รัฐบาลยอมรับชะตากรรมวิกฤตสงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” ทำราคาน้ำมัน-ปุ๋ยพุ่งปรี๊ด “ประยุทธ์” เรียกถกสุพัฒนพงษ์-ทีมที่ปรึกษาด่วน สั่งเร่งช่วยเหลือประชาชนและรีบทำโดยเร็ว รมว.พลังงานรับตรึงดีเซลได้ถึง พ.ค.เท่านั้น “ก๊าซหุงต้ม” สุดอั้น สิ้น มี.ค.ปรับขึ้น กก.ละ 1 บาท ค่าไฟก็เอาไม่อยู่ พ.ค.ขยับตามต้นทุนที่พุ่งขึ้น อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานชี้ไทยมีน้ำมันสำรองใช้ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด 66 วัน เล็งออกกฎให้เพิ่มสำรอง
เมื่อวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ได้ส่งผลต่อระบบการค้าโลกแล้ว โดยราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์และสินแร่ที่มีการซื้อขายระหว่างประเทศพุ่งสูงขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว และหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อ จะยิ่งทำปุ๋ยและวัตถุดิบอาหารสัตว์ รวมถึงราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการขนส่งสินค้าปรับเพิ่มขึ้น โดยนายกฯ ได้กำชับทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหา ทั้งติดตามระดับราคาอาหารสัตว์และปุ๋ยให้สอดคล้องกับสัดส่วนต้นทุนที่แท้จริง ไม่ให้มีการกักตุนฉวยโอกาสขึ้นราคา
“นายกฯ ได้เตรียมมาตรการและแนวทางรับมือผลกระทบตั้งแต่มีความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ก่อนพัฒนาเป็นวิกฤตสงคราม และนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาเป็นระยะ และหากสถานการณ์ยืดเยื้อ รัฐบาลก็ได้เตรียมมาตรการอื่นๆ ไว้แล้ว เพื่อบรรเทาภาระพี่น้องเกษตกร ผู้ประกอบการ และประชาชนให้มากที่สุดด้วย” นายธนกรกล่าว
ต่อมานายธนกรกล่าวถึงผลการประชุมคณะที่ปรึกษา เพื่อหารือเกี่ยวกับแผนการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (S-curve) ที่มีนายกฯ เป็นประธานว่า นายกฯ ได้หารือด้านราคาพลังงานที่สูงขึ้นจากสถานการณ์โลกด้วย โดยให้ทุกหน่วยงานร่วมพิจารณาเสนอแนวทางที่เหมาะสม เกิดผลกระทบน้อยที่สุด เพื่อประชาชนทุกคน
ในเวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ได้เรียกนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน, นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกฯ, คณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ และผู้บริหารของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หลังจากที่นายสุพัฒนพงษ์ และผู้บริหารกระทรวงพลังงานแถลงข่าวนโยบายพลังงานเสร็จสิ้น โดยใช้เวลาหารือกว่า 1 ชั่วโมง
ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษานายกฯ และผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า เป็นการหารือเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานต่างๆ ด้านพลังงาน หลังจาก ครม.มีมติเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการเพื่อลดภาระและบรรเทาผลกระทบของประชาชน โดยนายกฯ กำชับให้ทำงานให้เร็วขึ้น พร้อมกลับมารายงานให้ทราบ เนื่องจากสถานการณ์และราคาพลังงานในขณะนี้ผันผวนอย่างมาก แต่นายกฯ ยังไม่ได้สั่งให้จับตาเรื่องราคาสินค้าอะไรเพิ่มเติมเป็นพิเศษ
ขณะที่นายสุพัฒนพงษ์แถลงถึงสถานการณ์พลังงานที่ผันผวนว่า ส่งผลให้เกิดผลกระทบกับราคาขายปลีกทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศ โดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ศึกษาแนวทางรับมือวิกฤตราคาพลังงาน หากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียยูเครนยืดเยื้อรุนแรงเกินกว่าที่คาดไว้ โดยกระทรวงพลังงานยืนยันว่าจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร โดยจะใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาดูแล โดยปัจจุบันกองทุนยังมีกระแสเงินสดและเงินไหลเข้าอยู่เกินกว่า 20,000 ล้านบาท คาดว่าจะดูแลได้จนถึง พ.ค.2565 ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบที่ 115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่หลังจากนั้นจะมีเงินกู้ที่กองทุนกู้ได้อีก 40,000 ล้านบาทเข้ามาดูแลในช่วงต่อไป ซึ่งคาดว่าจะได้เงินก้อนแรกในช่วงเดือน พ.ค.2565 เช่นกัน
“เบื้องต้นรัฐจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือน 15 บาท/ถังขนาด 15 กิโลกรัม (กก.) หรือขึ้น กก.ละ 1 บาท มาอยู่ที่ 333 บาท/ถัง 15 กก. จากปัจจุบันอยู่ที่ 318 บาท/ถัง 15 กก. ซึ่งจะหมดนโยบายดูแลในช่วง 31 มี.ค.2565 แต่ยังคงช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.5 ล้านคน ที่ 45 บาท/ถัง 15 กก./ 3 เดือน”
นายสุพัฒน์พงษ์กล่าวอีกว่า ถ้าถามว่าถ้าเงิน 40,000 ล้านบาทหมดแล้วจะทำอย่างไรต่อ ก็ต้องรอหลังจากนั้น ระหว่างนี้ต้องประหยัด ซึ่งรัฐบาลจะพยายามตรึงภายใต้กรอบวงเงินที่มีอยู่ ถ้าทุกคนประหยัดก็ตรึงได้นาน ซึ่งยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเป็นธรรมชาติในเหตุการณ์ที่ผันผวน จะเอาคำตอบเป๊ะ กลับบ้านไปนอนหลับสบายคิดว่าไม่ได้ เป็นลักษณะบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความผันผวน ซึ่งตอนนี้ก็ต้องตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงจะหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซินและโฟกัสที่เปราะบาง โดยช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 13.5 ล้านคน รวมไปถึงกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่ถือบัตรด้วย ซึ่งปัจจุบันมีผู้จดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกอยู่ 21 ล้านคัน ส่วนราคาไฟฟ้าต้องยอมรับว่าต้องปรับขึ้นแน่นอน ตามอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) แต่จะพยายามบริหารจัดการไม่ให้ขึ้นสูงมาก และมีแนวคิดจะช่วยประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าระดับไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน หรือคิดเป็นเงินประมาณ 1,200 บาทต่อเดือน ให้อยู่ในราคาเดิม โดยอยู่ระหว่างเตรียมหางบประมาณว่าต้องใช้เท่าไหร่
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ.กล่าวว่า จำเป็นต้องปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2565 ขึ้นตามต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตจากที่จะทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันได 16.71 สตางค์/หน่วย โดย กกพ.จะพยายามบริหารจัดหาเชื้อเพลิงอื่นที่มีต้นทุนถูกกว่าก๊าซมาผลิตไฟฟ้า เพื่อประคองค่าเอฟทีให้ปรับขึ้นไม่เกินกรอบที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
ด้าน น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าวว่า กรมได้ประสานไปยังโรงกลั่นทุกแห่ง ยืนยันมีแผนบริหารจัดหาปริมาณก๊าซธรรมชาติเพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ 66 วัน หรือประมาณ 2 เดือน แบ่งเป็นปริมาณน้ำมันดิบสำรอง 5,686.44 ล้านลิตร และปริมาณน้ำมันสำเร็จรูป 1,703.61 ล้านลิตร รวมกับปริมาณนำเข้าน้ำมันของบริษัท ปตท. 636 ล้านลิตร
“กรมได้เตรียมมาตรการรองรับวิกฤตพลังงาน โดยเตรียมประกาศเพิ่มอัตราสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมาย ให้ปริมาณน้ำมันดิบสำรองเพิ่มเป็น 5% จากเดิม 4% และน้ำมันสำเร็จรูปสำรองเพิ่มเป็น 2% จาก 1% ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากผู้ค้าน้ำมัน คาดว่าจะมีข้อสรุปภายใน 1 สัปดาห์ โดยยอมรับว่าการเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันทุก 1% ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศเพิ่มขึ้น 60 สตางค์/ลิตร” น.ส.นันธิกากล่าว
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนมีสถานะติดลบประมาณ 23,000 ล้านบาท ขณะที่มีเงินไหลเข้ากองทุน 2,700-3,000 ล้านบาท/เดือน แต่มีเงินไหลออกประมาณ 30,000 ล้านบาท/เดือน ซึ่งล่าสุดกองทุนชดเชยราคาดีเซลไปแล้วรวม 14 บาทต่อลิตร
ส่วนนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงผลกระทบวิกฤตพลังงานในภาคคมนาคมว่า มีผลกระทบทั้งด้านการขนส่งทางถนน, ทางราง, ทางน้ำ และทางอากาศ จึงได้มีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับสถานการณ์จัดทำสรุปรายงานผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวในด้านคมนาคมขนส่งที่มีต่อประชาชน ทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ทั้งในระยะสั้น และในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นคือ ระยะกลาง ระยะยาว โดยเน้นในเรื่องความปลอดภัย การให้บริการ แนวโน้มผลกระทบที่มีต่อการปรับราคาในภาคคมนาคมต่างๆ รวมถึงรายงานผลการดำเนินการรับมือผลกระทบที่หน่วยงานได้ดำเนินการไปแล้ว โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รวบรวมรายงานเสนอต่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พิจารณานำก่อนเสนอนายกฯ ต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ ห่วงคนไทยในแอลเอ เหตุไฟป่าโหมหนัก สั่งกงสุลใหญ่เร่งช่วยด่วน
นายกฯ ห่วงคนไทยในลอสแอนเจลิส กำชับสถานกงสุลใหญ่ ช่วยเหลือเหตุไฟป่า ขอติดตามข่าวจากส่วนราชการใกล้ชิด
จับตา! 'นายกฯอิ๊งค์' หัวโต๊ะ ก.ตร. เคาะโผ 'นายพลเล็ก' 140 ตำแหน่ง 'นรต.45' ผงาด
จับตา 'นายกฯอิ๊งค์' นั่งหัวโต๊ะประชุม ก.ตร. ถกโผแต่งตั้งนายพล ระดับ 'รองผบช.-ผบก.' กว่า 140 ตำแหน่ง คาด 'บิ๊กเต่า' โยกจาก บช.ก. นั่งรองผบช.น. 'นรต.45' ผงาดผู้การกองปราบ มือขวาผบช.ไซเบอร์ ขึ้น ผบก.สอท.4
‘อิ๊งค์’ลุยภูเก็ต หนุนท่องเที่ยว กลุ่ม‘ลักซ์ชูรี’
"นายกฯ อิ๊งค์" เปิดงานแสดงเรือนานาชาติ หนุนท่องเที่ยวลักซ์ชูรีไลฟ์สไตล์
ชงแก้สัญญารถไฟฟ้าเชื่อม3สนามบิน
บอร์ดอีอีซีชงแก้สัญญารถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน เข้า ครม.ภายในเดือนเม.ย.นี้
ศาลนัด10ก.พ. 16บอสขอสิทธิ์ ได้ประกันสู้คดี
"ทนายดิไอคอน" จ่อยื่นประกันตัว 16 บอส ช่วงนัดตรวจหลักฐาน
2สัปดาห์ส่ง‘จ่าเอ็ม’กลับ เชื่อมีผู้ร่วมขบวนการอีก
นายกฯ สั่งทบทวนมาตรการป้องกันก่ออาชญากรรมในไทย