ติดโควิดรวมATKพุ่งวันเดียวเกือบ 5 หมื่น

ไทยพบติดเชื้ออีก 2.4 หมื่นราย นับ ATK ด้วย ทะลุเป็น 44,977 คน เสียชีวิตเพิ่ม 68 อายุต่ำสุด 11 เดือน สูงสุด 107 ปี กทม.ยืนหัวตารางติดเชื้อ 2,985 ราย


เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 24,592 ราย ติดเชื้อในประเทศ 24,389 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 23,712 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 677 ราย, มาจากเรือนจำ 151 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 52 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 21,371 ราย อยู่ระหว่างรักษา 226,151 ราย อาการหนัก 1,312 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 435 ราย


อย่างไรก็ตาม ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ยืนยัน 24,592 ราย โดยยังไม่รวมผู้ติดเชื้อเข้าข่าย หรือตรวจหาเชื้อด้วย ATK อีกจำนวน 20,385 ราย รวมในวันนี้มีผู้ติดเชื้อมากถึง 44,977 ราย


เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 68 ราย เป็นชาย 38 ราย หญิง 30 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 53 ราย มีโรคเรื้อรัง 10 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 5 ราย ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,161,241 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,911,447 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 23,643 ราย
ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิต 68 ราย มาจาก 35 จังหวัด ได้แก่ กทม. 12 ราย, นครศรีธรรมราช 6 ราย, สมุทรปราการ 3 ราย, นครปฐม ปทุมธานี นครราชสีมา มหาสารคาม ศรีสะเกษ เชียงใหม่ กระบี่ ตรัง ภูเก็ต สงขลา กาญจนบุรี นครนายก ระยอง สระบุรี สุพรรณบุรี จังหวัดละ 2 ราย และสมุทรสาคร เลย บุรีรัมย์ แพร่ นครสวรรค์ พะเยา อุตรดิตถ์ อุทัยธานี ชุมพร นราธิวาส ปัตตานี ระนอง สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ และราชบุรี จังหวัดละ 1 ราย รวมเป็นชาย 38 ราย หญิง 30 ราย อายุ 11 เดือน - 107 ปี เฉลี่ย 75 ปี โดยเป็นผู้สูงอายุและโรคประจำตัวรวม 93%


ส่วนยอดฉีดวัคซีนวันที่ 11 มี.ค. 273,832 โดส ยอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 125,862,893 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 455,511,952 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 6,057,847 ราย


สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 2,985 ราย, ชลบุรี 1,203 ราย, นครศรีธรรมราช 1,148 ราย, สมุทรปราการ 986 ราย, นนทบุรี 969 ราย, สมุทรสาคร 767 ราย, ปทุมธานี 707 ราย, พระนครศรีอยุธยา 675 ราย, สงขลา 619 ราย และนครปฐม 614 ราย


ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีต รมว.สาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษภายในงานประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 22 ของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ศูนย์การประชุมเมืองทองธานี ช่วงหนึ่งระบุว่า การระบาดของเชื้อโควิดเป็นโอกาสใหญ่ที่ทำให้มีหลายอย่างปรับตัว ประเทศไทยมีสิ่งที่หลายประเทศไม่มี คือ อสม. 1,040,000 คน เป็นกำลังสำคัญเป็นระบบรากหญ้าดูแลประชาชน 1 ต่อ 60 ประชากร มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กว่า 10,000 แห่ง ครบทุกตำบล มีโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 798 แห่ง มีโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 96 แห่งทั่วประเทศอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข


นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลสังกัดอื่นที่พอเกิดวิกฤตโควิด-19 ทุกหน่วยงานเข้ามาร่วมมือกันเป็นหนึ่งเดียว ขณะเดียวกันมีระบบสุขภาพ 3 กองทุน คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ครอบคลุมคนไทย 99% ทั้งหมดทำให้ระบบสุขภาพไทยอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก หลายประเทศยกไทยเป็นตัวอย่าง


นพ.ปิยะสกลเสนอว่า สิ่งเหล่านี้เป็นระบบที่ถูกวางเอาไว้ตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า แต่จากนี้อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนบางอย่างให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะสิ่งที่วางไว้ในอดีต เหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น อย่างเช่น 30 บาท รักษาทุกโรค ซึ่งเหมาะสมกับช่วงเวลานั้น แต่อาจไม่เหมาะสมกับช่วงเวลานี้ ซึ่งเป็นระยะที่เราต้องเน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคไม่ให้คนเจ็บป่วย ไม่เช่นนั้นเติมเงินเข้าไปเท่าไหร่ก็คงไม่พอ จึงต้องเน้นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2030 ซึ่งประเทศไทยก็เข้าร่วมด้วย โดยมีข้อกำหนดหลายข้อ แต่หลักการคือเน้นสร้างสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีหัวใจหลักคือการมีสุขภาพดีจึงจะสามารถพัฒนาประเทศต่อไปได้


นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เน้นบริหารจัดการโควิด-19 โดยให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงการดูแลรักษาในทุกระดับอาการ หลัง ครม.เห็นชอบหลักเกณฑ์เบิกจ่าย ผู้ป่วยสีเหลืองสีแดงตามเกณฑ์ที่ สพฉ.กำหนด สามารถเข้ารักษาได้ทุกที่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนผู้ป่วยสีเขียวรักษาฟรีที่สถานพยาบาลในเครือข่ายสิทธิบัตรทองหรือประกันสังคม หรือสิทธิข้าราชการตามสิทธิของตนเอง และหากอาการเปลี่ยนเป็นระดับสีเหลืองหรือสีแดง ให้ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นโดยใช้สิทธิ UCEP Plus กรณีผู้ป่วยโควิด-19 หรือ UCEP Plus ซึ่งจะเริ่มใช้ในวันที่ 16 มีนาคมนี้


นายธนกรกล่าวว่า ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่ติดเชื้อโควิดกลุ่มสีเขียว สามารถเข้าโรงพยาบาลคู่สัญญาของประกันสังคมได้ทุกแห่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนสิ้นสุดการรักษา ส่วนกรณีกลุ่มสีเหลืองหรือสีแดง สามารถเข้าโรงพยาบาลได้ทั้งรัฐและเอกชน โดยประกันสังคมจะเข้าไปร่วมจ่ายทั้งหมด หากมีข้อสงสัยสามารถโทรสายด่วน 1506 กด 1.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง