เด็กกลุ่มเปราะบาง 7-12 ปี ในไทยยากไร้ที่สุดถึง 51%

ผู้ปกครองในชุมชนเข้ารับการอบรมในการเป็นรากฐานเลี้ยงดูเด็กและเยาวชน

ปัญหาเด็กกลุ่มเปราะบางในไทย มีความซับซ้อนและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยหลักๆ เด็กกลุ่มนี้อยู่ในสภาวะที่ขาดโอกาสทางการศึกษา สุขภาพ และความมั่นคงในชีวิต ทั้งยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากความยากจน ความรุนแรงในครอบครัว การเลือกปฏิบัติ และผลกระทบจากภัยพิบัติหรือวิกฤตต่าง ๆ ฉุดรั้งการพัฒนาและสร้างวงจรความเหลื่อมล้ำในสังคม ปัญหาเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อชีวิตของเด็กโดยตรง แต่ยังสะท้อนถึงความเปราะบางของระบบสวัสดิการและการคุ้มครองเด็กในประเทศ ที่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงและแก้ไขอย่างเร่งด่วน

มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย (World Vision Foundation of Thailand) องค์กรพัฒนาเอกชน ที่เป็นส่วนหนึ่งของศุภนิมิตสากล หรือ World Vision International ซึ่งมีพันธกิจในการช่วยเหลือเด็กมาแล้วกว่า 70 ปี และมีเครือข่ายดำเนินงานในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางมาแล้วกว่า 50 ปี โดยร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นและชุมชนในพื้นที่กว่า 36 จังหวัดของประเทศ  เพื่อกระชับช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคม พัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก ครอบครัวและชุมชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ล่าสุดมูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้เผยผลการวิจัยกลุ่มเด็กกว่า 83,000 คนทั่วประเทศ ครอบคลุมทั้งพื้นที่ชนบทและชุมชนเมือง โดยมีทั้งเด็กในความอุปการะของมูลนิธิฯ และเด็กที่ไม่ได้อยู่ในความอุปการะ ผลการวิจัยครั้งนี้เผยให้เห็นถึงสถานการณ์ที่สะท้อนรูปแบบและลักษณะของความเปราะบางยากไร้ในเด็กและเยาวชน รวมถึงรากฐานของปัญหาที่นำไปสู่สภาพความเปราะบางเหล่านี้ ภายใต้นิยามของความเปราะบางยากไร้ตามแนวคิดของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ประกอบด้วย 4 มิติสำคัญ ได้แก่ ความสัมพันธ์ที่ใช้ความรุนแรงหรือการแสวงหาประโยชน์, ความขาดแคลนอย่างรุนแรง, ความเปราะบางเนื่องจากหายนะหรือภัยพิบัติ, และการเลือกปฏิบัติอย่างร้ายแรง ซึ่งแต่ละมิติสะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนและความท้าทายของปัญหาที่เด็กและเยาวชนเหล่านี้ต้องเผชิญ

 รสลิน โกแวร์

รสลิน โกแวร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการทำงานของมูลนิธิฯ ในปี  2024 ที่ผ่านมา สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้เปราะบางได้กว่า 2.3 ล้านคน ในจำนวนแบ่งเป็นกลุ่มที่เข้าถึงผ่านกิจกรรมของโครงการของมูลนิธิฯ 300,000 คน และกลุ่มที่เข้าถึงในนโยบายที่เกี่ยวข้องกระทบกับเด็กได้ 2 ล้านคน จึงได้มีการเสริมการเข้าถึงด้วยการมุ่งเน้นเข้าไปพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นฐานรากที่สำคัญให้แก่เด็กและเยาวชนทั้ง 36 แห่งในประเทศให้เข้มแข็ง พบว่าประเด็นของเด็กที่มีการเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงระยะเวลา เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเด็กที่แตกต่างกันทำให้เติบโตขึ้นในรูปแบบที่แตกต่างกัน และสังคมที่เด็กเกิดน้อยลง จำเป็นต้องส่งเสริมให้เด็กเติบโตเป็นประชากรที่มีประสิทธิภาพ จึงได้เน้นประเด็นปัญหาของเด็ก

มูลนิธิฯ ได้ทำงานวิจัยกลุ่มเด็กกว่า 83,000 คน ในเรื่องความเปราะบางของทั้ง 4 มิติ ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า กว่า 51% ของเด็กที่เข้าร่วมการวิจัยอยู่ในสถานะที่เปราะบางยากไร้ที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มเด็กในช่วงอายุ 7-12 ปี ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในกลุ่มเด็กที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเด็กเปราะบางยากไร้ที่สุด (Most Vulnerable Children – MVC) และเด็กเปราะบางยากไร้ (Vulnerable Children – VC)

ส่งเสริมกิจกรรมสำหรับเยาวชน

จากผลการสำรวจทั้ง 4 มิติ พบว่า ความเปราะบางสูงสุดคือ ความขาดแคลนอย่างรุนแรงมากถึง 63% โดยครอบครัวมีรายได้น้อยหรือยากจนมาก เด็กขาดสารอาหารหรือครอบครัวเด็กประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร  และเด็กที่อาศัยอยู่กับผู้ปกครองที่ป่วยเรื้อรัง สภาพบ้านที่ไม่สมบูรณ์ เป็นต้น  รองลงมาคือ การถูกกีดกันอย่างร้ายแรง 28% เช่น เด็กชายขอบ ชาวเขา ในพื้นที่ห่างไกล หรือเด็กที่ติดเชื้อ HIV หรือเด็กที่มีพ่อแม่ติดเชื้อ HIV รวมถึงเด็กพิการ มีความบกพร่องทางร่างกายหรือการเรียนรู้ และเด็กที่ผู้ปกครองเป็นผู้ลี้ภัย/แรงงานข้ามชาติ, ภัยพิบัติหรือเหตุการณ์วิกฤต 25% เป็นพื้นที่ที่ครอบครัวเด็กอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ดินถล่ม หรือในพื้นที่ที่มีความแย้ง เช่น ยะลา นราธิวาส ปัตตานี  , และการถูกละเมิด 18% คือการแสวงหาประโยชน์หรือล่วงละเมิดทางออนไลน์และล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น

รากของปัญหาในกลุ่มเด็กเปราะบาง ผอ.มูลนิธิศุภนิมิตฯ กล่าวว่า จากการวิจัยพบปัญหาเหล่านี้มักเกิดจากสาเหตุสำคัญ เช่น การที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงานและไม่สามารถดูแลบุตรได้อย่างใกล้ชิด, การหย่าร้างหรือแยกทางของพ่อแม่, รวมถึงการที่เด็กต้องอาศัยอยู่กับตายายหรือผู้ปกครองที่มีช่องว่างระหว่างวัย ทำให้เกิดความไม่เข้าใจในความต้องการของเด็กในช่วงวัยต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการใช้สารเสพติด เช่น กระท่อมและยาบ้า ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการละเลยของผู้ใหญ่ในชุมชน การล่อลวงไปเป็นสแกมเมอร์ในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ต่อมาเริ่มเกิดเป็นความสมัครใจของเด็กและเยาวชน เพราะรู้สึกว่าได้เงินเยอะและเจ๋ง รวมถึงการใช้ความรุนแรง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน พร้อมทั้งการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม เพื่อปูรากฐานให้เด็กเข้มแข็งและเติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมาก

เด็กควรได้รับโภชนาการที่ครบถ้วน 

“ดังนั้นแนวทางการทำงานของมูลนิธิศุภนิมิตฯ จึงเน้นไปที่การพัฒนาชุมชนโดยมีอาสาสมัครทำงานร่วมกับชุมชนอย่างใกล้ชิด เป้าหมายสำคัญคือการสร้างความรู้สึกความเป็นเจ้าของ ให้กับชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีบทบาทในการดูแลเด็กและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ โดยเด็ก 0-12 ปี จะมีการเข้าไปทานร่วมกับผู้ปกครอง เพื่อสร้างแนวทางต่อการเติบโตของเด็ก การอ่านออกเขียนได้ที่ทำงานร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือการส่งเสริมด้านโถชนาการ  เมื่อเติบโตขึ้นรู้จักปกป้องและสิทธิที่ควรจะได้รับของตนเอง รวมถึงการอบรมเยาวชนที่โตแล้ว ในการก่อตั้งเป็นชมรม หรือกลุ่ม ส่งเสริมทักษะที่ถนัดของเยาวชน เพื่อเป็นตัวอย่างในการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กและเยาวชนอื่นๆ ในชุมชน รวมถึงการทำงานร่วมกับประชากรข้ามชาติที่เข้ามาเป็นแรงงานในไทย อย่าง พม่าและลาว ในการให้รับรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน เพื่อได้รับสวัสดีการที่เหมาะสม” ผอ.มูลนิธิศุภนิมิตฯ กล่าว

ผอ.มูลนิธิศุภนิมิตฯ กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้แม้ว่าเงินบริจาคที่ได้รับจากต่างประเทศลดลง โดย 4 ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นเงินบริจาคภายในประเทศ อย่างโครงการอุปการะเด็กที่มีเด็กอยู่ประมาณ 38,000 คน ซึ่งมีผู้ที่ยกเลิกการบริจาค 3,000-4,000 คน เท่ากับเด็กจำนวนนี้ต้องออกจากโครงการอุปถัมภ์  ดังนั้นในปีนี้ มูลนิธิศุภนิมิตฯ ตั้งเป้าที่จะได้รับเงินบริจาคอยู่ที่ 500 ล้านบาท เพื่อเดินหน้าสานต่อพันธกิจในงานการพัฒนาต่อยอดและปรับปรุงแนวทางในการดำเนินงาน และติดตาม เพื่อให้สามารถเข้าถึงและช่วยเหลือเด็กเปราะบางยากไร้ที่สุด ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  

“ทั้งนี้ เราจำเป็นต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับชุมชน เพื่อสามารถทราบได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ว่าเด็กกลุ่มใดคือเด็กที่เปราะบางยากไร้ที่สุด และ เพื่อช่วยเหลือและมอบการสนับสนุนได้อย่างตรงเป้าหมายตามความต้องการที่จำเป็น  เพื่อแก้ปัญหาความยากไร้ที่มีความซับซ้อน ตลอดจนช่วยเสริมสร้างการทำงานของเครือข่ายให้เข้มแข็ง และเป็นกำลังในการหนุนเสริมหน่วยงานภาครัฐให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน “ผอ.มูลนิธิศุภนิมิตกล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สาวไทยต่างแดนใจบุญสั่งซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน พร้อมเงินทุนช่วยเหลือหนูน้อยสองพี่น้อง

พล.ต.ทวีศักดิ์ วงศ์ทวีทรัพย์ ผู้บัญชาการกองพลพัฒนาที่ 3 ค่ายสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ได้รับการประสานจากสาวไทยที่อยู่ประเทศญี่ปุ่น โดยเปิดเผยชื่อเล่นว่า "นก" อยากขอมีส่วนร่วมในช่วยเหลือ ด.ญ.ธัญรัตน์ แคล้วคล่อง อายุ 14 ปี