‘ไตรรงค์’เขย่าปชป.!

ประชาธิปัตย์เปิดเวทีสัมมนา ส.ส.คึกคัก "จุรินทร์" ยอมรับไม่รู้ว่าอุบัติเหตุจะเกิดเมื่อไหร่ ไม่รู้ยุบสภาหรือไม่ ดังนั้นต้องเตรียมความพร้อม เปิดสภาเจอแน่ 2 เรื่องใหญ่ ซักฟอกกับนายกฯ 8 ปี "ไตรรงค์" อบรมชุดใหญ่ หลังเลือดไหล มีคนระแวง ทั้งยุค "อภิสิทธิ์-จุรินทร์" มีอำนาจแฝงชักใยอยู่เบื้องหลังที่มีอำนาจมากกว่า จริงหรือไม่เป็นสิ่งที่กินใจ "เฉลิมชัย" ลั่นจะได้ ส.ส.มากกว่าเดิม 100 เปอร์เซ็นต์


เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2565 ที่โรงแรมแคนทารีฮิลล์ จ.เชียงใหม่ พรรคประชาธิปัตย์จัดสัมมนา ส.ส. รัฐมนตรี และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของพรรค โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ปีนี้เข้าปีที่ 4 ถือเป็นปีสุดท้ายของสภา สถานการณ์ที่ทุกคนติดตามอยู่มีหลายสถานการณ์ แต่อย่างน้อยปีที่ 4 สถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนไปมาก จากที่รัฐบาลต้องเผชิญคือปัญหาโควิด เศรษฐกิจ และการเมือง โดยปัญหาโควิดยังไม่จบ แต่คลี่คลายขึ้น


ส่วนเศรษฐกิจยังเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นโจทย์ใหญ่ สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าของทุกพรรคการเมืองว่าจะมีแนวนโยบายอย่างไร ส่วนการเมืองเป็นปัญหาที่ต้องควบคู่กับการบริหารราชการแผ่นดิน ที่เห็นชัด ถ้าเปิดสมัยประชุมสภาฯ มาคือ 1.การอภิปายไม่ไว้วางใจ ซึ่งรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล และรัฐมนตรีทุกคนต้องเตรียมพร้อมในการชี้แจง และ 2.คำถามนายกฯ ครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหลายคนยื่นให้ศาลรัฐธรรมวินิจฉัย เชื่อว่าจะเกิดขึ้นในการเข้าสู่ปีที่ 4 ในสภาชุดนี้


นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นยังมีคำถามเป็นระยะๆ ว่าจะยุบสภาหรือไม่ ซึ่งถือว่ายังเป็นคำถามยอดฮิตของปีที่ 4 ในรัฐบาลชุดนี้ แต่จากประสบการณ์ของตนเองที่ทำงานทางการเมืองและรับประทานอาหารค่ำกับนายกรัฐมนตรี รับสัญญาณได้ว่า นายกรัฐมนตรีตั้งใจจะเดินหน้าทำงานต่อ ผลจะเป็นอย่างไรไม่มีใครตอบได้ เพราะประเทศไทยไม่เหมือนประเทศอังกฤษ ที่จะยุบสภาช่วงที่คะแนนเสียงดีเพื่อเลือกตั้งใหม่ แต่ของเรายุบต่อเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือไปต่อไม่ได้


"เราไม่รู้ว่าอุบัติเหตุจะเกิดเมื่อไหร่ ดังนั้นเราต้องเตรียมความพร้อม แม้จะมียุบสภาหรือไม่ยุบเราก็ต้องเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง เมื่อครบเดือนมีนาคมปี 66 ครบเทอมก็ต้องจัดการเลือกตั้ง เรามีเวลา 1 ปีก่อนครบเทอม ที่ต้องเตรียมหลายเรื่อง"


นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่จะทำให้ไปสู่พรรคสำเร็จคือผลงาน เน้นการทำงานให้เกิดเป็นรูปธรรมให้ได้ และความเป็นเอกภาพ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของทุกองค์กร ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะนำเราไปสู่ความสำเร็จ ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกันประคับประคอง รักษาความเป็นเอกภาพของพรรคไว้ แม้บางเรื่องจะมีความเห็นไม่ตรงกัน ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะไม่ใช่องค์กรเผด็จการ ที่ทุกคนจะเห็นเหมือนกันหมด แต่การเห็นต่าง สุดท้ายก็ต้องเคารพมติพรรค เพื่อให้พรรคเดินไปข้างหน้าและมีเอกภาพ


“ที่สำคัญทุกคนต้องยึดมั่นอุดมการณ์ หากไม่มีอุดมการณ์ เราก็เป๋ เหมือนกับต้นไม้ที่ไร้ราก เวลามรสุมมา 2-3 ลูก ก็ล้มแล้วไม่มีที่คอยพักพิง แต่พรรคประชาธิปัตย์เรายังมีรากลึก และพวกราช่วยกันรดน้ำพรวนดิน ก็มั่นใจว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นสถาบันการเมืองที่แข็งแกร่ง และเดินหน้าต่อไปตราบชั่วฟ้าดินสลาย และเราจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนต่อยอดไปในวันข้างหน้า” นายจุรินทร์กล่าว


ขณะที่นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวบรรยายพิเศษตอนหนึ่งในงานสัมมนา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ว่าการรวมกลุ่มของนักการเมือง หากไม่มีอุดมการณ์ที่แน่วแน่มั่นคง ไม่คำนึงถึงประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติ ก็เป็นแค่กลุ่มการเมืองที่หวังผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่พรรคการเมือง ดังนั้นอุดมการณ์ของพรรคถือเป็นสิ่งสำคัญ และคนจะมารวมกันได้ต้องมีอุดมการณ์ที่ตรงกันก่อน ต้องเห็นพ้องต้องกันถึงจะมารวมกัน ไม่ใช่เห็นแก่ประโยชน์หรืออามิสสินจ้าง อย่างนี้ไม่ใช่พรรคการเมือง


“ในช่วงหลังคนลาออกจากพรรคไปหลายคน ต้องยอมรับว่าบางคนมาหาผมถึงบ้าน บางคนโทรศัพท์มาเล่า ผมได้ฟังแล้วก็รู้สึกว่าเขาเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ว่าการบริหารงานในพรรคใจแคบ มีการดูเฉพาะกลุ่มคนของคุณจุรินทร์ บางคนก็บอกว่าระแวงว่าในช่วงสมัยของทั้งคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคุณจุรินทร์ มีอำนาจแฝงชักใยอยู่เบื้องหลังที่มีอำนาจมากกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมรับฟังมา แต่สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ใช่เรื่องจริง หรือเกิดขึ้นจริงก็ได้ แต่เป็นสิ่งที่กินใจคนเหล่านั้น ถ้าเรารักพรรคประชาธิปัตย์ เราก็ควรต้องหนักแน่น และแก้ไขปัญหาภายในพรรค ไม่ใช่ลาออกทิ้งพรรคไป” นายไตรรงค์ กล่าว


นายไตรรงค์กล่าวต่อว่า สิ่งเหล่านี้เราจำเป็นต้องรับฟังให้ความสำคัญ และนำมาแก้ไขปรับปรุงภายในพรรคของเรา เหมือนยุคหนึ่งที่นายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค และได้เชิญ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตหัวหน้าพรรค มาหารือกัน โดย ม.ร.ว.เสนีย์บอกว่าพรรคการเมืองตั้งขึ้นโดย 3 อ. คือ 1.อำนาจ ที่สั่งโดยนักการเมือง 2.อามิส คือการให้เงินไปซื้อ ส.ส.มารวมกัน และ 3.อุดมการณ์ ดังนั้นถ้าพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นไม่มีอุดมการณ์ มีแค่อำนาจและอามิส ที่สุดแล้วพรรคนั้นก็อยู่ได้ไม่นาน เมื่อหมดอำนาจหรืออามิส พรรคเหล่านั้นก็ต้องสูญสลายไปเหมือนผึ้งแตกรัง ซึ่งเป็นรังผึ้งที่ไม่มีนางพญาอยู่ แต่ประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ ดังคำพูด ม.ร.ว.เสนีย์พูดเอาไว้เมื่อประชาธิปัตย์อายุ 12 ปี ซึ่งปัจจุบันประชาธิปัตย์มีอายุถึง 76 ปีแล้ว


ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวปิดสัมมนาว่า สิ่งที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลับมาได้คือต้องเพิ่มจำนวน ส.ส.ให้ได้ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และมีนโยบายช่วยเหลือประชาชนได้ ส.ส.ที่มีอยู่ตอนนี้ ตนจะไม่มีวันปล่อยให้ ส.ส.สอบตกเด็ดขาด ตนไม่เชื่อมั่นว่าเราจะกลับมาไม่ได้ แต่เราต้องช่วยทุ่มเท เสียสละ รู้ว่าทุกคนเหนื่อย แต่ก็พยายามพูดคุยให้กำลังใจ อาจทำไม่ถูกใจร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คณะกรรมการบริหารชุดนี้เกิดขึ้นหลังมีการเลือกตั้งเสร็จ และจะนำพรรคไปสู่การเลือกตั้งคราวหน้า หากผิดพลาดต้องไม่มีการปฏิเสธความรับผิดชอบ เชื่อว่าทุกคนไม่มีใครอยากล้มเหลว เช่นเดียวกับตน เรามีพรรคเป็นสถาบันการเมือง มีผู้ใหญ่ให้คำปรึกษา มีสมาชิกและ ส.ส.ที่มีคุณภาพ ถือเป็นต้นทุนที่ดีที่สดุ อยู่ที่ว่าเราจะทำให้มีประสิทธิภาพและเดินไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร


“ผมเชื่อว่าความเป็นพรรคประชาธิปัตย์ยังเหนียวแน่น และเชื่อว่าคนที่เป็นประชาธิปัตย์ยังอยากเห็นพรรคโต ไปเป็นผู้นำประเทศช่วยประชาชนได้ เมื่อทุกคนคิดเหมือนกันก็ต้องคิดว่าจะพาพรรคเดินไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร ปัจจัยการเมืองเปลี่ยนไปหลายอย่าง แต่เราก็ต้องปรับตัว แต่ต้องไม่ทิ้งหลักการและอุดมการณ์ของพรรค ถ้าทิ้งทั้งสองอย่างนี้ก็จะหมดสิ้นความเป็นประชาธิปัตย์ แต่ถ้าสองอย่างนี้ยังไม่พอ ก็ต้องหาอย่างอื่นมาเสริมเพื่อให้พรรคเดินต่อไปได้”


เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า เวลานี้ยังไม่มีการเลือกตั้ง เราอย่าไปกลัว มีหนึ่งสมองสองมือเท่ากัน หากกลัวตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่สงคราม ไม่มีวันได้เจอกับคำว่าชัยชนะ ตนมั่นใจในหัวหน้าพรรค กก.บห. และที่ปรึกษา ว่าพร้อมจะยืนเคียงข้างทุกคน มั่นใจว่าเราจะได้ ส.ส.มากกว่าเดิม 100 เปอร์เซ็นต์ เรียนด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีที่มีอยู่ ว่าพร้อมจะรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้นทั้งหมด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการสัมมนานายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกตั้งคำถามต่อนายจุรินทร์ โดยมีเนื้อหาระบุว่า 2 คำถามของผมถึงท่านหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กรรมการบริหาร และสมาชิกพรรคทั่วประเทศ


1.ผมอยากรู้ว่าอนาคตพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร? จะทำถูกให้เป็นถูก ผิดให้เป็นผิดหรือไม่ และจะเป็นตัวของตัวเองเพื่อยืนเคียงข้างประชาชนไหม ทางพรรคมีแนวทางที่จะพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นและเชื่อถืออย่างไรได้บ้าง? เพราะดูเหมือนว่าเราจะอยู่ฝั่งทหารและฟังคำสั่งของทหารมาตลอด ยิ่งอยู่นานเท่าไหร่ยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า "พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนเผด็จการ" ผมตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ และพยายามเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้พรรคมาโดยตลอด และนี่ก็คงเป็นความขัดแย้งระหว่างตัวผมกับผู้บริหารพรรค เพราะส่วนใหญ่คนในพรรคเห็นด้วยกับผม แต่ไม่กล้าพูด และมีเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดเจน แต่ผมไม่ขอลงรายละเอียด เพราะมันเยอะมาก ถ้าไม่เชื่อกลับไปดูได้เลยครับ ในอนาคตผมจะยังอยู่ในพรรคนี้ต่อไปได้หรือไม่ เพราะครั้งหนึ่งพรรคเคยประกาศว่าจะไม่ส่งผมลงพื้นที่แล้ว ดังนั้น พวกคุณก็ต้องรับผิดชอบอนาคตของพรรค และอนาคตของพวกคุณกันเองนะครับ ซึ่งคำถามดังกล่าวผมก็ไม่รู้ว่าคุณจะตอบหรือไม่


2.ในส่วนของ ส.ส.ที่มาจากประชาชนจำนวน 100 ที่นั่ง ตรงนี้เอามาจากไหน? ผมขอยกตัวอย่างเช่น ภาคอีสานมี 2 คน ภาคเหนือมี 1 คน กทม.ไม่มีเลย แล้วภาคอื่นๆ จะได้สักกี่คน ช่วยบอกวิธีการตรงนี้หน่อยได้ไหมครับ แล้วล่าสุดมีใครก็ไม่รู้ออกมาประกาศไล่ ส.ส.ออกไปอีก โดยบอกว่าพรรคจะได้เจริญ แล้วถ้าสถานการณ์มันยังเป็นแบบนี้อยู่ มันจะเจริญตามที่เขาพูดอยู่เหรอครับ และ 18 คนที่ออกไปเขาคืออดีต ส.ส.นะ แล้วคนที่พูดแบบนี้น่ะ เขาเป็นใคร? สุดท้ายนี้ผมขอถามอีกครั้งหนึ่งว่า จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์คืออะไร ไม่จำเป็นต้องตอบผมก็ได้ แต่ช่วยตอบและอธิบายเพื่อให้ทุกคนเข้าใจหน่อยสิครับ และหวังว่าคำถามที่ผมถามไปจะได้รับคำตอบนะครับ


วันเดียวกันนี้ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงว่า การประชุม ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และตัวแทนพรรค ไปประชุมร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อเตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในการเปิดประชุมสมัยหน้า โดยวันที่ 23 พฤษภาคม เวลา 08.30 น. พรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะยื่นญัตติทันที พล.อ.ประยุทธ์จะได้ไม่ต้องยุบสภาหนี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง