พิธาติดโควิด19 ‘หมอสุวัฒน์’ย้ำ เข็ม3-4กันตาย!

ไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 24,792 ราย สังเวยอีก 63 คน อึ้ง! กทม.-ชลบุรี-นครศรีฯ ผู้ป่วยใหม่ระดับพันอัป “พิธา” จบเกม ไม่รอด สธ.เตือนระวังอาการคล้ายไข้หวัด-ไข้เลือดออก หมอสุวัฒน์เผยผลวิจัยชี้ชัดเข็ม 3-4 ป้องกันตายเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

เมื่อวันศุกร์ที่ 11 มี.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 24,792 ราย ติดเชื้อในประเทศ 24,554 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 22,065 ราย อยู่ระหว่างรักษา 222,998 ราย อาการหนัก 1,255 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 415 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 63 ราย เป็นชาย 37 ราย หญิง 26 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,136,649 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,890,076 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 23,575 ราย ส่วนยอดฉีดวัคซีนวันที่ 10 มี.ค. 218,260 โดส ยอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2564 จำนวน 125,589,061 โดส

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 3,171 ราย, ชลบุรี 1,386 ราย, นครศรีธรรมราช 1,324 ราย, นนทบุรี 971 ราย, สมุทรสาคร 829 ราย, สมุทรปราการ 813 ราย, ปทุมธานี 645 ราย, พระนครศรีอยุธยา 617 ราย, นครราชสีมา 532 ราย และนครปฐม 519 ราย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อกระแสข่าวปลอม ความเชื่อผิดๆ ที่เผยแพร่ในสื่อโซเชียลที่ว่าผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จะไม่ติดเชื้อโควิด-19 และดื่มทุกวันจะให้ผลดีกว่าการออกกำลังกาย โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันว่าความเชื่อดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลง เม็ดเลือดขาวทำงานฆ่าเชื้อโรคในร่างกายได้ไม่เต็มที่ มีโอกาสติดเชื้อต่างๆ ได้ง่ายขึ้น รวมถึงการติดเชื้อโควิด-19 ด้วย

 “การรวมกลุ่มเพื่อดื่มสังสรรค์จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการแพร่ระบาดมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังพบผู้ป่วยที่มีประวัติดื่มสุราติดเชื้อโควิด-19 มีความเสี่ยงต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตสูงเมื่อเทียบกับคนไข้ที่ไม่มีประวัติดื่มแอลกอฮอล์” นายธนกรกล่าว

ขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) โพสต์ภาพผลตรวจ ATK ผ่านอินสตาแกรมแจ้งว่าติดเชื้อโควิด-19 โดยระบุว่า “จบข่าว พ่อก็เกม ติดตอนช่วงดูแลลูก ไม่ได้ออกไปไหน อยู่บ้านตลอด”

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันส่วนใหญ่ราว 50% ไม่มีอาการป่วย ส่วนที่มีอาการ 50% แยกอาการย่อยได้เป็นไอและเจ็บคอ 50%, อ่อนเพลีย เป็นไข้ 30-40% และถ่ายเหลว 10% ทั้งนี้อาการโควิดใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดแล้ว แต่ช่วงนี้ต้องระวังเพิ่มขึ้น เพราะอาจเจอโรคไข้เลือดออกได้ ซึ่งมีอาการไข้ อ่อนเพลียเหมือนกัน ดังนั้นหากสงสัยว่าตัวเองมีอาการคล้ายไข้หวัด หรือแม้แต่ถ่ายเหลว เบื้องต้นให้ตรวจ ATK ได้ทันที หากเป็นผลลบให้สังเกตอาการตัวเองใน 48 ชั่วโมง ถ้ายังไม่ดีขึ้นให้ไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการโรคอื่นๆ เช่น ไข้เลือดออก ซึ่งสิ่งสำคัญคือการป้องกันติดเชื้อสูงสุด ติดเชื้อแล้วต้องกักตัวเองเพราะแม้ไม่มีอาการรุนแรง แต่หากไปพบคนอื่นที่ภูมิต้านทานน้อย มีโรคร่วมจะมีความเสี่ยง

เมื่อถามถึงความพร้อมของ รพ. เพื่อรองรับ UCEP Plus ผู้ติดเชื้อกลุ่มอาการสีเหลือง สีแดง และกลุ่มสีเขียวที่มีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างไร นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิด UCEP Plus ถือเป็นผู้ป่วยสีเหลือง สีแดงทุก รพ.รองรับได้อยู่แล้วทั้ง รพ.รัฐและเอกชน แต่สิ่งที่เรากังวลคือ กลุ่มสีเขียวที่อาการเปลี่ยนแปลง อาจต้องจัดระบบที่ดีจากสิทธิสุขภาพนั้นๆ

วันเดียวกัน ศ.เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 ตั้งแต่ ต.ค.2564-ก.พ. พบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มักมีโรคประจำตัวร่วมอยู่ด้วย และไม่ได้ฉีดวัคซีนสูงถึง 76% และไม่พบการเสียชีวิตในผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 3 หรือ 4 เข็มเลย ซึ่งหากเทียบช่วงที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอน จะเห็นได้ว่าในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน มีอัตราการเสียชีวิตลดลงกว่า 16 เท่า 

 “เมื่อวิเคราะห์หาประสิทธิผลของวัคซีน ในช่วงแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาพบว่า ผู้ได้รับวัคซีนจำนวน 2 เข็มมากกว่า 14 วันขึ้นไปป้องกันการติดเชื้อได้ 71% ส่วนวัคซีน 3 เข็มป้องกันการติดเชื้อได้ 93% ในวัคซีนทุกสูตร และช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ถึง 97-99% ในผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 และ 3 เข็ม แต่สายพันธุ์โอมิครอนพบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนเพียง 2 เข็มไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้เหมือนในช่วงเดลตา แต่หากได้รับวัคซีนเข็ม 3 ไม่ว่าเป็นสูตรใด จะป้องกันการติดเชื้อโอมิครอนถึง 68% และลดการเสียชีวิตได้มากถึง 98% ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาในต่างประเทศ จึงควรเร่งรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ให้ครอบคลุมโดยเร็ว” ศ.เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง