้นไป รวมถึงคนที่มีโรคประจำตัว สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ได้รับวัคซีนเพียง 2 เข็ม หรือไม่ได้รับวัคซีนเลย  ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 หรือได้รับวัคซีนครบสามารถลดการติดเชื้อและเสียชีวิตลงได้ นายกฯ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยง 608 ที่ยังไม่ได้ฉีด รวมไปถึงให้เร่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นและวัคซีนสำหรับเด็กให้ทั่วถึงได้มากที่สุด” นายธนกรกล่าว

สำหรับภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่ 28  ก.พ.64 - 18 มี.ค.65 รวม 127,263,288 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 สะสม  54,846,677 โดส ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 สะสม  50,088,649 โดส ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 สะสม  20,374,200 โดส และผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 4 สะสม  1,953,772 โดส

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 และเสียชีวิตว่า ยังเป็นตัวเลขผู้ป่วยและเสียชีวิตที่คาดการณ์ไว้ในฉากทัศน์  โดยจะมีตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อกลุ่มอาการสีเขียวจำนวนมาก  ส่วนกลุ่มสีแดงหรือที่เสียชีวิต แม้จะมีจำนวนมากก็อยู่ในกรอบการคาดการณ์เช่นกัน โดยสาเหตุที่มีผู้เสียชีวิตมากขึ้น  พบว่าเป็นกลุ่มคนสูงอายุที่มีโรคประจำตัวและไม่ได้มีกิจกรรมนอกบ้าน เป็นการรับและติดเชื้อจากคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัว โดยผู้สูงอายุกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือเข็ม 3 เมื่อเจ็บป่วยจึงทำให้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต และกว่าจะมีอาการหนักหรือรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิต ก็ต้องนอนในโรงพยาบาลไม่น้อยกว่า 1-2 สัปดาห์

 “อยากเชิญชวนให้ผู้สูงอายุรับวัคซีนเข็มกระตุ้นก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึง ซึ่งจะมีลูกหลานเดินทางไปเยี่ยม โดยข้อมูลของกรมควบคุมโรคเมื่อวันที่ 19 มี.ค. พบว่าสัดส่วนของผู้สูงอายุที่มารับเข็มกระตุ้นหรือเข็ม 3 ยังน้อยอยู่ มีแค่ 4.2 ล้านคนเท่านั้น จากสัดส่วนผู้สูงอายุที่รับวัคซีนเข็ม 2 จำนวน 10 ล้านคน และพบว่าในจำนวนนี้มีผู้ที่รับวัคซีนครบ 2 เข็มผ่านไปนานแล้วถึง 3 เดือนถึง 6  ล้านคน และยังมีผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับวัคซีนสักเข็มเลยอีก  2.1 ล้านคน จึงอยากวิงวอนให้คนกลุ่มนี้มารับวัคซีน” นพ.โสภณกล่าว

 ขณะที่ นพ.สุเทพ เพชรมาก หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ขณะนี้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกและเข็มสองในสัดส่วนที่สูงตามเป้าหมาย แต่เข็มกระตุ้นยังฉีดได้เพียงประมาณ 30%  ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุมีอัตราการเสียชีวิตสูงสุด สธ.จึงให้ทุกจังหวัดเร่งรัดการฉีดเข็มกระตุ้นในกลุ่มนี้ เพื่อสร้างความปลอดภัยตามนโยบาย SAVE 608 by Booster  Dose โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง  เนื่องจากลูกหลานมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาไปเยี่ยมบุพการีและครอบครัวจำนวนมาก ทำให้มีความเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกันในครัวเรือน จึงต้องสร้างความปลอดภัยให้ผู้สูงอายุด้วยการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด ขณะที่ลูกหลานก็ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นและทำตัวเองให้ปราศจากเชื้อก่อนเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ นพ.สุเทพกล่าวอีกว่า แต่ละจังหวัดมีการวางแผนการดำเนินงานเพื่อเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนแล้ว โดย จ.มหาสารคาม ใช้ 6 กลยุทธ์สำคัญทำให้ฉีดวัคซีนในกลุ่ม  608 ได้เพิ่มขึ้น คือ 1.มีระบบการจัดการรายชื่อรายบุคคล  และการลงนามสามเส้าระหว่าง ประชาชน ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม. พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่ทุกหมู่บ้าน 2.มีการสรุปรายงานถึงนายอำเภอให้สั่งการหมู่บ้าน/ชุมชน ร่วมจัดเตรียมผู้มารับการฉีดในพื้นที่ 3.มีระบบรายงานสรุปผลงานการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 แบบรายหน่วย 4.จัดแคมเปญที่เหมาะสมทุกเดือนและสื่อสารอย่างทั่วถึง 5.มีระบบการเสริมพลังรายพื้นที่ที่มอบหมาย และ 6.ระบบรางวัลสร้างขวัญกำลังใจระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และหน่วยฉีด

 “นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม ได้นำเสนอแนวทางดังกล่าวในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข  สธ. ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าเป็นแนวทางที่ได้ผลดี จังหวัดต่างๆ  สามารถนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เพื่อช่วยเพิ่มความครอบคลุมการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นของกลุ่ม  608 ให้ได้มากที่สุด” นพ.สุเทพกล่าว

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างจังหวัดนั้น ที่  จ.เชียงใหม่ ที่ประชุม​คณะกรรมการ​โรคติดต่อ​จังหวัด​เชียงใหม่​สรุปสถานการณ์การระบาดว่า มีการติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงเป็นสถิติขึ้นมาอีกรอบมากถึง 3,727 ราย​ และการรักษาตัวในทุกระบบเพิ่มขึ้นเป็น 18,099 ราย และมีอาการหนักเพิ่มเป็น​ 49 ราย

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์รายงานว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ จำนวน 557 ราย  กระจายอยู่ใน 19 อำเภอ รวมยอดผู้ป่วยสะสมติดเชื้อโควิด-19 ระลอกมกราคม 20,755 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม  27 ราย หายป่วยสะสม 16,192 ราย และยังรักษาอยู่ 4,536 ราย

ด้านคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมารายงานว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 รวม 1,865  ราย รวมผู้ป่วยสะสมจำนวน 42,486 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 4 ราย โดยยอดผู้ป่วยเสียชีวิตสะสม 68 ราย  รักษาหายสะสม 25,376 ราย ยังรักษาอยู่จำนวน  17,042 ราย

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สงขลา รายงานว่ามีผู้ติดเชื้อโควิดใหม่ 572 ราย นับว่าอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับต้นปี 2565 รวมติดเชื้อสะสม 14,815 ราย เสียชีวิต 1 ราย เสียชีวิตสะสม 41 ราย แต่หากรวมตัวเลขจากการตรวจหาเชื้อโดย ATK และ RT-PCR พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยวันละ 1,100 ราย กำลังรักษาตัว  41,000 ราย อาการรุนแรง อาการปานกลางกว่า 100 ราย ใช้เตียงไป 4,910 เตียง จากทั้งหมด 11,040  เตียง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อนายกฯขู่เช็กบิล! พรรคร่วมโดดประชุมครม.-นักร้อง/ขอพระเจ้าอยู่ต่ออีก17ปี

"เพื่อไทย" คึก! 3 นายกฯ ร่วมทีมขึ้นรถไฟสัมมนาพรรคที่หัวหิน "นายกฯ อิ๊งค์" ขอ  สส.ไม่แบ่งขั้ว-อายุ ยอมรับ 3 เดือนโฟกัสงานรัฐบาล