การทำงานในยุคปัจจุบันกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมีปัจจัยสำคัญคือความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบอัตโนมัติ (Automation) ที่เข้ามามีบทบาทในหลากหลายอุตสาหกรรม นอกจากนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคและความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ยังส่งผลให้รูปแบบการทำงานหลายประเภทลดบทบาทลง ขณะเดียวกันก็มีการสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ที่ต้องการทักษะเฉพาะทางและความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงนี้ถือเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำคัญของคนทำงาน การพัฒนาทักษะใหม่ๆ และการเรียนรู้ตลอดชีวิตกลายเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้สามารถปรับตัวและตอบสนองต่อความต้องการในโลกอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ World Economic Forum จัดทำข้อมูลรายงาน “Future of Jobs 2025” ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเป็นตัวแทนหนึ่งเดียวในประเทศไทย ในการเสนอแนวทางเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในระหว่างปี พ.ศ. 2568–2573 โดยอ้างอิงจากการสำรวจกว่า 1,000 บริษัท ครอบคลุมพนักงาน 14 ล้านคน ใน 22 อุตสาหกรรม จาก 55 ประเทศทั่วโลก
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในปี 2025 จาก 5 ปัจจัยหลัก ที่แรงงานต้องปรับตัว ได้แก่ 1.Technological Change 2.Green Transition 3.Economic Uncertainty 4.Demographic Shift และ 5.Geoeconomics Fragmentation ซึ่งทั้ง 5 ปัจจัยดังกล่าวเมื่อนำมาเปรียบเทียบในระดับ Southeast Asia หรือ Global มีการจัดอันดับเช่นเดียวกับในประเทศไทย สะท้อนให้เห็นว่าการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรมยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรม เทคโนโลยี หรือ เอไอ ที่เข้ามาในวงจรการทำงานเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน ทำให้มีการคาดการณ์ว่างานกว่า 92 ล้านตำแหน่ง จะถูกแทนที่ด้วยงานใหม่กว่า 170 ล้านตำแหน่ง ส่งผลให้การเติบโตของการจ้างงานเพิ่มขึ้น 7% ซึ่งแรงงานต้องรองรับงานใหม่ที่จะเกิดขึ้น
อธิการบดี จุฬาฯ กล่าวต่อว่า ดังนั้นงานที่ยังคงมีอยู่หรืองานใหม่ที่จะเกิดขึ้นจะรุ่งหรือร่วง โดยในอนาคตท็อป 5 งานที่เป็นดาวรุ่ง ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data, วิศวกรด้าน Fintech, ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และ Machine Learning, นักพัฒนาซอฟแวร์และแอปพลิเคชั่น, ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความปลอดภัย ส่วนท็อป 5 ดาวร่วง ได้แก่ พนักงานไปรษณีย์, พนักงานคีย์ข้อมูล, พนักงานธนาคาร, พนักงานแคชเชียร์และจำหน่ายตั๋ว, ผู้ช่วยด้านงานธุรการและเลขานุการบริหาร ซึ่งจริงๆงานเหล่านี้ไม่ได้หายไปเพียงแต่ถูกที่ทำรานฟอร์มด้วยดิจิทัลและเอไอ ดังนั้นหากไม่อยากให้งานหายไปหรือถูกทรานฟอร์มจะต้องมีการพัฒนาวิวัฒนาการของทักษะ(Skill Evolution)
อธิการบดี จุฬาฯ แสดงความเห็นว่า หากวิเคราะห์ทักษะในปัจจุบันที่มี คือ ทักษะในเชิงวิเคราะห์ ทักษะการยืดหยุ่นและปรับตัว ทักษะของความเป็นผู้นำ และทักษะของการโน้มน้าว แต่ทักษะใหม่ๆที่ควรจะต้องมี คือ ทักษะเอไอ ทักษะด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ทักษะความคิดเชิงสร้างสรรค์ และทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนั้นในปี 2030 คาดว่าพนักงานกว่า 40% จะถูกทรานฟอร์ม อีก 59% ของพนักงานจะต้องเรียนรู้ทักษะต่างๆใหม่ และ 63% นายจ้างมองว่าช่องว่างด้านทักษะเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ต่อการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ
เมื่อนำมาเปรียบเทียบในระดับโลก อธิการบดี จุฬาฯ กล่าวว่า 10 ทักษะที่จำเป็นต่องานในอนาคตของประเทศไทย ได้แก่ 1.ทักษะด้าน Al และ Big Data 2.ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ 3.ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์ 4.ทักษะด้านเครือข่าย และความปลอดภัยทางข้อมูล 5.มีความเป็นผู้นำ และสร้างอิทธิพลต่อสังคมได้ 6.ปรับตัวไว ทำงานอย่างยืดหยุ่น และคล่องตัว 7.มีความเห็นอกเห็นใจ และมีทักษะในการรับฟัง 8.มีความเข้าใจตนเอง และมีแรงจูงใจในการทำงาน 9.ทักษะด้านการบริหารจัดการคนเก่งในองค์กร และ10.มีความช่างสงสัย ใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต โดยทักษะข้อ 4, 7 และ 8 เป็นทักษะที่เข้ามาใหม่ที่พนักงานต้องมี โดยทั้ง10 ทักษะนี้ยังคงเป็นทักษะที่จำเป็นต่องานในทั่วโลกด้วย
ด้านกลยุทธ์ที่จะผลักดันแรงงานได้ อธิการบดี จุฬาฯ มองว่าต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลง 4 ข้อสำหรับประเทศไทย ได้แก่ 1. สร้างการเปลี่ยนแปลง แบบ Holistic Skill Change ยกเครื่องการ upskill ของบุคลากรในมิติไม่ใช่ทักษะใดทักษะหนึ่งเท่านั้น 2. สร้างองค์กร ให้เป็น Future-Ready Organization มีระบบการพัฒนาทักษะอนาคตของบุคลากร 3. Human Replacement งานที่ซ้ำชากควรเลิกใช้คนและทดแทนด้วยระบบ Automation 4. Enhancing Dynamic Work Role มีการส่งเสริมให้ไม่ยึดติดกับบทบาทการทำงานในแบบเดิมๆ แต่มีการปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา
“จากรายงานจะพบว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยังคงเป็นดาวเด่นมาแรงของตลาดแรงงานในอนาคต แต่อาชีพที่เกี่ยวข้องกับเอไอ จะต้องอาศัยการพัฒนาทักษะใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง หลายอาชีพอาจถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี ทำให้การเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ และทักษะที่ซับซ้อน เช่น การคิดวิเคราะห์ ความเข้าใจมนุษย์ และความคิดสร้างสรรค์ กลายเป็นสิ่งจำเป็น โดยการพัฒนานี้จะต้องครอบคลุมหลากหลายมิติ ไม่จำกัดแค่ด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งมหาวิทยาลัยในปัจจุบันเองก็ต้องปรับตัว เพื่อเตรียมให้นักศึกษามีความเชี่ยวชาญในศาสตร์หลากหลายและสามารถนำมาปรับใช้ร่วมกันได้อย่างลงตัว เนื่องจาก AI มีความซับซ้อนและแตกสาขาย่อยในหลายด้าน การพัฒนานักศึกษาให้สามารถตอบโจทย์ตลาดแรงงานจึงต้องมุ่งเน้นไปที่ปัญญาที่ไม่ต้องประดิษฐ์ หรือความสามารถเฉพาะตัวที่ AI ไม่อาจเลียนแบบได้”อธิการบดี จุฬาฯ กล่าว
อธิการบดี จุฬาฯ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม 50% ของธุรกิจทั่วโลกตื่นตัวกับเทคโนโลยี AI แต่ประเทศไทยยังเผชิญความท้าทายสำคัญคือการสร้าง Ecosystem ที่เหมาะสมเพื่อรองรับการใช้งาน AI จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงตั้งเป้าก้าวสู่การเป็น The University of AI โดยเน้นสร้างบุคลากรพันธุ์ใหม่ หรือ Future Human ที่ไม่เพียงแต่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี AI แต่ยังมีทักษะสำคัญ เช่น Instinctual Intelligence (II) หรือปัญญาสัญชาตญาณ ซึ่ง AI ไม่สามารถสร้างได้ บุคลากรพันธุ์ใหม่จึงต้องมีทั้งสมองที่ชาญฉลาดและหัวใจที่ดีงาม เพื่อใช้เทคโนโลยีเป็นพลังที่สร้างคุณค่าให้แก่ตนเองและสังคม พร้อมตอบสนองต่อความต้องการของธุรกิจและความหลากหลายของตลาดแรงงานในอนาคต
ทั้งนี้ได้มีการคาดการณ์ปัจจัยที่มีผลต่อตลาดแรงงานในปี 2030 ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี AI หุ่นยนต์ และนวัตกรรมด้านพลังงานเป็นปัจจัยหลักที่เปลี่ยนแปลงบทบาทงานและทักษะ, การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระตุ้นความต้องการวิศวกรสิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียน, ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเป็นความท้าทายสำคัญ, การเปลี่ยนแปลงด้านประชากร ประชากรสูงอายุในประเทศรายได้สูงและแรงงานขยายตัวในประเทศรายได้ต่ำปรับเปลี่ยนตลาดแรงงาน และการแบ่งแยกทางภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ ข้อจำกัดทางการค้าและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลต่อรูปแบบธุรกิจ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตือนภัยคนใช้รถ จับ 2 โจรแดนมังกร ตระเวนลักทรัพย์ตามลานจอด
พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.กัมปนาท อรุณคีรีโรจน์ ผบก.น.7
“Night Museum at Chula” สัมผัสเสน่ห์แห่งพิพิธภัณฑ์จุฬาฯ ยามค่ำคืน
จุฬาฯ เปิดพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ให้ชมยามค่ำคืนเป็นพิเศษในงาน “Night Museum at Chula” 13 – 15 ธ.ค.นี้ 16.00 – 22.00
จุฬาฯ ปักธงยุทธศาสตร์ปี 68 ดันสยาม-บรรทัดทอง สู่พื้นที่สร้างโอกาสให้คนไทยทุกคน
ถ้าใครมีโอกาสแวะมาเดิน Siam Square ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ อาจจะแปลกใจ ที่สยามสแควร์ไม่ใช่เป็นเพียงพื้นที่สำหรับนักช็อป หรือวัยรุ่นที่มาเปิดหมวกร้องเพลงเท่านั้น
จุฬาฯ จับมือกรม Climate Change และเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน เปิดตัวหลักสูตร “TOP Green” หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้าน Sustainability
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ UN Global Compact Network Thailand