จ่อเคาะมาตรการพลังงาน ลดค่านํ้า-ไฟช่วยคนจน

นายกฯ นั่งหัวโต๊ะถกนอกรอบรับมือวิกฤตพลังงาน เตรียมมาตรการไว้แล้ว วอนประชาชนร่วมมือประหยัดพลังงาน สั่งดูแลค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อย "สุพัฒนพงษ์" จ่อแถลงพุธนี้ ครม.ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่ใช้ผลิตไฟฟ้าเหลือศูนย์ บรรเทาภาระค่าไฟ 6  เดือน

ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 8 มีนาคม เวลา 13.45 น. ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เต็มคณะเสร็จสิ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เรียกประชุม ครม.นอกรอบ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ   เข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามและเตรียมการรับมือสถานการณ์การยูเครน-รัสเซีย พร้อมหามาตรการลดผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะปัญหาด้านพลังงานที่ขณะนี้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ต่อมาเวลา 14.45 น. พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งสำคัญที่สุดจะแก้ปัญหาผลกระทบจากการสู้รบอย่างไร ซึ่งหลายๆ มาตรการจะต้องเตรียมการไว้เป็นการล่วงหน้า ปัจจุบันเริ่มเดือดร้อนแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพลังงาน แก๊ส น้ำมัน ซึ่งเราได้ใช้จ่ายเงินไปพอสมควรกับตรงนี้ เพื่อรักษาระดับราคาให้อยู่ในเกณฑ์ 30 บาท ในช่วงที่ผ่านมา แต่ตอนนี้ราคามันสูงมากขึ้นทุกวัน เราจะทำอะไรได้ต่อไป ซึ่งตรงนี้ต้องเตรียมการอยู่แล้ว

 “ขอความร่วมมือให้พวกเราได้ช่วยกัน เรื่องแรกที่เราควรจะช่วยกันได้ก่อนที่รัฐจะช่วยคือการใช้พลังงานอย่างประหยัดได้หรือไม่ การใช้รถยนต์ผมไม่ได้ห้ามใช้นะ ใครใช้ได้ก็ใช้ ใครที่ไม่จำเป็นก็ลดลง แอร์ก็ล้างที่บ้านสักหน่อย เปิด-ปิดไฟเป็นเวลาสักหน่อย การทำงานใช้ทางวิดีโอบ้าง เวิร์กฟรอมโฮมบ้าง อันนี้คือมาตรการช่วยตัวเองเพื่อลดค่าใช้จ่ายตัวเองลง ผมขอได้แค่นั้น ส่วนที่เหลือรัฐบาลก็ต้องหามาตรการที่จะมาดูแลตรงนี้ ซึ่งการใช้มาตรการต่างๆ ก็ต้องใช้เงินทั้งสิ้น วันนี้ใช้เงินประมาณวันละ 600 ล้านบาทในการดูแลราคาน้ำมันดีเซลอย่างเดียวในขณะนี้ ลองคิดดูแล้วกัน ถ้ามันขึ้นอย่างนี้ไปทุกวันเราจะใช้เงินวันละเท่าไหร่ ฝากช่วยคิดด้วยแล้วกัน” นายกฯ ระบุ

ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดว่าจะสามารถตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ได้ที่ 30 บาทต่อลิตรได้หรือไม่ โดยในวันที่ 9 มี.ค. จะมีการหารือกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) แต่เบื้องต้นคิดว่าจะทำเท่าที่ทำได้ ทั้งนี้ นายกฯ ห่วงหลายเรื่อง สิ่งแรกต้องทำให้ประชาชนเข้าใจว่าสถานการณ์ตอนนี้ราคาน้ำมันผันผวนมาก ภายในสัปดาห์เดียวขึ้นมาถึง 50 เปอร์เซนต์ ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำคือรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดพลังงาน นายกรัฐมนตรีให้แนวทางและเป็นวาระของ ครม. ที่ทุกหน่วยงานจะต้องกลับไปหาแนวทางร่วมกันประหยัดพลังงาน และประชาชนก็ต้องช่วยเหลือตัวเองด้วย ส่วนมาตรการที่จะช่วยเหลือประชาชนทำอย่างไรไม่ให้กระทบอัตราเงินเฟ้อ จะต้องมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

ทั้งนี้ ยอมรับว่าการอุดหนุนกองทุนน้ำมันด้วยงบประมาณใช้ได้ไม่ยาว โดยเฉพาะราคาน้ำมันโลกที่สูงขนาดนี้ อาจจำเป็นต้องใช้วิธีพิจารณาว่าจะขยายวงเงินหรือพิจารณาใช้วิธีอื่น เช่น การขยายเพดานกู้ ซึ่ งอาจเป็นไปได้ อยู่ในขั้นตอนการขอรับเงินกู้อยู่แล้ว น่าจะกู้ได้ภายในเดือนเม.ย.นี้

เมื่อถามว่า ที่ประชุม กบน.ในวันที่ 9 มี.ค. จะมีมาตรการอะไรออกมาบ้าง นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้มาตรการส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความคล่องตัวในการใช้เชื้อเพลิงในประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อลดการนำเข้าเชื้อเพลิงราคาแพง พยายามใช้พลังงานในประเทศให้มากที่สุด โดยปัญหาหนักตอนนี้ คือปัญหาราคาน้ำมัน ปัจจัยสำคัญคือการประหยัด

"ขณะนี้เข้าสู่สถานการณ์วิกฤตพอสมควรแล้วจากวิกฤตยูเครนรัสเซีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานเป็นทอดๆ ทั้งในยุโรป จนถึงเอเชียและทั่วโลก อีกทั้งการผลิตของโอเปก การยืนยันที่จะผลิตเพียงแค่ 4 แสนบาร์เรล ทั้งนี้ต้องแจ้งกันตรงๆ ว่าเป็นหน้าที่ของเราทุกคน ถือว่าเป็นวาระที่ต้องเริ่มประหยัดพลังงาน หลังจากนี้กระทรวงพลังงานจะมีข้อมูลประหยัดพลังงาน โดยทำได้ไม่ยาก โดยเฉพาะ 60 เปอร์เซ็นต์หลักใช้ไฟฟ้าภายในบ้านทำได้ไม่ยาก พรุ่งนี้จะมีการแถลงชี้แจงที่เราจะเริ่มรณรงค์พลังงานหาร 2 ให้ประชาชนได้ทราบข้อมูลมากที่สุดเท่าที่จะมากได้" นายสุพัฒนพงษ์ระบุ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ช่วงต้นการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดถึงมาตรการลดค่าครองชีพประชาชนว่า ให้ดูแลค่าน้ำค่าไฟให้แก่คนยากจนและผู้มีรายได้น้อย โดยในวันที่ 9 มี.ค. หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน นายสุพัฒนพงษ์จะเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการที่ออกมา  

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.อนุมัติปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันเกินและไม่เกินร้อยละ 0.005 โดยน้ำหนัก หรือน้ำมันดีเซล บี 0 และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและขายไฟฟ้าทั้งหมดให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยกำหนดให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราศูนย์ มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 15 ก.ย.2565 เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. เป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะเป็นการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม การปรับลดภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีภาระค่าไฟฟ้าลดลงประมาณ 1-1.50 บาทต่อหน่วย อีกทั้งการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในภาคอุตสาหกรรมจะมีต้นทุนการผลิตที่ลดลงด้วย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การออกมาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้โรงไฟฟ้ามีการนำเข้าดีเซล (บี 0) 200 ล้านลิตรต่อเดือน และนำเข้าน้ำมันเตา 35 ล้านลิตรต่อเดือน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าทดแทนก๊าชธรรมชาติ โดยส่วนนี้จะส่งผลให้สูญรายได้ภาษีสรรพสามิต 7,000 ล้านบาท ทั้งนี้ คลังและสำนักงานเศรษฐกิจการคลังจะมีการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อประเมินผลกระทบจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่มีต่อเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าหากสถานการณ์ดังกล่าวจบเร็ว จะกระทบกับราคาพลังงานในช่วงสั้นเท่านั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟ้องต้นตอหมอคางดำ

สภาทนายความฯ เตรียมฟ้องแพ่งบิ๊กเอกชน-หน่วยงานรัฐ ต้นตอ "เอเลี่ยนสปีชีส์"

‘เนวิน’รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดมิวสิคัลเทิดพระเกียรติ

“เนวิน” รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา แสดง แสง สี เสียง มิวสิคัล “ลมหายใจของแผ่นดิน” โดยบุรีรัมย์ออร์เคสตรา แสดงความจงรักภักดี 28-30 ก.ค.2567 สนามช้างอารีนา บุรีรัมย์