จ่อของบ200ล้านอุ้มก๊าซ ‘พณ.’คุมเข้มขึ้นราคาปุ๋ย

“ประยุทธ์” สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้องรีบคิดมาตรการดูแลวิกฤตพลังงาน “สุพัฒนพงษ์” เตรียมขอ 200 ล้านจากงบฉุกเฉินอุ้มราคาก๊าซให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พร้อมให้ทยอยปรับราคาเป็น 3 ระลอก “คลัง” โวเตรียมชงแพ็กเกจดูแลเข้า ครม. 22 มี.ค. พณ.ย้ำต้องดูเป็นรายหัวปรับราคาปุ๋ย ห้ามพาเหรดขึ้นยกแถว

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตราคาพลังงานดังกล่าว จึงได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งออกมาตรการบรรเทาผลกระทบประชาชนให้มากที่สุด โดยในเบื้องต้นกระทรวงพลังงานได้แนะนำวิธีประหยัดพลังงานน้ำมันและไฟฟ้า ให้ประชาชนสามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ตัวเองและครอบครัว

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่าได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) จัดทำคำขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 200 ล้านบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านราคาก๊าซ LPG โดยจะให้ลดค่าซื้อก๊าซ LPG แก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีก 55 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน และขอความร่วมมือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ขยายเวลาช่วยเหลือส่วนลดราคาก๊าซ LPG แก่ร้านค้า หาบเร่ และแผงลอยอาหาร ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ ปตท.ดำเนินการอยู่ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2565 ถึงวันที่ 30 มิ.ย.2565

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า กบง.ยังได้เห็นชอบการปรับสูตรและแยกชนิดน้ำมันดีเซล รวมทั้งขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมันให้คงค่าการตลาดดีเซลไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2565 ถึงวันที่ 30 มิ.ย.2565 และเพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในส่วนของบัญชีก๊าซหุงต้ม กบง.ยังมีมติเห็นชอบให้ทยอยปรับขึ้นราคา LPG 3 ครั้ง โดยปรับขึ้นเดือนละ 1 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ทำให้ราคาขายปลีกจะปรับเป็น 333 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมในเดือน เม.ย.

"ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ประกอบกับสถานการณ์สงครามยูเครนและรัสเซีย ส่งผลกระทบให้ราคาน้ำมันและ LPG ในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเวลาเกือบ 2 ปีที่กระทรวงพลังงานได้ดูแลประชาชน โดยตรึงราคาก๊าซ LPG ไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม โดยตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.2563 เป็นต้นมา กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้จ่ายเงินชดเชยก๊าซ LPG รวมแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 22,614 ล้านบาท ส่งผลให้ปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชีก๊าซ LPG ติดลบสูงถึง 28,093 ล้านบาท ซึ่งหากปัจจุบันไม่มีการอุดหนุน ราคาก๊าซ LPG จะอยู่ที่ 463 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม" นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 22 มี.ค.นี้ คาดว่าจะเสนอให้มีการพิจารณามาตรการเพื่อบรรเทาภาระประชาชนจากปัญหาราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น โดยยืนยันว่ายังมีงบประมาณเพียงพอ เพราะมีทั้งในส่วนของเงินกู้ที่ยังไม่ได้ใช้ งบประมาณปกติ และงบกลางที่จะนำมาใช้ได้ และมีบางมาตรการที่อาจไม่ต้องใช้งบประมาณด้วย

 “การประชุม ครม.ในวันที่ 22 มี.ค.นี้ คาดว่าจะได้เห็นชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ที่จะออกมาเพื่อดูแลประชาชนจากผลกระทบต่างๆ ส่วนรายละเอียดคงต้องรอ ครม.พิจารณาก่อน”นายกฤษฎากล่าว

ขณะที่นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ได้หารือกับผู้ประกอบการปุ๋ยเคมีของไทยในเรื่องปรับขึ้นราคาตามที่ผู้ค้าร้องขอ โดยกรมได้ยืนยันว่าหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตให้ปรับขึ้นราคาขายปุ๋ยจะพิจารณาให้เป็นรายๆ ไป และพิจารณาแต่ละชนิด เพราะแต่ละราย แต่ละชนิดของปุ๋ยมีต้นทุนแตกต่างกัน   ไม่ใช่อนุญาตให้ปรับขึ้นเท่ากันหมด  หรือให้ปรับขึ้นได้ทุกรายทุกชนิด

 “เรื่องการขึ้นราคาปุ๋ยเคมี ผู้ค้าเข้าใจสถานการณ์ดี เพราะการขึ้นราคาสูงเกินไป ทำให้ความต้องการซื้อลดลงทันที และกระทบกับตัวเอง ส่วนกรมจะพิจารณาให้รอบด้าน และพิจารณาถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยต้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งผู้ผลิต ผู้ค้า  เกษตรกรผู้ใช้ และผู้บริโภคปลายทาง  แต่ถ้าไม่ขึ้นราคา ผู้ผลิต ผู้ค้า ก็อาจไม่นำเข้า และไม่ผลิต ซึ่งจะทำให้ปุ๋ยขาดแคลน และกระทบต่อเกษตรกรอีก โดยเชื่อว่าหากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนจบลงเร็ว สถานการณ์ราคาน่าจะดีขึ้น” นายวัฒนศักย์กล่าว

นายวัฒนศักย์กล่าวว่า จากการหารือพบว่าต้นทุนการผลิตได้ปรับตัวสูงขึ้นมากถึง 36-49% เมื่อเทียบกับปี 2564 หรือเกือบ 100% เมื่อเทียบปี 2563 จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้น และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้แหล่งผลิตปุ๋ยเคมีใหญ่ทั้ง 2 แหล่งได้รับผลกระทบ และไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีเกือบ 100% หรือปีละกว่า 5 ล้านตัน โดยมีแหล่งนำเข้าสำคัญคือ ตะวันออกกลาง จีน รัสเซีย แคนาดา เป็นต้น

น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานคณะกรรมการอำนวยการและพัฒนา พรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า FT สำหรับการเรียกเก็บไฟฟ้าในรอบเดือน พ.ค.ถึง ส.ค.เพิ่มขึ้น ว่าระยะสั้นรัฐบาลควรต้องนำเงินเข้ามาอุดหนุนเพื่อพยุงค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนหรือสนับสนุนส่วนลดค่าไฟฟ้าจนกว่าจะผ่านพ้นวิกฤตช่วงนี้ไปก่อน ส่วนมาตรการระยะยาวรัฐควรมีการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง