สภาพอากาศประเทศไทยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ มาแปลกกว่าทุกปีจากปกติในช่วงนี้ของทุกปีจะย่างเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว แต่ปีนี้ตอนบนของประเทศ กลับมีฝนฟ้าคะนองและอากาศเย็น ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนัก ส่วนอีสานอากาศหนาวเย็นจนประชาชนต้องหยิบเสื้อกันหนาวมาสวมใส่ คนสูงอายุต้องนั่งผิงไฟคลายความหนาว เพราะอุณหภูมิลดลงฮวบฮาบ ทีเดียว 5-6 องศา ขณะที่กลางวันท้องฟ้าค่อนข้างใส และมีอากาศร้อน โดยกรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศคำเตือนมาเป็นระยะๆ ว่าเราจะต้องเฝ้าระวังสภาพอากาศที่แปรปรวน
ถึงแม้คนไทยจะชอบเย็น เพราะไม่ต้องเจออากาศร้อนเร็ว แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าเพราะเหตุใดสภาพอากาศจึงเป็นเช่นนี้ นายจรูญ เลาหเลิศชัย อดีตนักอุตุนิยมวิทยา ผู้กำลังทำงานวิจัยหัวข้อ” ผลกระทบของenso ต่อมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และการพยากรณ์กึ่งฤดูกาลถึงฤดูกาลของฝนในประเทศไทย เนื่องจาก ฝนในประเทศไทยจะแปรผันตามปรากฎการณ์ต่างๆ เช่น มรสุม ENSO IOD and MJO” สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะมีสภาพอากาศแปรปรวน เป็นผลจากปีนี้เป็นปีลานินญา อุณหภูมิน้ำทะเลแถบสหรัฐอเมริกา หรือแปซิฟิกตะวันออกจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ขณะที่ไทยได้รับอิทธิพลจากมหาสมุทรแปซิฟิกที่น้ำทะเลเย็น บ้านเราอุณหภูมิสูงกว่า อากาศจะลอยตัว กระทบกับความเย็นกลั่นตัวกลายเป็นฝน ทำให้ช่วงนี้ไทยจะเกิดฝน ซึ่งภาพรวมปีนี้ไทยจะมีฝนมาเร็วกว่าปกติ จะสังเกตุว่าต้นเดือนกุมภาพันธ์ฝนมาแล้ว ไทยจะมีฝนในฤดูแล้ง เป็นความผิดปกติของฤดูกาลปัจจัยจากลานินญ่า ฝนไม่หมดแค่เดือนก.พ. แต่จะตกในเดือน มี.ค. และเม.ย. ด้วย ฉะนั้น ฤดูร้อนปีนี้สภาพอากาศจะไม่ร้อนจัด และมีโอกาสเจออากาศเย็นในเดือนมี.ค.ด้วย
“ แต่ข้อดีของฝนที่มาเร็วปีนี้จะช่วยลดปัญหาหมอกควันภาคเหนือไม่ให้รุนแรงเหมือนทุกปี ช่วงนี้เข้าฤดูกาลหมอกควันไฟป่าแล้ว ฝนจะช่วยชะล้างฝุ่น PM2.5 ในอากาศ ทำให้ค่าฝุ่นจิ๋วลดต่ำลง รวมถึงพื้นที่กรุงเทพมหานครฝนที่ตกลงมา บรรเทาไม่ให้ฝุ่นปกคลุมเมือง คนกรุงเทพฯ ได้เจอวันที่อากาศดีเพิ่มขึ้น อากาศสะอาดขึ้น และสุขภาพดี “
นายจรูญบอกด้วยว่า ฝนที่ตกลงมาจะช่วยบรรเทาความแห้งแล้ง เพราะเกษตรกรเจอแล้งจัดมาหลายปีติดกัน ช่วง2-3เดือนนี้ จะเป็นโอกาสดีที่เกษตรกรจะเก็บกักน้ำและสำรองน้ำไว้ใช้ในการเกษตร ปรากฎการณ์ลานินญา จะหมดเดือนมิถุนายนนี้ หากลานินญาเบาลงปริมาณฝนจะลดลงไปด้วย คาดการณ์ว่า กลางเดือนมิ.ย. ถึงต้นเดือน ก.ค. ฝนจะทิ้งช่วง พืชผลทางการเกษตรจะเสียหาย หากไม่มีการวางแผนรับมือ เพราะอย่างที่รู้น้ำต้นทุนในเขื่อนใหญ่ ทั้งภูมิพลและสิริกิติ์มีปริมาณน้อย ประชาชนต้องช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัดให้มากที่สุด
สำหรับสภาพอากาศอีก 7 วันข้างหน้า นายจรูญบอกว่า ช่วงนี้อากาศหนาวเย็นลงจากความกดอากาศสูงจีนแผ่ลงมา ถ้าดูเป็นรายภาค ภาคเหนืออากาศเย็นถึงหนาว มีฝนเล็กน้อย อุณหภูมิลดลงถึง2-4 องาศา ต้องระวังโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ปีกให้ควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือน ภาคอีสานก็หนาวถึงหนาวจัด ภาคกลางอุณหภูมิก็จะลดลง เช้าอากาศเย็น และแดดจัดกลางวัน ภาคตะวันออกอุณหภูมิจะลดต่ำ ภาคใต้จะมีฝนฟ้าคะนอง 40-70% ของพื้นทื่ ฝนตกหนักบางแห่ง ต้องเตรียมรับมือและป้องกันอันตรายจากสภาวะฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ทะเลฝั่งอ่าวไทยจะคลื่นลมแรงสูงกว่า 3 เมตร
“ ตามค่าสถิติทางอุตุนิยมวิทยา กลางเดือนกุมภาพันธ์เข้าสู่ฤดูร้อน แต่ขณะนี้ปลายเดือนกุมภาพันธ์แล้ว กลับมีลมหนาวจากจีนพัดมา ถ้าภาคเหนือและอีสานอากาศหนาวจัดเมื่อไหร่ ภาคใต้จะมีฝนหนัก เตือนชาวใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนัก คลื่นลมแรง ประมงงดออกจากฝั่ง “
อดีตนักอุตุนิยมวิทยาเน้นย้ำความผิดปกติของสภาพอากาศมาจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือโลกร้อน รายงานภูมิอากาศโดยไอพีซีซีปี 2564 ระบุอุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้น และระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังพบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วง 20 ปีข้างหน้า อาจจะเพิ่มขึ้น 1.5 หรือสูงกว่านี้ ยกเว้นจะมีการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทุกภูมิภาคเจอการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มากขึ้น
” หนึ่งในความพยายามรับมือกับภาวะโลกร้อน ประเทศไทยกำลังผลักดันรูปแบบการพยากรณ์อากาศกึ่งฤดูกาลถึงฤดูกาลให้เป็นรูปธรรมเร็วที่สุด ซึ่งในต่างประเทศนิยมใช้แนวทางดังกล่าว ในบ้านเราปกติเป็นการพยากรณ์รายวัน(1-15 วัน) กับพยากรณ์ฤดูกาล (3เดือน) หากลดช่องว่างนี้สามารถพยากรณ์ 2 สัปดาห์ถึง2 เดือนได้สำเร็จ จะเกิดประโยชน์กับประชาชนในการเตือนภัยธรรมชาติ ฝนตก น้ำท่วม ภัยแล้ง”อดีตนักอุตุฯกล่าว
การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากกิจกรรมมนุษย์มีส่วนต่อการบรรเทาวิกฤตโลกร้อน ในประเด็นนี้ รศ.ดร.อำนาจ ชิดไธสง รองผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะป้องกันและแก้ไขได้ จะต้องใช้เวลาและต้องมีความพยายามลดก๊าซเรือนกระจก ตราบใดที่ทุกประเทศไม่จริงจัง สภาพอากาศที่แปรปรวนจะอยู่กับเราตลอดไป ถึงแม้วันนี้ร่วมมือร่วมใจกันไม่ปล่อยก๊าซเลย ผลกระทบภาวะโลกร้อนก็ยังไม่หยุด เรายังต้องเผชิญกับน้ำท่วม ภัยแล้ง ภายในเวลาร้อยปีถึงหลายร้อยปี ผลจากการกระทำของมนุษย์ที่ทำให้โลกร้อนขึ้น
สัญญาณอันตรายมาจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากมาย นักวิชาการ มจธ. ระบุว่า เราเจอสภาพอากาศที่แปรปรวนเพิ่มขึ้นทุกปี แนวโน้มฝนนอกฤดูกาลมากขึ้น เจอความแห้งแล้งถี่ขึ้น น้ำท่วมรุนแรงในหลายพื้นที่ สำหรับเมืองจะเจอน้ำท่วมจากฝนที่ตกหนัก อย่างไรก็ตาม เกษตรกรรับรู้ได้ถึงฤดูกาลที่ผิดเพี้ยน แต่จะใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมอย่างเดียวในการทำเกษตรไม่ได้แล้ว ต้องใช้ความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการภาคเกษตร วิกฤตนี้ทำให้ภาครัฐผลักดันสมาร์ทฟาร์มมิ่ง มีการนำข้อมูลความชื้น อุณหภูมิ อัตราการระเหย มาคำนวนช่วยบรรเทาผลกระทบได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่า การแปลงข้อมูลวิชาการให้ใกล้ตัวชาวบ้าน เรายังอ่อนแอมาก
รศ.ดร.อำนาจ กล่าวอีกว่า แนวทางแก้ไขมีความชัดเจน ทุกประเทศทั้งประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา เข้าร่วมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ มีทิศทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบสนองต่อวิกฤตนี้ การประชุม COP26 ด้านสภาพภูมิอากาศที่กลาสโกว์ก็มีพัฒนาการใหม่ ตอกย้ำคำมั่นที่จะลดภาวะโลกร้อนตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ
“ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ผลวิจัย รายงานต่างๆ สะท้อนความจริง เรามีภาพชัดเกี่ยวกับสภาพอากาศที่แปรปรวน ซึ่งจำเป็นสำหรับการทำความเข้าใจ ประเทศไทยจะเดินไปทิศทางไหน จะทำอะไรได้บ้างและเราจะเตรียมตัวอย่างไร ปีนี้ไม่เกิดภัยพิบัติ ปีหน้าก็อาจจะเกิดขึ้น มันเกิดแน่นอน ความยากอยู่ที่ภาคนโยบายต้องการความชัดเจน ต้องเป็นรูปธรรมเท่านั้น และไม่สามารถดำเนินการหรือมีนโยบายให้ครอบคลุม ทำให้มีแนวโน้มเสียหายรุนแรง และเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิต รวมถึงภาคเกษตรกรรมไทยจะได้รับผลกระทบรุนแรง เสียเปรียบในการแข่งขัน และอาจโดนกีดกันทางการค้า หากยังไม่มีกรอบใหม่ๆที่ชัดเจนในการจัดการการลดก๊าซเรือนกระจก แต่ถ้าเราทำได้ ก็WIN WIN เกษตรกรไทยได้ประโยชน์ โลกก็ได้ประโยชน์จากการลดก๊าซ “ รศ.ดร.อำนาจ แสดงความกังวลตบท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ปชน.' ชงข้อเสนอรัฐบาล ประชุมโลกร้อน 'COP29' เร่งปรับมาตรการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero
'ปชน.' ชงข้อเสนอ รัฐบาล ในการประชุมโลกร้อน 'COP29' แนะเร่งปรับมาตรการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ให้เป็นรูปธรรม-ดันร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เกิดขึ้นภายในครึ่งปีหน้า
นักวิชาการ ตั้งข้อสังเกต 4 ข้อ สาเหตุน้ำท่วมหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา
ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โพสต์เฟซบุ๊กว่า