วิกฤตและโอกาสไทย จากแรงกดดัน'Trump 2.0'  

การกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของ โดนัลด์ ทรัมป์ อีกครั้ง เรียกได้ว่าเขย่าโลกกันเลยดีเดียว เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าเขาจะยึดผลประโยชน์ของอเมริกามาเป็นอันดับแรก จึงมีคำเรียกขานว่า “Trump 2.0” ซึ่งหมายถึงยุคใหม่ของทรัมป์ที่มาพร้อมกับนโยบายที่ชัดเจนและการบริหารเข้มข้นยิ่งขึ้นจากการดำรงตำแหน่งในสมัยแรก  โดยหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ทั่วโลกจับตามองคือ “อเมริกาเฟิร์ส” (America First) ที่เน้นให้ ผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา ผ่านการ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และ ทบทวนข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมและเสริมสร้างเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

แม้นโยบายเหล่านี้จะมุ่งเน้นไปที่การเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับ ส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่ไม่เพียงแค่เศรษฐกิจ การส่งออกสินค้า แต่ยังรวมถึงระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมที่ต้องเตรียมรับมือกับความท้าทายครั้งใหญ่นี้ นโยบายTrump 2.0 จะเป็นเพียงวิกฤตที่ฉุดรั้งวงการวิจัยไทย หรือจะเป็นโอกาสในการพลิกวิกฤตให้เป็นความก้าวหน้า

 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ระดมผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและเปิดแนวทางการรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ผ่านเวทีเสวนา “Trump 2.0 วิกฤตหรือโอกาสของระบบ ววน. ไทย” เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายสหรัฐฯ ต่อระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของไทยทั้งโอกาส ความท้าทาย และความจำเป็นในการปรับตัวเพื่อรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ผศ.ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร กรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.) เผยว่า สหรัฐฯ ในปัจจุบันมีความเห็นร่วมกันที่เรียกว่า “New Consensus” ซึ่งให้ความสำคัญกับการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเศรษฐกิจกับจีน รัฐบาลสหรัฐฯ จึงต้องลดค่าใช้จ่ายบางส่วนเพื่อจัดสรรงบประมาณสำหรับการลงทุนในด้านการทหารและเทคโนโลยี สกอตต์ เบสเซน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ระบุชัดเจนว่านี่คือกลยุทธ์หลักที่จะทำให้สหรัฐฯ มีศักยภาพเพียงพอในการแข่งขันกับจีน พร้อมทั้งต้องการฟื้นฟูฐานอุตสาหกรรมในประเทศและยุติสงครามในยูเครนและตะวันออกกลางโดยเร็ว ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงแนวคิดแบบปฏิบัตินิยมและการเจรจาเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ตามแบบฉบับของทรัมป์ มากกว่าการดำเนินนโยบายตามอุดมการณ์เหมือนในอดีต

ผศ.ดร.อาร์ม กล่าวต่อว่า เป้าหมายสำคัญของนโยบาย Trump 2.0 คือ สหรัฐฯ จะไม่ยอมให้ขั้วอำนาจอื่นมาท้าทายผลประโยชน์หลักของตน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง “America First Foreign Policy” ที่เน้นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นหลัก ตัวอย่างชัดเจนคือการที่ทรัมป์หยุดการสนับสนุนองค์กร USAID ถอนตัวจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และไม่เข้าร่วมข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Climate Agreement) ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น Trump 2.0 ทรัมป์ได้แสดงความเชื่อว่าทุกประเทศต่างเอาเปรียบสหรัฐฯ ไม่ใช่เพียงแค่จีนเท่านั้น ดังนั้นสงครามการค้าและมาตรการขึ้นกำแพงภาษีในรอบนี้อาจจะจึงขยายขอบเขตไปยังประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบไปด้วยไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทย

“โดย Trump 2.0  อาจนำไปสู่การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน สถานการณ์นี้จะส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานโลก ปรับตัวครั้งใหญ่ โดยมีการย้ายฐานการผลิตหรือจัดตั้งฐานการผลิตใหม่ในภูมิภาคต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของทั้งสองขั้วมหาอำนาจ ประเทศไทยซึ่งมีจุดแข็งด้านความสัมพันธ์อันดีกับทั้งสองขั้ว จึงมีโอกาสที่จะเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า ดังนั้นการเตรียมความพร้อมของไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนจากการตั้งรับเป็นเชิงรุก โดยการปรับปรุงนโยบาย สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างตลาดใหม่ การเข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือใหม่ ๆ จะเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” ผศ.ดร.อาร์ม กล่าว

ไทยต้องปรับตัวจากวิกฤติให้เป็นโอกาส ผศ.ดร.อาร์ม มีมุมมองว่า การดำเนินงานเชิงรุกในการพัฒนาตลาดและเทคโนโลยี โดยเร่งเสริมความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและอุตสาหกรรมเทคโนโลยี กสว. ได้ปรับแนวทางการให้ทุนเป็นแบบมุ่งเป้า (Target Base) ภายใต้นโยบาย “Thailand First Development Agenda” เพื่อผลักดันการพัฒนาตลาดด้วยเทคโนโลยีใหม่ เสริมสร้างภาคอุตสาหกรรม และใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Tech & Growth Engine) พร้อมยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับคู่แข่งสำคัญอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย นอกจากนี้ สกสว. ยังให้ความสำคัญกับการใช้ “Science Diplomacy” หรือการทูตทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือเชื่อมความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือกับนานาประเทศ

“แม้นโยบาย Trump 2.0 ที่มุ่งลดการลงทุนและการช่วยเหลือประเทศอื่นอาจส่งผลกระทบต่อความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศ แต่ สกสว. มองว่านี่คือโอกาสสำคัญที่ไทยจะหันมาพึ่งพาตนเองและเสริมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ทั่วโลก อีกทั้งการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานโลกถือเป็นโอกาสทองในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรม เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันและเข้าร่วมในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมหลักของโลก”

ผศ.ดร.อาร์ม กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกจะนำไปสู่การเคลื่อนย้ายการลงทุนครั้งใหญ่ บริษัทต่างๆ จะมองหาแหล่งลงทุนใหม่ที่มีเสถียรภาพและศักยภาพในการเติบโต ซึ่งไทยสามารถใช้จุดแข็งด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน และแรงงานที่มีทักษะในการดึงดูดการลงทุนด้านวิจัยและนวัตกรรมจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ไทยยังมีศักยภาพในการเป็น “สวิตเซอร์แลนด์แห่งอาเซียน” โดยใช้นโยบายที่เป็นกลางและสร้างความสัมพันธ์อันดีกับทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม ไทยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ทวีความเข้มข้นจากมาเลเซียและอินโดนีเซียในด้านเทคโนโลยีและการค้าระหว่างประเทศ

ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า ความสำคัญ เพื่อทางรอดของระบบ ววน. ไทย มี 4 แนวทางสำคัญ ได้แก่ การลงทุนในเทคโนโลยีแห่งอนาคต มุ่งเน้นการลงทุนใน R&D และเทคโนโลยี Deep Tech เช่น AI, Quantum Computing, Biotech, และพลังงานสะอาด เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ, การพัฒนาบุคลากรทักษะสูง สร้างและพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง, การสร้างระบบนิเวศ ววน. ที่แข็งแกร่ง สนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยี, การเชื่อมโยงกับโลก สร้างความร่วมมือกับต่างประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป จีนและประเทศในอาเซียน ในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ และเข้าถึงแหล่งทุนและเทคโนโลยีใหม่ๆที่แข่งขันได้ในระดับสากล

ดร.แบ๊งค์ งามอรุณโชค ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยและนวัตกรรม ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)กล่าวว่า มาตรการตอบโต้ของสหรัฐต่อจีน ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ยุคไบเดนจนถึงทรัมป์ 2.0 กำลังบีบให้ไทยต้องนำเข้าสินค้าราคาแพงและเทคโนโลยีขั้นสูงจากอเมริกา ขณะเดียวกัน จีนก็ผลักดันสินค้าราคาถูกที่ล้นตลาดภายในประเทศเข้ามาในไทยมากขึ้น ส่งผลให้ไทยต้องเผชิญแรงกดดันจากทั้งสองทิศทาง ทั้งสินค้าราคาแพงและไฮเทคจากสหรัฐ และสินค้าราคาถูกที่ใช้ในชีวิตประจำวันจากจีน

ในสถานการณ์ที่ถูกบีบจากทั้งสองขั้ว ดร.แบ๊งค์  กล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยจะสามารถอยู่รอดได้จะต้องมีแนวทางในการรับมือ  โดยการตั้งรับในสินค้าเฉพาะ ไม่จำเป็นต้องขึ้นภาษีแบบสหรัฐ แต่รัฐบาลสามารถปกป้องบางอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกที่ทะลักเข้ามา โดยเฉพาะสินค้าที่มีราคาขายปลีกต่ำกว่าต้นทุนการผลิตในไทย การดูดซับและแปลงเทรดเป็นทุนเป็นอีกแนวทางที่ไทยเคยใช้สำเร็จ เช่น กรณีการนำเข้ารถยนต์ EV แลกกับข้อกำหนดให้ต้องผลิตภายในประเทศในเวลาที่เหมาะสม แนวทางนี้ช่วยให้ไทยสามารถใช้การค้าระหว่างประเทศเป็นตัวเชื่อมเพื่อดึงดูดการลงทุนในสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง

ขณะเดียวกัน ไทยต้องเร่งสร้างขีดความสามารถทางการผลิตและนวัตกรรม เพราะกำแพงภาษีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแข่งขัน ไทยต้องสามารถดูดซับและพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองผ่านนโยบายส่งเสริมนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า โดยอาศัยหลัก 3S คือ Scope หรือการโฟกัสอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเพื่อใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ Speed หรือการพัฒนาให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และ Scale หรือการขยายขนาดให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพื่อให้ไทยสามารถแข่งขันได้

ดร.แบ๊งค์  กล่าวต่อว่า การหาตลาดใหม่เป็นอีกปัจจัยสำคัญ เพราะหากผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตสินค้าได้เยอะ แต่ไม่สามารถขยายตลาดได้ก็ไร้ประโยชน์ ไทยต้องมองหาตลาดใหม่ที่อยู่นอกเหนือความขัดแย้งของสหรัฐและจีน ไม่ใช่เพียงแค่การทำข้อตกลงการค้าเสรี แต่ต้องสร้างความร่วมมือเชิงลึกระหว่างประเทศผ่านการตกลงในด้านความเชี่ยวชาญเฉพาะ รัฐบาลต้องมีบทบาทในการสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้าถึงตลาดที่เหมาะสม และไทยต้องรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันไทยพึ่งพาการส่งออกถึง 65% ของ GDP ขณะที่ทั้งสหรัฐและจีนต่างมุ่งเน้นการเสริมสร้างตลาดภายใน ไทยเองต้องเดินไปในทิศทางเดียวกันผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคให้แข็งแกร่ง โดยสร้างกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศเพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ลดความเสี่ยงจากแรงกดดันภายนอก และเพิ่มความมั่นคงให้เศรษฐกิจไทยในระยะยาว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'จิรายุ' เย้ยฝ่ายค้านคิดช้า ตามไม่ทันรัฐบาล ตั้งคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐเมื่อ 3 เดือนก่อนแล้ว

โฆษกรัฐบาล เย้ยฝ่ายค้านไม่ได้ติดตามข่าว ถึงไม่รู้นายกฯเร่งแก้ปัญหาภาษีสหรัฐฯแล้ว โดยตั้งคณะกรรมการเตรียมรับมือล่วงหน้าก่อน “ทรัมป์” รับตำแหน่งด้วยซ้ำ เผย 8 เม.ย.นี้ “นายกฯอิ๊งค์” เรียกถก คกก.

นี่คือสถานการณ์ฉุกเฉินทางเศรษฐกิจ รบ.ต้องยกหูเจรจา 'ทรัมป์' ภายในคืนนี้! นักวิชาการ มธ. ระบุ 'ยิ่งช้ายิ่งเจ็บ'

นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชี้การตั้งกำแพงภาษีของทรัมป์ คือสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องเร่งเจรจาอย่างช้าที่สุดภายในคืนนี้

อวสาน 'ประธานาธิบดีเงา' - อีลอน มัสก์วางแผนจะถอนตัวจากตำแหน่งที่ปรึกษาแล้ว

มหาเศรษฐีด้านเทคโนโลยีผู้เป็นที่ถกเถียงอย่าง อีลอน มัสก์ จะลาออกจากงานรัฐบาลในฐานะที่ปรึกษาประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในเร็

ปชน. จี้รัฐบาลยื่นญัตติด่วน รับมือสหรัฐรีดภาษี 36% ชี้ผลกระทบรุนแรง

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคประชาชน พร้อมด้วย นายวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รองหัวหน้าพรรคประชาชน และนายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน

นายกฯ ออกแถลงการณ์ ขอสหรัฐปรับดุลการค้าให้เป็นธรรม หลังทรัมป์ประกาศรีดภาษีไทย 36%

“แพทองธาร” ออกแถลงการณ์ หลัง “ทรัมป์” รีดภาษีไทย 36% แนะ ผู้ประกอบการ ลดความเสี่ยงมองหาตลาดใหม่ ระบุ ส่งสัญญาณถึงสหรัฐฯปรับดุลการค้าให้เป็นธรรม