จ่อปลดล็อกผับ-บาร์ จับตา‘ศบค.’เคาะ18มี.ค. โควิดลดถอดแมสก์ในสวน

ยอดติดเชื้อรายใหม่  23,945 ราย เสียชีวิต 70 ราย โคม่า 1,401 ราย จับตาประชุม ศบค.ชุดใหญ่ 18 มี.ค. ถกคลายล็อกเปิดสถานบันเทิง  ให้ "พนักงาน-ลูกค้า" ต้องฉีดวัคซีน 3 เข้ม ตรวจ ATK ก่อนใช้บริการ 24 ชม. ห้ามเต้นรำ-เด็กดริงก์ "ปลัด สธ." แย้มโควิดดีขึ้นจ่อไฟเขียวถอดแมสก์ในสวนสาธารณะได้ "อธิบดีกรมอนามัย" ห่วงรวมกลุ่มงานศพ-งานแต่งแพร่เชื้อเพิ่ม

เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 23,945 ราย ติดเชื้อในประเทศ 23,742 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 23,507 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 235 ราย เรือนจำ 155 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 48 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 3,250,642 ราย หายป่วยเพิ่ม 23,339 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสม 3,004,752 ราย อยู่ระหว่างรักษา 221,972 ราย อาการหนัก 1,401 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 507 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 70 ราย เป็นชาย 34 ราย หญิง 36 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 57 ราย มีโรคเรื้อรัง 12 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 1 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 23,918 ราย

ส่วนยอดฉีดวัคซีนวันที่ 15 มี.ค. 163,264 โดส ยอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 126,431,235 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 462,012,958 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 6,073,733 ราย                

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 3,457 ราย, นครศรีธรรมราช 1,440 ราย, ชลบุรี 1,320 ราย,  สมุทรปราการ 886 ราย, สมุทรสาคร 678 ราย, ฉะเชิงเทรา 617 ราย, ราชบุรี 554 ราย, พระนครศรีอยุธยา 548 ราย,  สงขลา 500 ราย และปทุมธานี 473 ราย 

มีรายงานว่า ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ในวันศุกร์ที่ 18 มี.ค.2565 มีวาระสำคัญในการหารือเพื่อเตรียมผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติม กรณีมาตรการการเดินทางเข้าประเทศในเรื่องการตรวจหาเชื้อ และมีการรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ที่ขณะนี้ไม่มีอะไรที่น่ากังวลถึงแม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจะมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกวัน แต่ก็จะไม่ส่งผลต่อการพิจารณามาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมเสนอให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นแต่อย่างใดในวันที่ 1 ก.ค.2565

"รายละเอียดต่างๆ ต้องรอที่ประชุม ศปก.ศบค.ที่จะหารือในวันพฤหัสฯ ที่ 17 มี.ค. เพื่อสรุปเบื้องต้นก่อนที่จะเสนอเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในที่ 18 มี.ค. ส่วนกรณีที่มีการเรียกร้องให้คลายล็อกเพื่อผ่อนมาตรการ โดยการเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะนั้น มีข้อเสนอที่จะให้ ศบค.ชุดใหญ่มีการพิจารณาผ่อนคลาย ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่จะมีการหารือในประเด็นดังกล่าวในที่ประชุม ศปก.ศบค.ก่อนเพื่อกลั่นกรองเรื่อง ก่อนที่จะพิจารณาว่าจะเสนอมาตรการดังกล่าวเข้าที่ประชุมชุด ศบค.ใหญ่หรือไม่" แหล่งข่าวระบุ

มีรายงานว่า เมื่อไม่นานมานี้ในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้มีการพิจารณาร่างมาตรการเข้มงวดด้านสาธารณสุขในการป้องกันโควิด สำหรับสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ โดยจะมีข้อเสนอให้กลับมาเปิดให้บริการ และสามารถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้ สำหรับสถานประกอบการจะต้องประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid 2Plus ของกรมอนามัย จากนั้นให้ขออนุญาตเปิดดำเนินการต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดต่อไป

นอกจากนั้นยังมีข้อกำหนดเพิ่มเติมในการควบคุมโรค กำหนดให้นักร้อง นักดนตรี พนักงาน ต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม หรือได้รับวัคซีน 2 เข็มภายใน 3 เดือน ตรวจ ATK ทุก 3 วัน และปฏิบัติการตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ขณะที่ผู้ใช้บริการจะต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม หรือได้รับวัคซีน 2 เข็มภายใน 3 เดือนเช่นกัน และให้แสดงผล ATK ภายใน 24 ชั่วโมง ก่อนเข้าใช้บริการทุกครั้ง

"ข้อเสนอดังกล่าวยังกำหนดให้งดจัดพื้นที่เต้นรำส่วนกลาง งดบริการเครื่องดื่มที่มีการใช้แก้วเดียวกัน งดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และการให้บริการสัมผัสใกล้ชิด เช่น พนักงานบริการนั่งดริงก์หรือเอนเตอร์เทนลูกค้า พนักงานเชียร์เบียร์ รวมถึงการให้บริการนวดสัมผัสในห้องน้ำ เป็นต้น" แหล่งข่าวระบุ

ชงศบค.ผ่อนมาตรการ

ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ปลัด สธ.) กล่าวถึงการเสนอมาตรการผ่อนคลายต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ว่า สธ.เตรียมเสนอผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศระบบไม่กักตัว Test & go เพื่อให้เกิดความคล่องตัวทางเศรษฐกิจ จากเดิมกำหนดว่าผู้เดินทางจะต้องมีผลตรวจ RT-PCR ใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางเข้ามา ก็ปรับมาทำครั้งที่ 1 เมื่อเดินทางเข้าถึงไทย และให้ตรวจ ATK ซ้ำอีกครั้งในวันที่ 5 ของการเดินทางมาถึง

 นอกจากนี้ จะเสนอแผนปรับโควิด-19 ในช่วง Endemic Approach ตามที่ สธ.ได้วางแผนไว้ เนื่องจากการจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นจะมีผลต่อการควบคุมโรค การรักษา สังคมและกฎหมาย ดังนั้น ศบค.จะต้องรับทราบและดูแลเรื่องสังคมกับกฎหมาย ส่วนเรื่องการแพทย์ได้รับการสนับสนุนให้การแพทย์นำอยู่แล้ว โดยเราต้องพิจารณาทางสังคมและการแพทย์ให้สมดุลกัน เนื่องจากเราออกกฎหมายหลายสิบฉบับในช่วงการระบาด ฉะนั้นต้องปรับกฎหมายเข้าสู่ปกติ เช่น พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทางรัฐบาลเตรียมการปรับเป็น พ.ร.บ.โรคติดต่อในภาวะฉุกเฉิน โดยเตรียมไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อให้สอดรับกับแผนที่จะทำให้โควิดเป็น Post Pandemic

 “แม้ 4 เดือนในช่วง 3 เฟส บวก 1 นี้ เราจะทำให้เกิดเป็น Post Pandemic ที่ไม่มีการระบาดใหญ่อยู่ในช่วงปลอดภัย ส่วนการทำให้เป็น Endemic เราอาจต้องดูการประกาศจากองค์การอนามัยโลก ทั้งนี้ ทั้งหมดต้องอยู่ในเงื่อนไขว่า ไวรัสไม่กลายพันธุ์รุนแรงเข้ามาอีก โดยต้องทำอย่างมีขั้นตอน (สเต็ป) ค่อยๆ ทำ ไม่ใช่ว่า 4 เดือนแล้วจะเปิดหน้ากาก มีกิจกรรมสังคมเต็มที่ แต่เราตั้งเป้าหมายว่า สวนสาธารณะจะเป็นแห่งแรกที่ไม่ต้องสวมหน้ากาก เพื่อให้ชีวิตเป็นปกติ แต่ยังสนับสนุนให้คนสวมหน้ากากอยู่ โดยเฉพาะคนป่วย แต่คนทั่วไปก็จะผ่อนคลายได้บ้าง ส่วนกิจกรรมรวมกลุ่มก็อาจผ่อนคลายมากขึ้น เช่น กีฬา ฟุตบอล คอนเสิร์ต แต่ต้องมีมาตรการป้องกันคลัสเตอร์ใหญ่” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

ปลัด สธ.กล่าวว่า สำหรับภาพรวมผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังมีจำนวนมาก ทำให้พบผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิต มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตาม โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปและกลุ่มโรคเรื้อรังที่ยังไม่ได้รับวัคซีน โดยส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดคนในครอบครัวและคนรู้จัก ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยเป็นระยะเวลานาน เช่น รับประทานอาหาร ดื่มสุรา ทั้งในงานเลี้ยง ที่บ้าน ที่ทำงาน ร้านอาหาร และแพร่เชื้อต่อให้กลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ทำให้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตตามมา

 “สธ.ได้ให้ทุกจังหวัดเร่งมาตรการ SAVE 608 ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มกระตุ้นในผู้ที่รับวัคซีนครบ 2 เข็มเกิน 3 เดือน เพื่อลดการแพร่เชื้อสู่กลุ่ม 608 โดยเฉพาะพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล จังหวัดที่มีประชากรจำนวนมาก และจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว และขอให้คงมาตรการป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา" ปลัด สธ.กล่าว

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ในส่วนผลการดำเนินงานการเข้ารับบริการแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวเองที่บ้าน (OPSI) หรือเจอ แจก จบ ตั้งแต่วันที่ 1-13 มี.ค.ในพื้นที่ 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ มีผู้เข้ารับบริการสะสม 207,534 ราย เฉลี่ยต่อวัน 15,964 ราย สถานพยาบาลเปิดบริการแล้ว 513 แห่ง โดยเขตสุขภาพที่ 12 มีศักยภาพรองรับผู้ป่วยต่อวันสูงสุดถึง 14,580 ราย และมีผู้เข้ารับบริการเฉลี่ยต่อวัน 3,993 ราย พื้นที่ กทม.มีผู้ป่วยเข้ารับบริการประมาณ 11,203 ราย เป็นโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ 6,740 ราย สังกัดกรมการแพทย์ 4,463 ราย สำหรับโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4, 5 และ 6 ที่ช่วยรองรับผู้ป่วยพื้นที่ กทม. มีผู้รับบริการ 15,893 ราย อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 65% จ่ายยารักษาตามอาการมากที่สุด 52% จ่ายยาฟ้าทะลายโจร 24% และจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ 26% ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้สะดวกรวดเร็วขึ้น และช่วยลดปัญหาตกค้างในการเข้าระบบรักษาผ่านสายด่วน 1330 ได้อย่างดี

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 20,000 คนต่อวัน มีข้อน่าสังเกตการระบาดเป็นกลุ่มก้อนจากการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในสังคมอย่างต่อเนื่อง กรมอนามัยจึงขอย้ำมาตรการ Covid Free Setting ให้ทุกภาคส่วนและประชาชนป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด เพราะจากรายงานการสอบสวนโรค ตั้งแต่ 22 ธ.ค.2564-15 มี.ค.2565 พบคลัสเตอร์การระบาดในงานแต่งงาน, งานศพ, งานบุญ, งานบวช และงานสังสรรค์ พบยอดสูงสุดในต้นเดือนก.พ.2565 พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ จ.กาญจนบุรี กิจกรรมที่พบการระบาดมากสุดคือ งานศพ 56% รองลงมาคือ งานแต่งงาน 23% และงานบุญ 16%

"สอดคล้องกับอนามัยโพลที่พบว่าในงานรวมกลุ่มมีผู้คนละเลยไม่สวมหน้ากากอนามัยพูดคุยเสียงดัง ตั้งวงดื่มเหล้า แสดงให้เห็นว่าการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในชุมชนมีการละเลยอยู่บ้าง จากการวิเคราะห์ความเสี่ยงของการรวมกลุ่มยังพบว่ามีผู้คนมาจากหลากหลายพื้นที่, แต่ละคนยังมีความเสี่ยงจากการได้รับวัคซีนไม่เท่ากัน, มีการดื่มแอลกอฮอล์ ละเลยมาตรการ DMHTA ตะโกนเชียร์ ล้อมวง เล่นการพนัน มีความประมาท เพราะเห็นว่าเป็นคนกันเอง หรือย่อหย่อนการป้องกัน ทั้งกินอาหารร่วมกัน ตะโกน ร้องเพลง" นพ.สุวรรณชัยกล่าว

อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า ขอย้ำทุกคนอาจแพร่เชื้อได้ เพราะปัจจุบันโอมิครอนไม่แสดงอาการรุนแรง เพื่อให้การป้องกันโควิด-19 มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงต้องมีมาตรการเชิงสังคม ในการช่วยเหลือกำกับติดตามมาตรการรวมกลุ่มในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปชน.ขนทัพใหญ่ หาเสียงทิ้งทวน! หวังปักธง‘สีส้ม’

“ปชน.” ปูพรมโค้งสุดท้าย ขนทัพใหญ่ดาวกระจาย 6 สายทั่วพื้นที่ “ปิยบุตร” ขอโอกาสปักธงสีส้ม “พิธา” เชื่อคะแนนยังสูสี พรรคประชาชนมีโอกาสพลิกชนะ