ขึ้นค่าไฟฟ้าแตะ4บาท/หน่วย

ขึ้นแน่! "กกพ." เคาะปรับขึ้นค่าเอฟทีงวด พ.ค.-ส.ค.65 ที่ 23.38 สตางค์/หน่วย ส่งผลเรียกเก็บกับประชาชน 4 บาท/หน่วย สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เหตุรับผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดันราคาพลังงานพุ่ง แจงแผนบริหารยื้อแบบสุดทาง โยน กฟผ. แบกรับต้นทุน 3.89 หมื่นล้านบาท

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษกฯ  เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ. เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2565 มีมติปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือน พ.ค.-ส.ค.2565 ที่อัตรา 24.77 สตางค์ต่อหน่วย หรือเรียกเก็บเพิ่ม 23.38 สตางค์ต่อหน่วย และเมื่อรวมกับค่าไฟฐาน 3.76 บาทต่อหน่วย ทำให้ประชาชนต้องจ่ายจริง 4.00 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 5.82% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อค่าเอฟทีมาจากผลกระทบสงครามรัสเซียและยูเครน จนเกิดวิกฤตราคาพลังงานโลกสูงขึ้นมาก

ประกอบกับสถานการณ์ก๊าซธรรมชาติ (แอลเอ็นจี) ในอ่าวไทยลดลงในช่วงปลายสัมปทาน ทำให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มขึ้น ซึ่งมีราคาแพง แต่การปรับขึ้นดังกล่าวนี้ อยู่ภายใต้การประมาณการค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงของ กกพ.แล้ว โดยได้นำแผนบริหารต้นทุนเชื้อเพลิงต่ำที่สุดมาคำนวณ ได้แก่ การรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาว โครงการโรงไฟฟ้าน้ำเทิน ก่อนวันเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มเติมจากกลุ่มโรงไฟฟ้าที่มีความพร้อมจ่ายไฟฟ้า การปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาที่ใช้ผลิตไฟฟ้า และเกณฑ์คำนวณราคาก๊าซธรรมชาติ (เอนเนอร์ยีพูลไพรซ์)  เพื่อให้ต้นทุนเชื้อเพลิงลดลง รวมทั้งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ช่วยรับภาระ 3.89 หมื่นล้านบาท

"อนาคตเมื่อต้นทุนเชื้อเพลิงถูกลงจะทยอยคืนค่าเอฟทีคืน กฟผ.ต่อไป ทั้งนี้หากปล่อยให้ขึ้นแบบไม่มีการคำนวณ จะส่งผลให้ค่าเอฟทีรอบใหม่สูงขึ้นเป็น 129.91 สตางค์ต่อหน่วย หรือ 1.29 บาทต่อหน่วย และถ้า กกพ.นำอัตราดังกล่าวมาเกลี่ยแบบขั้นบันได หากพิจารณาปรับขึ้นแบบขั้นบันได 3 รอบ (พ.ค.2565-เม.ย. 2566) อาจทำให้ต้องขึ้นค่าเอฟทีงวดละ 47.3 สตางค์ต่อหน่วย" 

นายคมกฤชกล่าวว่า ผลจากการบริหารต้นทุนทั้งหมด ทำให้ประมาณการเอฟทีขั้นบันได 3 รอบ เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2556 อยู่ที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย, เดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 อยู่ที่ 64.83 สตางค์ต่อหน่วย, เดือนมกราคม-เมษายน 2566 อยู่ที่ 110.82 สตางค์หน่วย หรือ 1.10  บาทต่อหน่วย แต่หากราคาพลังงานลดลงหลังจากนี้ จะทำให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าลดลง ส่งผลให้ค่าไฟแบบขั้นบันไดที่ประมาณการออกมามีโอกาสลดลงเช่นกัน

 “ขณะเดียวกัน กฟผ.ก็มีการบริหารจัดการไปส่วนหนึ่งด้วยการขออนุมัติเงินกู้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว แต่เราเองก็ไม่อยากให้ใครคนใดคนหนึ่งต้องแบกภาระเกินไป ก็กำลังมองหาผู้ประกอบการอื่นๆ มาช่วย เช่น บมจ.ปตท.จะลดค่าก๊าซได้หรือไม่ เป็นต้น โดยค่าเอฟทีงวดใหม่นี้ สำนักงาน กกพ.จะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 17-27 มีนาคม 2565 ก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป” นายคมกฤชกล่าว 

อย่างไรก็ตาม หากก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ยังมีราคาเหนือระดับ 20 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู คาดว่าค่าไฟจะยืนเหนือระดับ 4 บาทต่อหน่วยต่อไป เพราะการผลิตไฟฟ้าของไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก จากอดีตพึ่งพาก๊าซในอ่าวไทย แต่ปัจจุบันลดลง จึงพึ่งพาแอลเอ็นจีมากขึ้น ดังนั้นต้องอยู่ที่นโยบายรัฐบาลว่าจะสนับสนุนเชื้อเพลิงประเภทใดในอนาคต อาทิ พลังงานหมุนเวียน พลังงานน้ำ หรือหากใช้แอลเอ็นจีอาจใช้วิธีเดียวกับประเทศญี่ปุ่น คือซื้อช่วงราคาถูกมาเก็บไว้ เพราะเมื่อเกิดวิกฤตราคาจะสามารถบริหารจัดการได้ สำหรับความคืบหน้านโยบายตรึงค่าไฟสำหรับผู้ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน เป็นเรื่องนโยบาย คาดว่ารัฐบาลกำลังหางบประมาณสนับสนุนอยู่ ระหว่างนี้อยากให้คนไทยร่วมกันประหยัดพลังงานเพื่อฝ่าวิกฤตนี้ไปให้ได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง