จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกที่มีอย่างต่อเนื่อง องค์การเภสัชกรรมเตรียมแผนผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนก ในระดับอุตสาหกรรม 100,000 – 400,000 โดส/ปี พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว องค์การเภสัชกรรมจึงได้รับมอบหมายจาก นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำเนินการเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของโรคดังกล่าว โดยจัดทำแผนขยายกำลังการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ (H5N2) ชนิดเชื้อเป็น (Fluvac H5) ณ โรงงานวัคซีนและชีววัตถุ ซึ่งเป็นโรงงานที่ได้มาตรฐานการผลิต GMP (Good Manufacturing Practice) และมีความสามารถในการผลิตวัคซีนในระดับอุตสาหกรรมจากเดิมที่องค์การเภสัชกรรมเคยได้รับใบอนุญาตให้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนก สายพันธุ์ (H5N2) ชนิดเชื้อเป็น (Fluvac H5) เพื่อรองรับการระบาด (Emergency Use Authorization) ณ โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (Pilot plant) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2558
โดยองค์การเภสัชกรรมมีแผนจะขยายกำลังการผลิต เพื่อขอรับใบอนุญาตในระดับอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาการผลิตวัคซีนให้สอดคล้องกับมาตรฐานปัจจุบัน และจะดำเนินการผลิตวัคซีนจำนวน 100,000 – 400,000 โดส/ปี เพื่อให้ได้ข้อมูลประกอบการยื่นขอทะเบียนตำรับ (Rolling submission) สำหรับการผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ภายในปี พ.ศ.2568 ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการผลิตในระดับอุตสาหกรรมเพื่อเป็นการสร้างความมั่นคง ด้านวัคซีนของประเทศในการรองรับการระบาดของโรคไข้หวัดนกในสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไป
จากสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนก (Avian influenza, AI) สายพันธุ์ A (H5) เกิดจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ (Influenza) ในสัตว์ปีก และสามารถแพร่จากสัตว์ปีกไปยังสัตว์เลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงสามารถแพร่สู่คนและก่อให้เกิดโรครุนแรงในคนได้ โดยสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนก (Avian influenza, AI) สายพันธุ์ A (H5) ในปัจจุบันได้มีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลสถิติจากองค์การอนามัยโลก (WHO; World Health Organization) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 – พ.ศ.2567 พบว่ามีผู้ป่วยสะสม 889 ราย และเสียชีวิต 463 ราย จาก 23 ประเทศทั่วโลก โดยยังไม่มีรายงานยืนยันการแพร่จากคนสู่คน
โดยสถิติผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสะสมจากโรคไข้หวัดนก (Avian influenza, AI) สายพันธุ์ A (H5N1) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 – พ.ศ.2567 ในประเทศไทย พบว่า มีผู้ติดเชื้อ จำนวน 25 คน และเสียชีวิต จำนวน 17 คน ส่วนสถิติของผู้ติดเชื้อทั่วโลกในช่วงปี พ.ศ. 2567 พบว่าในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีการระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์ A (H5N1) ในกลุ่มเดียวกัน (Clade: 2.3.4.4b) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อจากฟาร์มโคนม ฟาร์มสุกร และในฟาร์มกลุ่มสัตว์ปีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา มีรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อ จำนวน 66 คน ซึ่งส่วนมากเป็นผู้ที่ทำงานในฟาร์มโคนม โดยไม่มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดนก H5N1 ในกลุ่ม (Clade) นี้
อย่างไรก็ตามในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา และเวียดนาม ยังคงมีการรายงานการติดเชื้อและเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกัมพูชา ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมตลอดทั้งปี 2567 จำนวน 3 ราย และเสียชีวิต 1 ราย ส่วนในประเทศเวียดนาม มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต 1 ราย โดยการระบาดของโรคดังกล่าว ยังไม่พบการระบาดในประเทศไทย ซึ่งในประเทศไทยยังคงมีมาตรการการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอย่างต่อเนื่องจากกรมปศุสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพรรณพืช รวมถึงกรมควบคุมโรค โดยสถานการณ์ในประเทศยังไม่พบผู้ป่วยผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 (ค.ศ.2006) เป็นต้นมา โดยจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนก (Avian influenza) สายพันธุ์ A (H5N1) ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน พบว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2567 ในประเทศกัมพูชา พบจำนวนผู้ติดเชื้อ 2 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต วันที่ 2 เม.ย.2567 ประเทศเวียดนาม พบจำนวนผู้ติดเชื้อ 1 ราย จำนวนผู้เสียชีวิต 1 ราย และวันที่ 2 ก.ย.2567 ประเทศกัมพูชา พบจำนวนผู้ติดเชื้อ 1 ราย จำนวนผู้เสียชีวิต 1 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คู่มือฉบับเร่งด่วนที่เจ้าของควรรู้ 'ไข้หวัดนก' ในแมว-สุนัข
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "31 รัฐในสหรัฐ เผชิญไข้หวัดนกในแมวและสุนัข