'มหิดล' ระดมทุน 1 พันล้าน ใช้นวัตกรรม mRNA ทำ 'โรงงานยามีชีวิต'รักษามะเร็ง

"สิทธิบัตร Circular  mRNA ของเรานี้ ยังเป็น ใน 5 ของโลก  เราทำแข่งกับจีน และสหรัฐอเมริกาได้  ซึ่งวิธีการนี้เป็นโฉมใหม่ของการรักษามะเร็ง ที่ทั่วโลกกำลังทำอยู่  ทั้งมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด จอห์น ฮอปส์กิน ล้วนใช้เทคนิค mRNA ในการรักษานี้ทั้งนั้น ด้วยการนำเซลล์มะเร็งตัวเองมาวิเคราะห์ เอายีนมะเร็งนั้นมาเป็นยาแล้วฉีดกลับเข้าไปใหม่ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน"

มะเร็งเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้คนเป็นอันดับหนึ่งของโลก รวมทั้งประเทศไทย ปัจจุบันมียารักษามะเร็ง และนวัตกรรมใหม่ๆในการรักษามะเร็ง แต่ราคายาและการรักษารูปแบบใหม่นี้ มีราคาแพงลิบลิ่ว ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมาก ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพนี้ได้


นี่คือที่มาของแนวคิดของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ต้องการทำโรงงานยาที่มีชีวิต หรือ MU-Bio Plant สร้างยาจากเซลล์ที่มีชีวิต (Living Drug) เป็นกลุ่มยา ATMP แห่งแรก เพื่อรักษาโรคมะเร็ง และยังหวังขยายผลสู่การมียารักษามะเร็งในราคาไม่แพงเกินไปในภูมิภาคอาเซียน

ในงาน “Human Interaction for Systemetic Innovation” ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง  มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งในงานนี้มีการรวมตัวของนวัตกรระดับโลก กูรูด้านบริหารจัดการ  และนัก Design Thinking ชั้นนำของโลก Prof. Steven Eppinger, Massachusetts Institute of Technology, Sloan School of Management มาเปิดมุมมองและ สร้างแรงบันดาลใจในด้านทักษะกระบวนการคิดและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ Systematic Innovation through Human-Centered Designและนักวิจัยด้านการแพทย์ มาแสดงวิสัยทัศน์ เพื่อพลิกโฉมการแพทย์ไทย จากกระบวนการคิด Systematic Framework  

ที่สำคัญงานนี้  ยังเป็นการ Kickoff "โครงการระดมทุนเพื่อการรักษาโรคมะเร็งด้วยการใช้เซลล์แทนเคมีบำบัด ของ"   กองทุนมูลนิธิมหิดลเพื่อความยั่งยืน "

Prof. Steven Eppinger นักสร้างแรงบันดาลใจระดับโลก

 ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการมูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดลในพระราชูปถัมภ์ มองว่า  แม้มหาวิทยาลัยมหิดลจะมีความเข้มแข็งอย่างมาก ในด้านงานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ ใช้ความเชี่ยวชาญที่ครบถ้วนในสหสาขาวิชาสร้างกลไก ในการเชื่อมโยงและกำหนดทิศทางประสานความร่วมมือเข้ามาช่วยขับเคลื่อนและร่วมพัฒนาประเทศ แต่การจะสร้าง Innovation ต้องเป็นไปอย่าง Systematic เพื่อก่อให้เกิดการต่อยอดและนำไปใช้ได้จริง เกิดโซลูชันที่หลากหลาย ตอบสนองความต้องการของสังคม ไปสู่ผลสำเร็จใน Real World Impact  คือ นอกจากจะพัฒนา ด้วยระบบการให้บริการงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่แล้ว ยังมีเรื่องงานวิจัยยาและการรักษาที่เป็นความหวังของผู้ป่วย งาน Human Interaction for Systematic Innovation จึงเป็นโครงการคิกออฟการระดมทุน เพื่อการรักษาโรคมะเร็งด้วยการใช้เซลล์แทนเคมีบำบัด ให้มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถทำโรงงานยาแบบ Cell and Gene Therapy อันจะเป็น Game Changer ของการรักษามะเร็ง ให้คนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาโรค ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคภัยอันดับ 1 ของไทย ด้วยนวัตกรรมอันทันสมัยในราคาที่ต่ำลง

ในงานยังมีการเสวนาสำคัญ ในหัวข้อ ‘Revolutionizing Thai Healthcare Through Innovation: นวัตกรรมพลิกอนาคตวงการแพทย์ไทย’ ในการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการทดสอบการวิจัยผลิตภัณฑ์ยาในการรักษาโรคมะเร็งด้วยการใช้เซลล์บำบัดแทนเคมีบำบัด และการสร้างโอกาสในการรักษามะเร็งและโรคร้ายแรงอื่นๆ ในอนาคต  

รศ. ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์


รศ. ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งเน้นการต่อยอดการศึกษาและวิจัยไปสู่ผลสำเร็จใน Real world impact ในด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health science) และการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแบบองค์รวม  (Holistic wellbeing) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันเรื่องงานวิจัยยาจำนวนมาก เพื่อยกระดับการรักษาและดูแลสุขภาพ แต่ยังมีข้อจำกัดในการนำเข้าสู่ช่วง Clinical Trial ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะสามารถคิดค้นผลิตยา เป็นของไทยเอง เพราะการวิจัยทางคลินิก ต้องอาศัยความพร้อม และงบประมาณจำนวนมาก ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลมีแผนงาน ทำโรงงานยาที่มีชีวิต หรือ MU-Bio Plant โดยสร้างยาจากเซลล์ที่มีชีวิต (Living Drug) เป็นกลุ่มยา ATMP โดยหวังว่าจะเป็นโรงงานแรกของไทยที่ผลิตยาที่มีชีวิต เพื่อจะนำมารักษาโรคมะเร็งที่มีนวัตกรรมอันทันสมัยให้กับคนไทย


สำหรับโรงงานผลิตยามีชีวิต เพื่อรักษาโรคมะเร็งขึ้น ด้วยการใช้เซลล์แทนเคมีบำบัด ฯลฯยังขาดเงินทุน โดย Mahidol  University Foundation  หรือ "มูลนิธิมหิดลเพื่อความยั่งยืน" ภายใต้ มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีความตั้งใจระดมทุนจำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อให้มีโรงงานยามีชีวิตเกิดขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย  ซึ่งนอกจากพัฒนาโรงงานยามีชีวิตแล้ว การดำเนินงานของกองทุนฯ ยังมีจุดประสงค์เพื่อ สนับสนุนและต่อยอดงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และสารารณสุขอื่นๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยและสังคมโลกอีกด้วย

ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง



ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มีข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ  และกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าประเทศไทยใช้งบประมาณรักษาโรคมะเร็งปีละไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้คิดเป็นค่ายาหลายหมื่นล้านบาท เนื่องจากประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตยารักษามะเร็งได้เอง ต้องนำเข้าทั้งหมด  เพราะฉะนั้น คนเป็นมะเร็งจึงรักษาด้วยการผ่าตัด ใช้ยาเคมีบำบัด  ฉายแสง  ทั้งที่ในต่างระเทศมีนวัตกรรมการรักษามะเร็งแบบใหม่ ที่เรียกว่าเป็นการใช้ยีน และเป็นการให้ยาแบบมุ่งเป้า แต่ยาพวกนี้แต่ละตัวมีราคาแพงมาก  ก็เลยเป็นpain point ทำให้ทางมหาวิทยาลัยมหิดล มีความคิดผลิตยารักษามะเร็งที่เป็นนวัตกรรมใหม่นี้เอง ซึ่งถือว่าเป็นช่องทางให้ประเทศไทยพลิกนวัตกรรม ให้เป็นของตัวเองและสามารถขายทั่วโลกได้ ในราคาที่ถูกกว่าต่างประเทศ

สำหรับนวัตกรรมการรักษามะเร็งแบบใหม่ ศ.นพ.สุรเดช กล่าวว่า เป็นการใช้เซลล์และยีนบำบัด เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันเม็ดเลือดขาว ซึ่งเมื่อ10ปีก่อน มหิดลได้คิดการรักษาที่เรียกว่า CAR T Cell เป็นแห่งแรกของไทยวิธีการคือ การตัดต่อพันธุกรรมเม็ดเลือดขาวให้เป็นแชมเปี้ยนแล้วฉีดกลับเช้าไปในร่างกายผู้ป่วย เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2550 ปัจจุบันทำการรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายหมดความหวังไปแล้ว 28 ราย และสามารถชุบชีวิตไปได้ 70-80%


ศ.นพ.สุรเดช กล่าวอีกว่า นอกเหนือจาก CAR T- Cell แล้ว ล้าสุด มหิดล ยังคิดนวัตกรรมใหม่ วัคซีนที่รักษามะเร็งที่เรียกว่า Circular  mRNA for Cancer Immunotherapy หรือเป็นการใช้ยาแบบมุงเป้า เฉพาะบุคคล ในการทำลายเซลล์มะเร็ง  โดยยาหรือที่เรียกว่าวัคซีนนี้ จะได้จากการนำจีโนม ก้อนมะเร็งของคนไข้รายนั้นมาวิเคราะห์ และเลือกเอาส่วนไหนมาทำเป็นวัคซีนในการรักษา สามารถรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้แล้ว โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดล ได้จดสิทธิบัตรCircular  mRNA นี้แล้ว

"สิทธิบัตร Circular  mRNA ของเรานี้ ยังเป็น ใน 5 ของโลก  เราทำแข่งกับจีน และสหรัฐอเมริกาได้  ซึ่งวิธีการนี้เป็นโฉมใหม่ของการรักษามะเร็ง ที่ทั่วโลกกำลังทำอยู่  ทั้งมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด จอห์น ฮอปส์กิน ล้วนใช้เทคนิค mRNA ในการรักษานี้ทั้งนั้น ด้วยการนำเซลล์มะเร็งตัวเองมาวิเคราะห์ เอายีนมะเร็งนั้นมาเป็นยาแล้วฉีดกลับเข้าไปใหม่ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน"ศ.นพ.สุรเดชกล่าว

ศ.นพ.สุรเดช กล่าวอีกว่า ในต่างประเทศยารักษามะเร็ง ด้วยยีนบำบัดแพงมาก สหรัฐอเมริกาใช้เป็นที่แรก ของบริษัทโนวาร์ตีส ขาย 1ช็อต  ซึ่งการรักษาไม่สามารถใช้เพียงช็อตเดียวได้ ค่ายาคิดเป็นเงินไทย 16  ล้านบาท หรือ 475,000 เหรียญต่อการรักษาโดยรวม บริษัทสปาร์เคิล รักษาด้วยยีนบำบัดราคา 850,000 เหรียญ อีกบริษัทเป็นการรักษาเด็กแรกเกิดมีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรงเนื่องจากเซลล์ประสาทตาย เขาขาย2.1ล้านเหรียญ  และการรักษาด้วย mRNA รักษามะเร็ง เขาขาย 2.8  ล้านเหรียญ  ถ้าเราไม่ทำ ก็คงไม่สามารถเข้าถึงยารักษาได้ เราจึงอยากทำให้เกิดขึ้นจริง แล้วช่วยเหลือประเทศชาติ โดยเราสามารถผลิตยาแบบมุ่งเป้่า จำเพาะบุคคลได้เองแล้ว ในต้นทุนที่ถูกลงกว่า 10 เท่า

"อย่างโรคธาลัสซีเมียอาเซียนเป็นแหล่งโค ถ้าเราทำได้ก็จะช่วยประเทศในภูมิภาคนี้  โลกทั้งโลกควรต้องไปด้วยกัน ยามะเร็งแพงมาก แม้แต่โรงพยาบาลในสหรัฐ หรือในอียู ก็บ่นว่าบริษัทพวกนี้ขายของแพง แพงแบบนี้ไม่ช่วยชาวโลกเลย เราจึงอยากเป็นตัวตั้งต้น ช่วยทั้งคนไทยและชาวโลก"ศ.นพ.สุรเดช กล่าว

นอกจากการผลิตยา mRNA รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือ มะเร็งโรคเลือดมัยอิโลมา แล้ว โรงงานสร้างยามีชีวิต MU-Bio Plant ยังมีเป้าหมายที่จะผลิตยามะเร็งเต้านม มะเร็งปอด โรคธาลัสซีเมีย โรค SLEหรือโรคเรื้อรังไม่ติดต่อที่เรียกว่า NCD ในอนาคต ประเทศ   ซึ่งขณะนี้ เรามีโรงงานผลิตยามีชีวิตในมหิดลแล้ว โรงงานแห่งนี้ไมได้แค่ผลิตยารักษามะเร็งเท่านั้น แต่เราเปิดกว้างที่จะศึกษาวิจัยโรคอื่นๆ  เราเปิดรับการทำงานร่วมกับสถาบันต่างๆ  เพราะการจะก้าวไปรักษาโรคอื่นๆ จะต้องมีงานวิจัยรักษาแต่ละโรคจะต้องมีงานวิจัยมารองรับ  

ในแง่มุมการระดมทุนให้ได้อย่างน้อย 1พันล้านบาท   รศ. ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ กล่าวเสริมว่า  ไม่ใช่เพื่อการผลิตยา มีชีวิต หรือวัคซีนรักษามะเร็งเท่านั้น  แต่สิ่งที่สำคัญมากๆ ก็คือ Process การทำวิจัย ที่จะนำไปสู่การทดลอง  ซึ่งการทำวิจัยที่ต้องมีความหลากหลายและมีปริมาณที่มากพอ  เพราะมีความเชื่อมโยงกับการรักษาโรคมะเร็งอื่นๆ  แต่การทำวิจัยนี้เป็นคอขวดของประเทศ   หากได้รับทุนจากรัฐเพราะติดปัญหาตรงที่งานวิจัยของรัฐจะมีกำหนดเวลาและมีผลสำเร็จของงาน แต่ในโลกที่เป็นจริงการวิจัย  งานวิจัยที่นักวิจัยทำ บางครั้งล้มเหลว กว่าจะสำเร็จได้ ต้องผ่านความล้มเหลวหลายครั้ง  จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องมีการระดมทุนเปิดรับเงินบริจาค เพื่อมีเงินให้นักวิจัยสร้างนวัตกรรม

"โรงงานยามีชีวิตนี้ เราอาจจะเริ่มจากโรงงานขนาดเล็กหรือขนาดกลางก่อนที่จะไปเป็นโรงงานขนาดใหญ่  แต่การ Scale up ไปเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ต้องมีปริมาณงานวิจัยที่มากพอ  มีโครงสร้่างพื้นฐาน มีอุปกรณ์ขั้นพื้นฐาน มีแล็ป  ที่เป็นมาตรฐานสากล โดยเราจะใช้การศึกษาจีโนมิกที่เรามีอยู่แล้ว เป็นฐานทำให้เกิดงานวิจัยระดับ Deep Tech "

รศ. ดร.ปฐมพล วงศ์ตระกูลเกตุ

รศ. ดร.ปฐมพล วงศ์ตระกูลเกตุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยโครงการ Circular  mRNA for Cancer Immunotherapy กล่าวว่า ที่มาของ Circular  mRNA เกิดจากในช่วงการระบาดโควิด 19 มหาวิทยาลัยมหิดล มีการวิจัยเรื่องmRNA แต่ผลจากการวิจัยครั้งนั้น ได้เป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาต้นแบบวัคซีนรักษามะเร็งโดยใช้ mRNA  ด้านการวิจัยได้ศึกษาต้นแบบถึง 50 ต้นแบบ กว่าจะได้ต้นแบบที่ประสบผลสำเร็จ  1ต้นแบบ  นอกจากนี้ แพลตฟอร์ม Circular  mRNA ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการป้องกันและรักษาโรคต่างๆ 4ด้าน  ได้แก่ ผลิตวัคซีนในการป้องกันโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ การรักษามะเร็งระดับกระตุ้นภูมิคุ้มกัน  การรักษาโรคชราและภาวะเสื่อมของเนื้อเยื่อและอวัยวะ และสุดท้ายโรคผิดปกติทางพันธุกรรม

ด้านรศ.นพ.สุรเดช กล่าวปิดท้ายว่า การมีCircular  mRNA นี้ จะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนรับกับโรคอุบัติใหม่ ไม่ว่าโรคอะไรก็ตาม ได้ภายใน  100 วัน 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ไอซ์-โอม-เล้ง' รวมพลังช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาส เนื่องในวันมหิดล

แฟนๆห้ามพลาด ไอซ์-ศรัณยู วินัยพานิช ศิลปินจีเอ็มเอ็ม มิวสิค โอม-ภวัต จิตต์สว่างดี และ เล้ง-ธนพล อู่สินทรัพย์ นักแสดงจีเอ็มเอ็มทีวี ชวนมาร่วมทำบุญ ในงานแถลงข่าว 24 กันยายน “วันมหิดล” ศิลปินรวมใจช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาส รพ.ศิริราช