‘อนุทิน’มั่นใจ‘กัญชา’ อนาคตรายได้สดใส

"อนุทิน" ลงพื้นที่ "อยุธยา" เปิดงานวิชาการกัญชา เผย ศูนย์วิจัยยาเสพติด (จุฬาฯ-สระบุรี) พัฒนาสายพันธุ์สำเร็จ ต้านทานโรค ทนต่ออากาศ ให้ผลผลิตสูง วางเป้ากระจายเมล็ดถึงมือเกษตรกร มั่นใจกัญชามีอนาคตสดใส ทั้งเรื่องสุขภาพและสร้างรายได้ อาทิ ก๋วยเตี๋ยวกัญชาคลองจิก กวนยาหม่องกัญชา วิสาหกิจชุมชนคลองห้า คลองหลวง


วันที่ 19 มีนาคม 2565 ณ ศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่การประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 5 (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสระบุรี จังหวัดลพบุรี จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดนครนายก) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง ข้าราชการฝ่ายปกครอง บุคลากรด้านการสาธารณสุข อสม. ประชาชนจำนวนมาก เข้าร่วมกิจกรรม


นายอนุทินกล่าวเปิดงานระบุว่า เราสัญญาว่าจะทำให้กัญชากลับมาเป็นประโยชน์สำหรับคนไทย เราทำในสิ่งที่พูด พิสูจน์ด้วยผลงาน วันนี้กระทรวงสาธารณสุขจัดให้มีการประชุมเรื่องกัญชาในทุกเขตสุขภาพ เพื่อเร่งให้ความรู้กับประชาชน ในอนาคตกัญชาจะเป็นช่องทางในการหารายได้ ไม่ว่าจะเป็นในทางหลัก หรือจะเป็นทางเลือก การที่เราเดินทางไปทุกเขตสุขภาพ โดยมีผู้บริหารจากกระทรวงติดตามมาด้วยนั้น ก็สะท้อนว่าเราเอาจริงกับเรื่องนี้ พืชกัญชาและพืชกัญชงสามารถนำไปแปรรูปได้อย่างมากมาย จนถึงการเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม

เรื่องกัญชา กัญชง เราได้ปลดล็อกจากความเป็นยาเสพติดแล้ว ปัจจุบันนี้อยู่ในขั้นตอนของสภาเพื่อกำหนดแนวทางการใช้ให้เกิดประโยชน์ และไม่ทำให้เกิดโทษ ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายการเมือง เมื่อกฎหมายผ่านออกมาแล้ว ประชาชนจะสามารถขอจดแจ้งปลูกได้ เรื่องของกัญชานั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 ซอยคือ ซอยที่มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง และซอยที่มีอุปสรรค มีแต่ปัญหา ขอให้เราอย่าเดินเข้าไป กัญชาเป็นอนาคตของประเทศไทยทั้งในเรื่องของการแพทย์ ในเรื่องของสุขภาพ ไปจนถึงในเรื่องของการสร้างรายได้


ขอขอบคุณเขตสุขภาพที่ 4 เป็นเขตสุขภาพที่มีจังหวัดอยู่ในประวัติศาสตร์มายาวนานหลายยุคสมัย ย่อมจะมีองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและความรู้ด้านสมุนไพรมาอย่างยาวนานด้วย ได้พัฒนาห่วงโซ่อุปทาน ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทางอย่างเป็นระบบ บนความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และวิชาการ ทำให้ประชาชนเข้าถึงการใช้กัญชาได้เป็นรูปธรรม ทั้งผู้ป่วยที่ได้ใช้ยา เกษตรกรที่ได้ปลูก และต่อยอดทางเศรษฐกิจ


"โดยเฉพาะศูนย์วิจัยยาเสพติด และตัดช่อดอกกัญชา (จุฬาฯ-สระบุรี) ที่สามารถพัฒนาการปลูกกัญชาชีวภาพ และปรับปรุงสายพันธุ์กัญชาได้สำเร็จ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะเราทราบกันดีว่า สายพันธุ์กัญชาที่ให้ผลผลิตสูง ต้านทานโรค และเหมาะกับสภาพอากาศของประเทศไทยเป็นต้นทางของการพัฒนายา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผมหวังว่าสายพันธุ์กัญชานี้จะถูกส่งมอบให้แก่เกษตรกรไทยเพื่อปลูก และส่งขายในตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ"


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกิจกรรมภายในงาน นอกเหนือจากการประชุมวิชาการแล้ว ยังมีนิทรรศการ ตลาดนัดความรู้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีผลงานโดดเด่นมาร่วมจัดแสดงให้ประชาชนได้เห็น สัมผัส ชิม และลงมือทำ นายอนุทินได้เดินชมบูธจัดแสดงผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกัญชง ระหว่างนั้นนายอนุทินได้แวะที่ร้านก๋วยเตี๋ยวกัญชาคลองจิก พร้อมไปกับโชว์ฝีมือการลวกเส้นและปรุงก๋วยเตี๋ยวใส่กัญชา และสาธิตการทำยาหม่องกัญชา จากโรงพยาบาลเสนา และวิสาหกิจชุมชนคลองห้า คลองหลวง ท่ามกลางความสนใจของประชาชนจำนวนมาก
สำหรับการดำเนินการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 4 สามารถขับเคลื่อนนโยบายกัญชา-กัญชง สู่การนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ มีการดำเนินงานได้อย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม สถานที่ปลูกกัญชา-กัญชงได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายแล้วในทุกจังหวัด รวม 87 แห่ง โดยมีศูนย์วิจัยยาเสพติดและตัดช่อดอกกัญชา (จุฬาฯ-สระบุรี) ที่สามารถพัฒนาการปลูกกัญชาชีวภาพและปรับปรุงสายพันธุ์กัญชา กัญชงให้สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้เป็นที่แรกของประเทศไทย 

กลางน้ำ มีโรงงานสกัดและแปรรูปกัญชา กัญชงที่ได้รับอนุญาตแล้ว 13 แห่ง และมีโรงงานสกัดกัญชงใหญ่ที่สุดเป็นแห่งแรกที่ได้รับอนุญาตในประเทศ คือ บริษัท R&B food supply จำกัด (มหาชน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งมีโรงพยาบาลเสาไห้เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.สระบุรี ที่ได้มาตรฐาน GMP ผลิตยาศุขไสยาสน์ และด้วยความเป็นเจ้าของภูมิปัญญาตำราโอสถพระนารายณ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรีทำการศึกษาวิจัยพัฒนายาจากกัญชา ได้แก่ยาศุขไสยาศน์ และสำราญนิทรา ตั้งแต่การปลูก การแปรรูป การวิเคราะห์เครื่องยาและตั้งตำรับยา

นอกจากนี้ยังพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยนำไปผสมในอาหารขึ้นชื่อประจำจังหวัด เช่น ก๋วยเตี๋ยวเรือกัญชา ขนมไทยเสน่ห์จันทร์ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

 
ทั้งนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากกระทรวงอื่นๆ ในการจัดงานครั้งนี้ ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, สำนักงานการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย


ปัจจุุบัน จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข มีผู้ป่วยได้รับยากัญชา มากกว่า 240,000 ราย เป็นยาแผนไทย 85% แผนปัจจุบัน 15% รวมถึงมีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ สร้างรายได้ให้กับประชาชน ประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจสูงกว่า 7,000 ล้านบาท และ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน เป็นการเปิดโอกาสให้สามารถนำพืชกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และในครัวเรือนได้มากขึ้น โดยไม่ต้องขออนุญาต เปลี่ยนเป็นการจดแจ้งให้รัฐทราบ ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชากว่า 400 แห่ง กัญชงกว่า 1,800 แห่ง ที่ได้รับอนุญาตและมีผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชงออกสู่ตลาดอย่างกว้างขวาง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง