เคาะโควิดโรคประจำถิ่น1ก.ค.

สธ.เคาะแผน 4 ระยะประกาศโควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่น 1 ก.ค.นี้ เร่งเดินเครื่องลดตัวเลขยอดติดโควิด-เสียชีวิต คาดปลายเดือน มิ.ย.เหลือป่วย 1-2 พันคน/วัน พร้อมปรับแก้ กม. 9 ฉบับรองรับการรักษาที่เหมาะสม "สพฉ." เผย 3 เกณฑ์เข้ายูเซปพลัส  "ศบค." ระบุติดเชื้อรายใหม่ 22,073 ราย ดับ 69 คน "บิ๊กตู่" คัดทหารสุภาพ อดทน ใจเย็น เสริมสายด่วน 1330 อีก 200 สาย

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) วันที่ 9 มี.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลาโหม มหาดไทย แรงงาน ศึกษาธิการ การต่างประเทศ การท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ UHOSNET โรงพยาบาลเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชาชีพและองค์กรอิสระ ร่วมประชุม

นายอนุทินกล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติครั้งที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การพิจารณาให้บริหารจัดการโควิด-19 แบบโรคประจำถิ่น (Endemic approach) ซึ่งเวลานี้มีหลายประเทศที่เตรียมการเปลี่ยนผ่านโควิด-19 ไปสู่โรคประจำถิ่น เช่น ประเทศในทวีปยุโรป สำหรับประเทศไทยมีการเตรียมมาตรการในการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับระดับสถานการณ์โดยคำนึงถึงทุกมิติ อาทิ การเดินทางเข้าประเทศไทยตามโปรแกรม Test & Go ที่มีเงื่อนไขด้านสุขภาพพร้อมกับการอำนวยความสะดวกให้กับนักเดินทางต่างชาติและคนไทย ช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ

นายอนุทินกล่าวว่า การประชุมวันนี้มี 3 ประเด็นสำคัญในการพิจารณาเห็นชอบ คือ 1.หลักการการจัดการตามแผนและมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านการระบาดของโรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่นบนพื้นฐานสุขภาพที่ดีของคนไทยทุกคน และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการบริหารจัดการด้านต่างๆ ได้แก่ การเฝ้าระวังและมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศ การเฝ้าระวังในประเทศ การสอบสวนโรค การบริหารจัดการวัคซีน มาตรการป้องกันและควบคุมโรค มาตรการด้านการแพทย์ รวมถึงมาตรการทางกฎหมายและสังคม เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตเป็นปกติภายใต้หลัก Universal Prevention เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าได้ 2.เร่งรัดการให้วัคซีนป้องกันโรคหัดและหัดเยอรมัน ภายใต้โครงการกำจัดโรคหัดและหัดเยอรมันตามพันธสัญญานานาชาติ 3.แนวทางการรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี ด้วยวิธี Test and Treat

ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงค์รจิต ปลัดสธ. กล่าวว่า ที่ประชุมได้วางกรอบการเป็นโรคประจำถิ่นว่าต้องทำอย่างไร โดยจะแบ่งเป็น 4 เฟส ของการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ได้แก่ ระยะที่ 1 (12 มี.ค.-ต้น เม.ย.) เรียกว่า Combatting ต้องออกแรงกดตัวเลขไม่ให้สูงกว่านี้ เป็นระยะต่อสู้ เพื่อลดการระบาด ลดความรุนแรงลง, ระยะที่ 2 (เม.ย.-พ.ค.) เรียกว่า Plateau คือการคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น ให้เป็นระนาบจนลดลงเรื่อยๆ, ระยะที่ 3 (ปลาย พ.ค.-30 มิ.ย.) เรียกว่า Declining การลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้เหลือ 1,000-2,000 ราย และระยะที่  4 ตั้งแต่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นไป เรียกว่า Post pandemic คือออกจากโรคระบาด เข้าสู่โรคประจำถิ่น

"ช่วงแรกเดือน มี.ค.-เม.ย. ภายใน 1 เดือน จะพยายามให้กราฟตัวผู้ป่วยติดเชื้อที่ตอนนี้เป็นขาขึ้นให้คงตัวเป็นแนวระนาบ จากนั้นในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. เป็นช่วงที่ผู้ป่วยติดเชื้อจะค่อยๆ ลดลง ในช่วงปลายเดือน มิ.ย. หรือราว 30 มิ.ย. ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อคาดเหลือ 1,000-2,000 คนต่อวัน แต่ทั้งนี้จะต้องมีการปรับแก้กฎหมายถึง 9 ฉบับ เพื่อเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น และต้องทำให้มาตรฐาน Covid Free Setting เป็นมาตรฐานการควบคุมโรคในอนาคต มีแนวทางการรักษาที่เหมาะสม สอดคล้องกัน และในส่วนของอัตราการเสียชีวิตก็ต้องลดลงเหลือประมาณ 1 ใน 1,000 โดยอัตราการเสียชีวิตของไทยขณะนี้อยู่ที่ 0.19% ขณะที่ทั่วโลก อยู่ที่ 1.3%" ปลัด สธ.ระบุ

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงถึงการใช้สิทธิยูเซปโควิดพลัส (UCEP COVID Plus) ว่าเมื่อ 2 ปีก่อนโควิดไปรักษาที่ไหนก็ได้เป็นยูเซปโควิด แต่ปัจจุบันลักษณะโรคความรุนแรงลดลง ปรับวิธีการรักษาในกลุ่มผู้ที่ไม่มีอาการรุนแรงเป็น Hi เป็นหลัก และล่าสุดมีการรักษาแบบผู้ป่วยนอก OPD  ตามสถานการณ์ของโรค พร้อมให้ระบบการรักษากลับไปสู่การรักษาตามสิทธิเดิม เช่น ผู้ประกันตนก็ไปตามระบบ มีผลวันที่ 16 มี.ค. ส่วนผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตโควิดสีเหลือง สีแดง ยังคงให้ใช้รักษาได้ทุก รพ.จนกว่าจะหายดี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น โดยทางสถานพยาบาลต้องทำหน้าที่ในการประเมินคัดแยกผู้ป่วย ยกเว้นแต่ผู้ป่วยหรือญาติปฏิเสธการรักษาใน รพ.ตามสิทธิ แต่ประสงค์ไปรักษาที่อื่นเอง ก็จะเป็นภาระที่ผู้ป่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

โควิดพุ่งดับเพิ่ม 69 ราย

นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า หลักเกณฑ์การประเมินคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตกรณีโรคโควิด สำหรับยูเซปพลัส หากมีอาการรุนแรงกลุ่มสีเหลือง สีแดง โดยนิยามคือ ผู้ป่วยตรวจ ATK ผลเป็นบวก หรือ RT-PCR ผลติดเชื้อ ร่วมกับมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ 1.หัวใจหยุดเต้น มีสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจ หายใจลำบากเฉียบพลัน มีภาวะช็อก มีภาวะโคม่า มีอาการซึมลง เมื่อเทียบกับระดับความรู้สึกตัวเดิมหรือกำลังชักเมื่อแรกรับที่จุดคัดแยก 2.มีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส นานกว่า 24 ชั่วโมง หรือหายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่ 3.มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงหรือโรคร่วม

ด้านศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 22,073 ราย ติดเชื้อในประเทศ 21,830 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 21,653 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 177 ราย เรือนจำ 151 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 92 ราย หายป่วยเพิ่ม 24,747 ราย อยู่ระหว่างรักษา 221,585 ราย อาการหนัก 1,200 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 404 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 69 ราย เป็นชาย 42 ราย หญิง 27 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 54 ราย มีโรคเรื้อรัง 13 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 2 ราย

ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 3,088,873 ราย หายป่วยสะสม 2,843,850 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 23,438 ราย ส่วนยอดฉีดวัคซีนวันที่ 8 มี.ค. 162,439 โดส ยอดฉีดสะสม 125,199,011 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 449,914,073 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 6,035,921 ราย 

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 3,152 ราย, ชลบุรี 976 ราย, สมุทรปราการ 964 ราย, นนทบุรี 911 ราย, นครศรีธรรมราช 888 ราย,  สมุทรสาคร 735 ราย, พระนครศรีอยุธยา 619 ราย, ภูเก็ต 545 ราย,  บุรีรัมย์ 452 ราย และฉะเชิงเทรา 436 ราย

วันเดียวกัน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. มีคำสั่งให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) จัดกำลังพลสนับสนุนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปฏิบัติหน้าที่รับสายด่วนของ สปสช. (1330) ซึ่งมีปริมาณผู้โทร.เข้ามาจำนวนมาก เพื่อช่วยเร่งนำผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ระบบ ให้ประชาชนเข้าถึงการดูแล และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ ศปม.ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานสายด่วน ศปม. สนับสนุน สปสช. (1330) จำนวน 200 คู่สาย โดยแบ่งเป็นกองบังคับการ ศปม. 40 คู่สาย, ศปม.กองทัพบก 80 คู่สาย, ศปม.กองทัพเรือ 40 คู่สาย และ ศปม.กองทัพอากาศ 40 คู่สาย โดยเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา สปสช.ได้จัดการอบรมและซักซ้อมการปฏิบัติงานให้เจ้าหน้าที่สายด่วน และการบันทึกข้อมูลเข้าระบบ สปสช.

 “กำลังพลที่เข้ามาช่วยเหลือจะปฏิบัติภารกิจตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น.ของทุกวัน โดยเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีขีดความสามารถในการบันทึกข้อมูล มีทักษะการพูดคุยที่สุภาพ อดทน ใจเย็น นอกจากนี้ ศูนย์ประสานงานสายด่วน ศปม.ได้จัดผู้บัญชาการเหตุการณ์ในการควบคุมดูแลการปฏิบัติ พร้อมชี้แจงการปฏิบัติให้กับกำลังพลเมื่อมีการหมุนเวียน ประสานการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น และกำหนดให้รายงานผลการปฏิบัติตามวงรอบที่กำหนด และสรุปปัญหาข้อขัดข้องเพื่อแก้ไขให้การปฏิบัติมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” นายธนกรกล่าว

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า นายกฯ ยังกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและท้องถิ่น เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เร่งบริหารกำจัดขยะติดเชื้อที่ถูกวิธี เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ซึ่งจากรายงานพบมีผู้ทิ้งชุดตรวจ ATK แบบที่ใช้แล้วลงถังขยะทั่วไป โดยไม่มีการผูกมัดถุงขยะให้มิดชิดหรือเขียนป้ายบอกเตือน ซึ่งทำให้เกิดการแพร่เชื้อตามจุดทิ้งขยะต่างๆ ถือเป็นขยะติดเชื้อ จึงขอความร่วมมือประชาชนกำจัดอุปกรณ์และเครื่องตรวจคัดกรองโควิด-19 อย่างถูกวิธี เพราะทุกคนมีส่วนร่วมกันควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 และสร้างพื้นที่ปลอดภัยโดยเริ่มที่ตนเอง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง