เสด็จฯพระราชทานน้ำหลวงสรงศพสมเด็จวันรัต

ในหลวงและพระราชินี เสด็จฯ พระราชทานน้ำหลวงสรงศพ สมเด็จพระวันรัต 17 มี.ค. พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์เผยอดีตเจ้าอาวาสวัดบวรฯ อุปถัมภ์พุทธศาสนาในเรื่องการศึกษา  แม่นทั้งหลักธรรมและพระวินัย วัตรปฏิบัติของท่านสะท้อนหลักธรรมต่อประชาชนได้

ตามที่สมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร อาพาธด้วยโรคมะเร็งถุงน้ำดี ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย  ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 และเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2565 เวลา 14.22 น. สมเด็จพระวันรัตได้มรณภาพด้วยอาการสงบนั้น

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า ขณะนี้ทาง พศ.ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนจากนี้ เป็นเรื่องของทางวัดบวรฯ และสำนักพระราชวัง ที่จะว่าไปตามกระบวนการ ส่วน พศ.จะมีหน้าที่อำนวยความสะดวกพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่จะมาร่วมงาน ส่วนพิธีกรรมต่างๆ เป็นเรื่องของวัดบวรฯ และทางสำนักพระราชวังที่จะดำเนินการเป็นหลัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊กวัดบวรนิเวศวิหารเผยแพร่กำหนดการบำเพ็ญกุศลศพ สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) ปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ดังนี้ วันที่ 17 มีนาคม เวลา 08.30 น. เคลื่อนศพเจ้าประคุณสมเด็จฯ ออกจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มายังห้องบำเพ็ญกุศล ชั้นที่ 2 อาคาร 100 ปี เวลา 09.30 น. เปิดโอกาสให้พระภิกษุสามเณรถวายน้ำสรงศพเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่ห้องบำเพ็ญกุศล ชั้นที่ 2 อาคาร 100 ปี ขณะที่ประชาชนทั่วไป ถวายน้ำสรงศพเจ้าประคุณสมเด็จฯ หน้าภาพถ่าย ที่ห้องประชุม ชั้นที่ 1 อาคารสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย  ก่อนที่ในเวลา 17.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินในการพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ

วันที่ 18-23 มีนาคม 2565 ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการสวดพระอภิธรรม ในเวลา 18.00 น. จากนั้นวันที่ 21 มีนาคม 2565 เวลา 16.30 น. ทรงพระกรุณาโปรด บำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน พระราชทานศพ จากนั้น เวลา 18.00 น. พระพิธีธรรม สวดพระอภิธรรม วันที่ 22 มีนาคม 2565 เวลา 10.00 น. ทรงพระกรุณาโปรด บำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน พระราชทานศพ จากนั้น เวลา 18.00 น. พระพิธีธรรม สวดพระอภิธรรม

วันที่ 24 มีนาคม 2565 ไปจนถึงการบำเพ็ญพระราชกุศล 100 วัน เปิดโอกาสให้คณะสงฆ์ องค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนศิษยานุศิษย์ รับเป็นเจ้าภาพในการสวดพระอภิธรรม ทุกวัน เวลา 18.00 น.

วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 เวลา 16.30 น. ทรงพระกรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล 50 วัน พระราชทานศพ จากนั้น เวลา 18.00 น. พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม วันที่ 6 พฤษภาคม 2565 เวลา 10.00 น. ทรงพระกรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล 50 วัน พระราชทานศพ จากนั้น เวลา 18.00 น. พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม

วันที่ 22 มิถุนายน 2565 เวลา 16.30 น. ทรงพระกรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล 100 วัน พระราชทานศพ วันที่ 23 มิถุนายน 2565 เวลา 10.00 น. ทรงพระกรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล 100 วัน พระราชทานศพ จากนั้น เวลา 18.00 น. พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม

พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เล่าถึงอาการอาพาธช่วงสุดท้ายของสมเด็จพระวันรัต  ว่าอาการป่วยเริ่มทรุดลงเมื่อช่วงเดือนธันวาคม ปี 2564 ทำให้ร่างกายท่านซีด ผอม แต่ยังรู้องค์ จนช่วงสุดท้ายทีมแพทย์ต้องถวายเครื่องช่วยหายใจ และให้ยาทางเส้นเลือด แต่อาการก็ทรุดลงต่อเนื่อง จนถึงช่วงเช้าของเมื่อวาน ความดันโลหิตลดลงอยู่ 50-70 มิลลิเมตรปรอท และผ่อนลงเรื่อยๆ ในช่วงบ่าย ก่อนจากไปอย่างสงบ ไม่มีอาการชักเกร็งใดๆ

วันที่ 17 มี.ค. คณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหารจะรับสรีรสังขารของท่านกลับมายังวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เพื่อประกอบพิธีบำเพ็ญกุศล โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการสวดพระอภิธรรม และบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.-23 มี.ค.65 หลังจากนั้นจะเปิดให้คณะสงฆ์ องค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนคณะศิษยานุศิษย์รับเป็นเจ้าภาพในการสวดพระอภิธรรมจำนวน 100 วัน

สถานที่การจัดงานจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนชั้นในจะเป็นอาคาร 100 ปี ที่ไว้ใช้รองรับพระบรมวงศานุวงศ์ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ และคณะบุคคลสำคัญ รวมถึงญาติสนิท ส่วนประชาชนบุคคลทั่วไปก็ร่วมพิธีได้ที่อาคารสภาการศึกษาที่ด้านหน้าของวัด ส่วนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับผู้ที่เข้าร่วมงานที่อาคาร 100 ปี จะมีการตรวจคัดกรองเข้มงวด ทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิ จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม รวมไปถึงการตรวจ ATK ส่วนผู้ที่เข้าร่วมพิธีที่อาคารสภาการศึกษา จะมีการตรวจวัดอุณหภูมิ และการเว้นระยะตามมาตรการเช่นเดียวกัน

พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ยังกล่าวถึงการจากไปของสมเด็จพระวันรัต ว่าเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของคณะสงฆ์ เพราะที่ผ่านมาท่านอุปถัมภ์พุทธศาสนาในเรื่องการศึกษา ทั้งบาลีสนามหลวง และโรงเรียนปริยัติธรรมตามวัดต่างๆ ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ขณะที่ในด้านการปกครองคณะสงฆ์ ถือว่าตลอดระยะเวลาท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ถือเป็นยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองของวัด ด้วยความแม่นทั้งทางหลักธรรมและพระวินัยของท่าน พร้อมกับคอยรักษาความเป็นที่พึ่งพิงดับร้อนของวัดให้แก่คนทั่วไป ด้วยการปลูกต้นไม้ด้วยตัวเองไว้หลายต้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง