'ดร.เอ้' ชง 3 มาตรการแก้ปัญหาโรงงานระเบิด เตือนภัยใกล้ตัว ไม่ทำอะไร ก็สูญเสีย ไม่มีจบสิ้น

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

'พี่เอ้-ศ.ดร.สุชัชวีร์'เตือนโรงงานไฟไหม้ระเบิดภัยใกล้ตัวทุกคน ไม่ทำอะไร ก็สูญเสียต่อไป ไม่มีจบสิ้น เสนอ 3 มาตรการแก้ปัญหาทั้งก่อนเกิด ขณะเกิด และหลังเกิดเหตุ มั่นใจต้องทำได้

20 ต.ค. 2564 - ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (เอ้) อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง โรงงานไฟไหม้ระเบิด ภัยใกล้ตัว (ทุกคน) ไม่ทำอะไร ก็สูญเสียต่อไป ไม่มีจบสิ้น? มีเนื้อหาดังนี้

ผมขอเสนออีกครั้ง ชัดๆครับ

อีกแล้ว อีกแล้ว!! เมื่อคืน โรงงานรองเท้าไฟไหม้วอดวายแถวกิ่งแก้ว ใกล้สุวรรณภูมิ เดือนก่อนก็โรงงานระเบิด เดือนโน้นก็ท่อแก๊สระเบิด มีผู้เสียชีวิต นี่มันอะไรกัน? ในเมืองแท้ๆ

ไฟดับแล้ว แต่ความสูญเสียรุนแรง ทั้งทรัพย์สิน ทั้งทรัพยากรที่ต้องทุ่มลงไปดับไฟ ทั้งความตระหนกของชาวเมือง และทั้งปัญหาแก๊สพิษตกค้างในอากาศ ที่เกิดจากการเผาไหม้สารเคมี

ผมในฐานะนายกสภาวิศวกร และพลเมืองคนหนึ่งที่มีบ้านและครอบครัวในกรุงเทพ ขอเสนอ (อีกครั้ง!) มาตรการแก้ปัญหาสามารถแบ่ง 3 ระยะ ก่อนเกิด ขณะเกิด และหลังเกิดเหตุ ต้องทำ!

1. มาตรการป้องกันก่อนเกิดเหตุ (ซ้ำซาก)

1.1 เร่งทำระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานที่มีตำแหน่งตั้งอยู่ในเขตกทม.และปริมณฑล ใกล้ชุมชน เพราะมีผลกระทบรุนแรงกว้างขวาง ระบบนี้ต้องแจ้งผลแบบทันที ให้กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นผู้รับผิดชอบ ได้มีข้อมูลครบ ทั้งวัตถุดิบในการผลิต สารเคมีอันตราย ขนาดความจุ สถานที่เก็บ และสถานะของเครื่องจักรที่ได้รับการตรวจสอบ ล่าสุดเมื่อใด

1.2 ใช้มาตรการด้านผังเมืองท้องถิ่น ในการกำกับ หรือ จำกัดกำลังการผลิต หรือแรงม้าเครื่องจักร ทำให้โรงงานไม่สามารถ (แอบ) ขยายกำลังการผลิต ที่มีความเสี่ยงต่อชุมชนได้

1.3 ติดตาม ตรวจสอบโรงงานอยู่สม่ำเสมอ โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนที่อยู่รอบในรัศมี เข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบ เป็นหูเป็นตาให้รัฐ และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

1.4 เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ และอุปกรณ์กู้ภัย โดยฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ดับเพลิง สารเคมีที่ใช้ดับเพลิง การตรวจสอบซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องมือที่ชำรุดการไม่ได้ การติดต่อสื่อสารที่ทันสมัย รวมทั้งการปรับปรุงสถานีดับเพลิงให้ได้มาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันไม่อยากย้ำว่า ยังล้าหลัง น่าเห็นใจเจ้าหน้าที่

2. มาตรการขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้ (ที่ผิดพลาดประจำ)

2.1 ปรับปรุงแผนปฏิบัติการตามมาตรฐานสากล (ที่เมืองพัฒนาแล้วปฏิบัติ) และทันสมัย ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ทั้งการสื่อสาร การควบคุม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าระงับเหตุ เพื่อเกิดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินน้อยที่สุด!!! ต่างประเทศทำมานาน ไปเอามาดูได้เลยครับ

2.2 มีระบบบัญชาการพื้นที่อย่างชัดเจน ไม่ลักลั่น (อย่างที่เห็น) ต้องมีผู้บัญชาการเหตุการณ์ ที่ต้องมีความรู้แน่นๆ และสามารถรวบรวมผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง จากทุกหน่วย เข้าระงับเหตุอย่างทันท่วงที และแม่นยำ

2.3 มีมาตรการการอพยพคน การเคลื่อนย้ายของ อย่างรวดเร็วแบบญี่ปุ่น และกำหนดจุดนัดพบ จุดรับการอพยพ ซึ่งกทม. ยังไม่มี? ไม่มีใครรู้เลยว่า เมื่อเกิดเหตุ เราจะพาครอบครัว ไปไหนกัน จริงไหมครับ?

3. มาตรการหลังเกิดเหตุ (จำเป็นมาก)

3.1 ตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต่อเนื่อง ไม่ใช่ไฟมอด แล้วขนของกลับ? ต้องวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อสังคม ต่อเศรษฐกิจ และต่อสุขภาพประชาชน เพื่อกำหนดมาตรการต่างๆ ในการเยียวยาพื้นที่ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุ อย่างเป็นธรรม ที่ผ่านมา ข่าวเงียบ ก็ไม่ติดตาม ไม่ได้ช่วยต่อเนื่อง

3.2 ต้องสอบสวนเหตุการณ์เชิงลึก หาสาเหตุของการเกิดเหตุ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อถอดบทเรียนจริงจัง พัฒนาองค์ความรู้ เพื่อป้องกันเหตุซ้ำซาก ในต่างประเทศ เขาทำออกมาเป็นตำรา ให้เราได้เรียนรู้อย่างละเอียดเลยครับ ที่นี่ยังไม่มี

3.3 พัฒนาองค์ความรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผ่านการร่วมประชุมทุกฝ่าย ระหว่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรม กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนนักวิชาการ เพื่อให้เห็นความจริงจัง และจริงใจ ของทุกฝ่ายจริงๆ ต้องไม่ปากว่า ตาขยิบ...

ผมเสียใจมาก และคงไม่ต่างจากท่าน ที่เห็นเหตุภัยพิบัติจากความประมาทของคน เกิดขึ้นในกทม. ปริมณฑล และในประเทศ ไม่รู้จบ ทั้งๆที่ #จะทำก็ทำได้ ขอบอกอีกครั้ง!!!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มท.1 สั่งผู้ว่าฯ กำชับแผนป้องกันอัคคีภัย หลังพบ รง.ใช้สารเคมีอันตรายเกิดเหตุถี่

‘อนุทิน’ มอบผู้ว่าทุกจังหวัดกำชับผู้อำนวยการสาธารณภัยทุกระดับ จัดแผนป้องกัน แนวทางเข้าระงับอัคคีภัยที่มีประสิทธิภาพ  หลัง บกปภ.ช. พบสถิติเกิดเพลิงไหม้พุ่ง โรงงานใช้สารเคมีอันตรายประสบเหตุมากขึ้น

กมธ.อุตฯ เตรียมซักความคืบหน้า 'กากแคดเมียม-ไฟไหม้โรงงานสารเคมี'

ประธานกมธ.อุตฯ เผยเชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องแจง คืบหน้าขนย้ายกากแคดเมียม-ไฟไหม้โรงงานมาบตาพุด-อยุธยา พร้อมหนุนรัฐเร่งออกใบรง.4 ชี้หากช้าส่งผลต่อเศรษฐกิจ

คุมเพลิงได้ในวงจำกัด ไฟไหม้โรงงานกระดาษอัดก้อน จ.สมุทรสาคร คาด 1-2 วันดับสนิท

นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าเหตุเพลิงไหม้กองกระดาษรีไซเคิลอัดก้อนที่เก็บกองอยู่กลางแจ้ง ของบริษัท คอวิน อินดัสทรี่ จำกัด ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลนาโคก อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นโรงงานผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษ